กขช.หักดิบชาวนา ลดราคารับจำนำทันทีเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท เริ่ม 1 ก.ค.นี้ แถมจำกัดวงเงินห้ามเกินรายละ 5 แสนบาท “บุญทรง” ปัดถังแตก แต่ต้องรับผิดชอบต่อวินัยการคลัง ยันราคาดังกล่าวเกษตรกรยังมีกำไร 40%
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) นัดพิเศษ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 มิ.ย.ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูกาลผลิตนาปรังปี 2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% จากราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป และยังจำกัดวงเงินในการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่เกินรายละ 5 แสนบาท
ทั้งนี้ กขช.ยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ส่วนการรับจำนำข้าวปีการผลิตปี 2556/57 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูล และจัดทำรายละเอียด ก่อนที่จะเสนอให้ กขช.ตัดสินใจอีกครั้ง
“การปรับลดรายละเอียดโครงการรับจำนำที่ให้เริ่มตั้งแต่นาปรังปี 2556 นี้ไม่ใช่เป็นเพราะเงินไม่พอ แต่เรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่องบประมาณในภาพรวม และต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังเพื่อให้เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลเกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งแต่ละปีได้ตั้งเป้าหมายว่ารัฐบาลจะจำกัดวงเงินภาระค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนในโครงการไม่เกินปีละ 1 แสนล้านบาท”
นายบุญทรงกล่าวว่า ราคารับจำนำที่ลดลงมาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ 8 พันกว่าบาท/ตัน ซึ่งยังถือว่าเกษตรกรมีกำไรจากต้นทุนประมาณ 40% และราคาดังกล่าวยังเหมาะสมกับราคาตลาดปัจจุบัน และราคาตลาดโลก ซึ่งจากการที่ได้มีการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรก็ไม่ขัดข้อง ส่วนใหญ่เห็นด้วย และเห็นใจรัฐบาล
ส่วนการปรับลดราคารับจำนำข้าว ยอมรับว่าจะกระทบต่อราคาข้าวในสต๊อก และราคาจำหน่ายข้าวในสต๊อกบ้าง แต่จะพยายามดำเนินการขายให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การลดราคารับจำนำดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลหรือไม่ นายบุญทรงกล่าวว่า ไม่ถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ตอนคิดนโยบายรัฐบาล ได้คิดนโยบายไว้เยอะ เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก ค่าจ้างวันละ 300 บาท และจำนำข้าวก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น และรัฐบาลก็ได้ดำเนินการตามนโยบาย แต่เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงก็ต้องปรับปรุง หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว