xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ “ไม่มีใครอยากเห็นอุตสาหกรรมข้าวล่มสลาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กอบสุข เอี่ยมสุรีย์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับโครงการรับจำนำข้าว ที่มีตัวเลขออกมาว่าล่าสุดรัฐบาลขาดทุนไปแล้วกว่า 2.6 แสนล้าน ซึ่งทางด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลต่างพากันปฏิเสธข่าวจ้าละหวั่น แต่ขณะเดียวกันก็ได้แต่อึกอัก ตอบไม่ได้ว่าขาดทุนเท่าไหร่ ? และจะมีแนวทางแก้ไขต่อความเสียหายจำนวนมหาศาลที่เกิดจากโครงการดังกล่าวอย่างไร ?

ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมิใช่เฉพาะแค่ตัวงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชนเท่านั้น ในส่วนของอุตสาหกรรมและการส่งออกข้าวก็กำลังเข้าสู่ภาวะล่มสลาย “กอบสุข เอี่ยมสุรีย์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เป็นผู้หนึ่งซึ่งออกมาสะท้อนถึงต้นตอของปัญหา ตลอดจนเสนอแนะแนวทางแก้ไขไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

คิดว่าตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันน่าจะอยู่ที่เท่าไหร่

คือทางสมาคมฯเองไม่เคยคำนวณนะ แต่อาจจะมีกรรมการบางท่านที่ชี้ให้เห็นคร่าวๆว่าตัวข้าวจะมีความต่างของราคา (Mark to Market) อยู่ที่ประมาณ 30% อยู่แล้ว จึงสามารถคิดได้คร่าวๆโดยที่ยังไม่ได้เอาค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโกดัง ค่าเซอร์เวย์ มาคิด ยังไงการขาดทุนก็เป็นแสนล้านอยู่แล้ว แต่ว่าจะมากขนาดไหนเราก็ยังไม่ได้ไปสรุปคำนวณ คือรัฐบาลก็บอกว่ามียุทธศาสตร์การระบายข้าว 3-4 ข้อซึ่งยังไม่ได้เปิดเผย แต่คิดว่ามาถึงวันนี้แล้วคงไม่เป็นประโยชน์ถ้าจะคงวิธีการระบายแบบเดิม

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการรับจำนำข้าวมีการทำบัญชีอยู่แล้วว่าใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ ขาดทุนมากน้อยขนาดไหน น่าจะเป็นตัวเลขที่เปิดเผยได้ ไม่น่าจะเป็นความลับอะไร

ใช่ค่ะ ทางสมาคมฯเราก็รณรงค์มาตลอดให้เปิดเผย การซื้อการขายขอให้โปร่งใส โดยเฉพาะการขาย การระบายข้าว เราขอให้มีการประมูลอย่างโปร่งใส มีการออกทีโออาร์อย่างที่เคยทำมาในอดีต แต่ว่าพักหลังตั้งแต่สมัยรัฐบาลภูมิใจไทยก็อ้างว่าไม่ต้องการให้กระทบราคาตลาดจึงไม่ขอเปิดเผยตัวเลข ซึ่งตรงนี้เป็นดาบสองคมเพราะเมื่อไม่เปิดเผย ความไม่ยุติธรรมมันก็เกิดขึ้นได้ เพราะมันไม่มีใครรู้ว่าคนที่ได้เป็นใคร ได้ไปในราคาเท่าไหร่ อย่างรัฐบอกว่าไม่ต้องประมูลหรอก คุณอยากซื้อคุณทำเรื่องเข้ามา สมมุติเราเข้าไปซื้อในราคาหนึ่งแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราแพ้เพราะอะไร เราแพ้เท่าไหร่ รู้แต่ว่าเราไม่ได้ แต่เราไม่รู้ว่าคนที่ได้คือใคร แล้วเขาลงราคา เงื่อนไขยังไง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็น อันนี้เราก็รณรงค์มาตลอดว่าควรจะทำอย่างเปิดเผย

ส่วนที่บอกว่าการเปิดเผยตัวเลขจะทำให้ราคาผันผวนนั้นเราไม่เถียงว่าการประมูลที่ทำนานๆครั้ง และทำในล็อตใหญ่ๆ จะส่งผลต่อราคาในตลาด แต่ถ้าหากรัฐบาลทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ประกาศว่าจะขายข้าวเดือนละ 5 แสนตัน ขายทุกอาทิตย์ ขายทุกเดือน สม่ำเสมอ มันจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อราคาตลาด ก็เหมือนกับตลาดหุ้นที่มีข่าวออกมาสม่ำเสมอ ทุกคนก็เฉยๆ ไม่ตกใจ แต่ถ้าเราตูมเดียวออกมา หรือว่านานๆมาออกข่าวมันก็กลายเป็นปัจจัยขึ้นมา ก็เหมือนที่บอกไว้นานแล้วว่าน่าจะทยอยออกมาเป็นล็อตเล็กๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ให้ทั่วโลกเขารู้ว่าเราทำ แล้วมันจะไม่เป็นประเด็นเรื่องราคาตลาด

พอไม่มีการเปิดเผยตัวเลข คนก็สงสัยว่าจำนวนข้าวที่รับจำนำมีเท่าไหร่ แล้วข้าวที่รับจำนำมามันหายไปไหน

คือปริมาณที่เราซื้อเนี่ยมันมีแจ้งในใบประทวนอยู่แล้วในรายงานของ ธกส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) มีตัวเลขชัดเจนว่าซื้อข้าวเปลือกมากี่ล้านตัน ตอนที่สีแปรก็ตรวจสอบตัวเลขได้เพราะรัฐบาลได้กำหนดอัตราการสีแปรคงที่ สมมุติว่ารับจำนำข้าวเปลือกมาล้านตัน จะสีเป็นข้าวสารออกมาได้กี่ตัน เป็นปลายข้าวกี่ตัน มันจะออกมาตามสูตรเลย เพราะเมื่อทราบจำนวนข้าวเปลือกที่ชัดเจนเราก็สามารถคำนวณได้ว่ารัฐบาลจะมีข้าวสารในมือเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ไม่รู้คือระบายข้าวออกไปจำนวนเท่าไหร่แน่ ตรงนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์อ้างว่า กขช.(คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ) มีอำนาจ ไม่ต้องรายงานต่อสาธารณชนก็ได้ คือเขาคงรายงานกันเองแต่ไม่ได้แจ้งต่อสาธารณชน ก็ไม่รูว่าตัวเลขข้าวที่ระบายออกมามีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไม่มีตัวเลขตรงนี้มันก็ไม่มีตัวเลขสต็อกคงเหลือ

รัฐบาลก็ได้แต่บอกว่าเป็นโครงการที่ชาวนาได้ประโยชน์ แต่ไม่เคยเปิดเผยตัวเลข
คือจริงๆ เกษตรกรได้ประโยชน์แล้วก็จบขั้นตอนไปแล้วตั้งแต่เขาได้รับใบประทวนเพราะประโยชน์ของเกษตรกรเกิดขึ้นเมื่อเขาขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่รัฐบาลช่วยเหลือ คือเกวียนละ 15,000 บาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันคือการบริหารจากจุดที่รับข้าวเปลือกเข้ามา ตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นไปคือจุดที่เป็นปัญหา

แล้วการส่งออกข้าวช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตัวเลขก็เป็นปัญหาตรงที่ว่ารัฐบาลเอาตัวเลขข้าวขาวและข้าวหอมไปทำเอง ดังนั้นตัวเลขที่เราอัพเดทจึงไม่มี เรามีเฉพาะตัวเลขข้าวนึ่ง ซึ่งตัวเลขที่เราได้รับก่อนที่จะตัดตอนไปให้สำนักงานมาตรฐานนำเข้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์เป็นคนทำเนี่ย เรามีตัวเลขถึงแค่เดือน เม.ย. 2556 ซึ่งตัวเลขส่งออกของข้าวทุกชนิดก็อยู่ที่ประมาณ 2,100,000 ตัน ส่วนที่เหลือก็ยังตอบไม่ได้ว่าเท่าไหร่เพราะตอนนี้ตัวเลขเดือน พ.ค.เรายังไม่มี

แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่ให้ตัวเลขกับทางสมาคมฯในเมื่อสมาคมก็เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกข้าวอยู่แล้ว

ทางเราก็ถามไปแล้วนะคะแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ตั้งแต่ พ.ค.56 เป็นต้นมาสำนักมาตรฐานฯ เป็นผู้ตรวจสอบตัวเลขส่งออกข้าวสารขาว ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้รับตัวเลข ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขารายงานออกมาให้สาธารณชนทราบเหมือนกันว่าตัวเลขส่งออกทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ คือที่ผ่านสภาหอการค้าโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวเป็นผู้รวบรวมตัวเลข

ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการรับจำนำไป 2 ฤดูกาลผลิต และกำลังจะดำเนินการในฤดูกาลที่ 3 ทั้งๆ ที่สองฤดูกาลที่ผ่านมานั้นขาดทุนเสียหายย่อยยับ

อาจจะไม่รู้ไงคะ (หัวเราะ) อาจจะไม่ได้ปิดบัญชีเลยไม่รู้ตัวเลข แล้วตัวเลขที่ออกมาก็ยังล่าช้าอยู่ เห็นว่าเพิ่งจะได้ตัวเลขถึงแค่เดือน ม.ค.2556 คือนี่ก็เดือน มิ.ย.แล้ว แต่เพิ่งปิดบัญชีถึงแค่เดือน ม.ค. ซึ่งถ้าเป็นเอกชนเนี่ยเขาปิดบัญชีกันทุกเดือน จะไปล่าช้าอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าปิดบัญชีทุกเดือนเราก็จะรู้ตัวเร็วว่าขาดทุนมากน้อยเท่าไหร่ หรือบางทีคนปฏิบัติอาจจะรู้ว่าขาดทุนแต่อาจจะคิดไม่ถึงว่ามันจะมากถึงขนาดนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจ

มองยังไงกับปัญหาขาดทุนจำนวนมหาศาลของโครงการรับจำนำข้าว

เราก็มองอยู่เหมือนกันว่ายังไงก็ต้องเกิดปัญหาเรื่อการขาดทุนหรืองบประมาณมีไม่พอ ถึงแม้จะบอกว่าตัวเลขขาดทุนจะไม่ได้มากเท่านี้ แต่ยังไงก็ตามความยั่งยืนของโครงการมันลำบากเพราะว่าถ้าสังเกตว่าโครงการต่างๆ ของภาครัฐเขามีงบประมาณกำกับ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ปัญหาน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการรถไฟความเร็วสูง 2.2 ล้านล้าน แต่โครงการรับจำนำข้าวไม่มีการกำหนดตัวเลข อาจจะมีตัวเลข 4 แสนล้าน แต่เป็นตัวเลขของการประมาณการณ์ว่าถ้าเรารับจำนำตามตัวเลขที่เคยดำเนินการมาคงจะใช้งบเท่านี้ แต่ไม่ได้บอกว่ารับจำนำในวงเงิน 4 แสนล้านเท่านั้นนะ ครบ 4 แสนล้านไม่รับจำนำแล้วนะ มันไม่ใช่ ถ้าดูจากหลักการที่จะต้องรับจำนำทุกเม็ดหรือจำนำไม่อั้น ถ้ามันเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ก็ต้องไปหามาเพิ่ม แม้แต่รับจำรับมาแล้วขายไม่ออกค่าเช่าในเรื่องโกดัง ค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดเก็บมันก็ต้องมีอยู่แล้ว ยิ่งสต็อกข้าวเพิ่มมากขึ้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตรงนี้มันไม่สามารถหางบประมาณมารองรับได้

ดูเหมือนกระทรวงพาณิชย์จะมุ่งในเรื่องการรับจำนำข้าวอย่างเดียว แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการข้าวที่รับจำนำมา

ประเด็นที่พูดถึงกันมากคือเรื่องการระบายหรือการขายข้าวที่รับจำนำมา ซึ่งเดิมรัฐบาลก็คงจะคิดว่าจะขายได้ โดยอาจขายแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี รัฐบาลก็คงพอเข้าใจแล้วว่ามันไม่ได้ง่าย คือปัญหาที่ขายจีทูจี ตลาดโลกมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เข้าใจ รัฐซึ่งเราอยากได้เขาเป็นคู่ค้าเขาก็ไม่มีความคล่องตัวเช่นกัน เขาก็มีข้อจำกัด ถ้าเขามาซื้อข้าวไทยในราคาที่แพงกว่าข้าวของเวียดนามแล้วเขาจะตอบประชาชนของเขาว่าอย่างไร ในส่วนของผู้ส่งออกที่ผ่านมาเราก็ทำงานหนักแต่รัฐบาลอาจจะเข้าใจว่าขายของถูกๆ และขายง่ายๆ ตอนนี้รัฐบาลก็คงพอเข้าใจแล้วว่าเป็นงานที่หนักและเป็นงานที่เหนื่อย

คิดว่าโครงการรับจำนำข้าวซึ่งขาดทุนมหาศาลแต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้ารับจำนำต่อเป็นฤดูกาลที่ 3นั้น ถึงตอนนี้ยังพอมีทางแก้ไขไหม

คือไม่มีใครอยากเห็นอุตสาหกรรมข้าวล่มสลาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น คิดว่าเรายังพอผ่อนหนักเป็นเบาได้โดยทุกภาคส่วนต้องมารวมหัวกันคิดแก้ปัญหา เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ณ วันนี้อาจจะยังขาดทุนไม่ถึง 260,000 ล้าน แต่ไม่นานก็ถึงค่ะ ทางออกประการแรกคือ ควรจะมีลิมิตในการรับจำนำว่าแต่ละฤดูกาลจะรับจำนำจำนวนเท่าไร ประการที่ 2 รัฐบาลต้องบริหารจัดการไม่ให้ข้าวมีความเสื่อมหรือเสื่อมน้อยที่สุด โดยเมื่อรับซื้อมาแล้วควรเร่งระบายออก ซึ่งทางหนึ่งก็คือต้องปรับลดราคาลงมาเพราะถ้าราคาสูงเกินไป เอกชนซื้อไปแล้วไม่สามารถส่งออกได้เขาก็ไม่ซื้อ ถ้ารัฐบาลจะยอมลดราคาลงมาเพื่อเร่งระบายข้าว ลดปัญหาข้าวเน่า ข้าวเสื่อมคุณภาพ เพื่อลดปัญหาขาดทุน เราก็มานั่งคุยกันว่าผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกช่วยอะไรได้บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น