“วราเทพ” ตีขลุมจำนำข้าวสุดคุ้ม ขาดทุน 1.36 แสนล้าน ถึงกระเป๋าชาวนา 1.1 แสนล้าน ที่เหลือค่าใช้จ่ายโครงการ ยันเดินหน้าต่อ ยันไม่แต่งตัวเลขแน่เหตุโทษหนัก “ยิ่งลักษณ์” สั่ง “เหลิม” รับหน้าเสื่อตามหาข้าวหาย ครม.ยังไม่เคาะลดราคาจำนำ หลังกฤษฎีกาฯ ติงอาจอาจผิดนโยบายที่แถลงสภา
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายประสานและรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า ตนได้รายงานตัวเลขการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยยึดตัวเลขการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 ธ.ค.55 ตามรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี กระทรวงการคลัง (อนุฯปิดบัญชี) สำหรับการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และนาปรัง 2555 มีผลขาดทุนประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของ กขช.ต่อไป
นายวราเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาทนั้น เมื่อคำนวณผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากโครงการ พบว่า ราคารับจำนำ 15,000 บาทต่อตันของรัฐบาลนั้น สูงกว่าราคาตลาดซึ่งอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้เกษตรกรได้ประโยชน์ 4,000 บาทต่อตัน เมื่อคูณกับจำนวนข้าวทั้งหมดที่เข้าโครงการ 21.78 ล้านตัน จะได้ประโยชน์ราว 8.71 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์จากราคาข้าวในตลาดที่ปรับสูงขึ้น ราว 2,500 บาทต่อตัน เมื่อคูณกับข้าว 11.37 ล้านตัน ที่ไม่นำมารับจำนำ แต่ได้นำขายไปเอง ตรงนี้ประชาชนก็ได้ประโยชน์ประมาณ 2.84 หมื่นล้านบาท รวมทั้งหมดที่ประชาชนได้ประโยชน์ 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวในปีต่อๆ ไป แต่ส่วนจะปรับปรุงทบทวนหรือไม่อย่างไรต้องไปวิเคราะห์กันอีกครั้ง
“การที่โครงการยังขาดทุนอยู่นั้น ถือว่าคุ้มค่าที่จะยอมขาดทุน เพราะทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์โดยตรงและลืมตาอ้าปากได้ และต้องเข้าใจว่ารัฐบาลรับจำนำในราคาสูง ดังนั้นจึงมีส่วนต่างส่วนหนึ่งไปอยู่ที่เกษตรกร และขาดทุนจากการที่ระบายข้าวได้ราคาต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมาก ไม่ได้เสียหายทั้งหมด รวมทั้งยังมีในส่วนของค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการด้วย” นายวราเทพ ระบุ
นายวราเทพ กล่าวด้วยว่า จากปัญหาจำนวนข้าวในสต๊อกไม่ตรงกันนั้น โดยเฉพาะในส่วนของข้าวเปลือกนาปรัง 2555 ที่รายงานมาว่ายังไม่ได้รับการบันทึกราว 3 ล้านตันนั้น ที่ประชุม ครม.ได้มีเห็นชอบให้ กระทรวงพาณิชย์ โดย กขช.ดำเนินการตรวจสต๊อกข้าวที่ยังเป็นประเด็นปัญหาเรื่องจำนวนภายใน 1 เดือน เพื่อนำมาปิดบัญชี และจะทำให้ทราบผลการดำเนินงานของโครงการทั้ง 3 ระยะ โดยต่อจากนี้ไปจะให้มีการปิดบัญชีทุกไตรมาส หรือทุก 3 เดือนตามที่ กขช.เสนอด้วย ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้เห็นพ้องว่า ต่อจากนี้ไปจะใช้หลักการคิดคำนวณผลการดำเนินงาน กำไรหรือขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ตามฐานคำนวณของอนุฯปิดบัญชีตามเดิมด้วย
“ยืนยันว่าไม่สามารถตกแต่งตัวเลขได้ เอกสารบัญชีเป็นเอกสารราชการ หากมีการตกแต่งตัวเลข วันหนึ่งถูกพิสูจน์ก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษหนัก การที่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหาว่าเป็นการตกแต่งตัวเลขนั้น เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน ตอนนี้อาจมีความยุ่งยากบ้าง เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงระบบการายงานและบันทึก” นายวราเทพ ระบุ
ขณะที่ ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่ กขช.แต่งตั้ง ที่มี พล.ต.ต. ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน เข้าตรวจสอบโรงสี และโกดังกลางที่อยู่ในโครงการรับจำนำ เนื่องจากมีข้าวสารที่คาดว่าจะหายไปกว่า 3 แสนตัน และต้องการตรวจดูว่าโรงสีเข้าร่วมรับจำนำมีสต๊อกลมหรือไม่ หากพบว่าผิดจะดำเนินคดีถึงที่สุด โดยต้องรายงานให้ ครม.รับทราบภายใน 30 วัน
ร.ท.หญิง สุนิสา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กชช.ยังรายงานให้ ครม.รับทราบในการปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในปี 56/67 ให้ลดเหลือประมาณ 12,000-13,000 บาทต่อตัน ผ่านการคำนวณรูปแบบต่างๆ และการจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวไม่เกิน 25 ตันต่อครัวเรือน หรือเป็นเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย และกำหนดเป้าหมายต้องขาดทุนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ที่ประชุม ครม.สั่งให้กลับไปศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อรองรับการจำนำข้าวในปีต่อไป
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอให้ลดราคาตามโครงการรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตันเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ตามที่ กขช.เสนอ แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลรองรับ ต่อมา นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อภิปรายทันทีว่า “ท่านอย่าลืมว่าท่านได้เสนอนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งหากจะทำอย่างนั้นต้องหาอะไรเสริมให้เขา ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ คุณโดนแน่ เพราะอย่าลืมว่าคุณหาเสียงไว้อย่างนั้นและแถลงต่อสภาไว้อย่างนี้ ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจลด หรือปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ต้องทำเพื่อไม่ให้มีปัญหา” ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานในการประชุมได้รับทราบตามนั้น และสั่งการให้ กขช.ไปพิจารณามาใหม่ว่าหากลด 12,000 บาท จะมีแนวทางอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ภายใน 30 วัน
นอกจากนี้ผู้แทนจาก สศช.ได้เสนอในที่ประชุมว่า การใช้คำว่าขาดทุนนั้น เป็นวาทกรรมทางการเมือง เพราะสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยอมรับว่า โครงการประกันราคานั้นขาดทุน แล้วเหตุใดรัฐบาลจึงใช้คำพูดที่เข้าทางฝ่ายค้านด้วย ทำให้ นายวราเทพ แย้งว่า หากเปลี่ยนตอนนี้ สังคมก็จะตำหนิว่าเปลี่ยนปุบปับ และตั้งข้อสงสัยกันอีก