xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จับแหล “ปู” รู้เต็มอกจำนำข้าวเจ๊ง 2 แสนล้าน แฉทำผิดซ้ำใช้เล่ห์ปกปิดหนี้สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เกียรติ” แฉเอกสาร 3 ฉบับ จับแหล “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” รู้เต็มอกขาดทุนจำนำข้าวปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังทำ “หนูไม่รู้” พร้อมเปิดตัวเลขรายได้ชาวนาได้ต่ำกว่าราคาจำนำเกือบ 5 พันบาท ขณะเดียวกันยังส่อทำผิดระเบียบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณ เหตุ ครม.อนุมัติให้ใช้เงินไม่เกิน 5 แสนล้าน แต่กลับใช้ไปแล้ว 6.66 แสนล้านบาท ระบุหากเอาตัวเลขผลผลิตข้าวในประเทศ คูณด้วยราคาที่รับจำนำ ตัวเลขจะไม่ถึง 6 แสนล้าน แต่ที่เกินเพราะมีการทุจริตนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์จำนวนมหาศาล แต่คนไทยแบบรับภาระหนี้ จี้รัฐบาลหยุดโกหก บิดเบือน ควรทบทวนโครงการ ก่อนมูดีห์หันเครดิตประเทศ “ชวนนท์” แฉ “ครม.ปู” สั่ง ธ.ก.ส.แยกบัญชี ปกปิดหนี้สาธารณะ กระทบระบบเงินประเทศรุนแรง



นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการชี้แจงของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวที่ไม่สามารถระบุตัวเลขความเสียหายจากโครงการดังกล่าวว่า ยิ่งทำให้ประเทศไทยเสียความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม และการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่รู้ว่าโครงการนี้เสียหายเท่าไหร่นั้นถือเป็นการเล่นละคร เพราะ ครม.ทั้งคณะได้รับหนังสือของกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2555 รายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

โดยในหนังสือดังกล่าวระบุชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวเป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก ในขณะที่ยังไม่สามารถระบายข้าวได้จนส่งผลกระทบต่อความสามารถของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 และหากใช้เวลาในการระบายข้าวใน 3 ปีก็จะมีภาระบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 224,553 ล้านบาทซึ่งจะกระทบต่อการระดมทุนในตลาดเงินที่มีสภาพคล่องตึงตัว ทั้งในด้านต้นทุนการกู้เงินที่สูงขึ้นและเป็นภาระงบประมาณที่สูงขึ้นต่อไปด้วย

“ครม.จึงรู้ดีว่าในการจำนำข้าวปี 55-56 นั้นจะมีภาระขาดทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 224,553 ล้านบาท วันนี้จึงไม่ต้องทำเป็นตกใจว่าจะขาดทุนขนาดนั้นได้อย่างไร เพราะตัวเลขตามเอกสารนี้หมายความว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องระบายข้าวได้ภายใน 3 ปีด้วย จึงต้องถามว่าตั้งแต่ ตุลาคม 2555 กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เท่าไหร่ เพราะจากตัวเลขการระบายข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่ามีการระบายข้าวออกไปน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายจากการบริหารโครงการในปี 2554 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ปี 2555 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และในปี 2556 ต้องใช้อีก 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านจึงไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องรับทราบอยู่แล้วด้วย”

นายเกียรติตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จากตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังระบุว่ามีการใช้เงินในโครงการนี้ไปแล้ว 661,224 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีการใช้เงินเกินกรอบที่ ครม.กำหนดไว้ 5 แสนล้านแล้วถึง 161,224 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลต้องชี้แจงว่าบริหารกันอย่างไรจึงมีการใช้เงินเกินกว่าที่ ครม.กำหนด และขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยใช้เครื่องคิดเลขเอาจำนวนข้าวที่เป็นผลผลิตในประเทศคูณกับราคาจำนำ จะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะถึงหกแสนล้านบาท แต่ที่วงเงินสูงกว่าที่วางกรอบไว้ก็เพราะปล่อยให้มีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิในปริมาณที่สูงมาก โดยรัฐบาลล้มเหลวที่จะดูแลว่ามีข้าวไทยที่จำนำเท่าไหร่ และสวมสิทธิเท่าไหร่ แต่กำลังเอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่สูงกว่าตลาดจากนโยบายจำนำข้าว ดังนั้นนายกและครม.ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนรัฐมนตรีที่ออกมาต่อว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือมูดี้ส์ว่าไม่เป็นมืออาชีพนั้น นายเกียรติกล่าวว่า ความจริงเขาคำนวณอย่างมีมาตรฐานแล้ว และที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ บอกว่ายังมีสต๊อกข้าวอยู่จึงประเมินภาวะการขาดทุนไม่ได้นั้นยิ่งพูดยิ่งน่าอาย เพราะความจริงสามารถปิดบัญชีได้โดยที่ยังมีสินค้าค้างสต๊อกอยู่ โดยสินค้าที่เหลือก็ประเมินจากราคาตลาด บวกกับค่าเสื่อมของสินค้า ก็จะออกมาเป็นตัวเลขการขาดทุนในช่วงที่ปิดบัญชี ดังนั้นอย่ามาอ้างแบบนี้เพราะประชาชนไม่โง่ นอกจากนี้ที่อ้างว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวนั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะตัวเลขของกระทรวงเกษตรฯเองระบุชัดว่า ชาวนา ได้เงินจากการจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% เฉลี่ยอยู่ที่ 10,156 บาทต่อตันเท่านั้น ในขณะที่ราคาจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ 100% ที่รับจำนำในราคา 20,000 บาทนั้น เกษตรกรได้เพียงแค่ 15,365 บาทเท่านั้น ต้องถามว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นหายไปไหน

“วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้รัฐบาลหยุดบิดเบือนข้อมูล หยุดโกหก แล้วตั้งหลักใหม่ด้วยการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ถ้ารัฐบาลต้องการให้โครงการเดินได้ต้องปรับปรุงโครงการใหม่เพราะขณะนี้จำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก หากจะทำต่อต้องทำให้ประเทศไม่เสียหายมากขนาดนี้ ไม่ต้องมาทำประกันรายได้ แต่ต้องปรับปรุงการจำนำข้าวใหม่ เพราะวิธีนี้ประเทศเสียหายปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ต้องให้ข้อมูลกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายกฯจะนั่งเฉยไม่ได้ต้องสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลทุกฝ่าย อย่าลอยตัวเหนือปัญหา เพราะครม.ทุกคนทราบมาแต่ต้นว่า จะเสียหายปีหนึ่งกว่า 2 แสนล้านบาท และผมเชื่อว่า 3 ฤดูกาลที่รัฐบาลทำโครงการมามีการขาดทุนจากการจำนำข้าวแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท”

ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว ที่เกินวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าฝ่ายปฏิบัติคือ กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส.มีการละเมิดมติ ครม.ไปแล้ว และมติ ครม.ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ไปเปิดช่องให้ ธ.ก.ส.กู้เพิ่มเกินวงเงิน 9 หมื่นล้านบาทที่กำหนดเดิม โดยกระทรวงการคลัง ไม่ต้องค้ำประกัน ไม่ต้องรวมเป็นภาระในงบประมาณ แต่ให้แยกบัญชีออกไป รวมถึงไม่ให้รวมเป็นสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารด้วยนั้น เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ธ.ก.ส.กำลังมีปัญหาสภาพคล่อง และในที่สุดจะกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศอย่างมาก ไม่เช่นนั้นมูดี้ส์คงไม่ส่งสัญญาณเตือนมาแต่ต้น ดังนั้นหากรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงโครงการใหม่เพื่อลดความเสียหายก็จะทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือแค่ครั้งเดียวด้วย

นายเกียรติยังไม่เชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะสามารถระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ราว 17 ล้านตันได้ เพราะไม่มีหลักฐานว่าจะทำได้จริงตามที่พูด แต่หลักฐานที่ปรากฏ คือ ขายข้าวได้ต่ำกว่าราคาตลาดมาก จีทูจีที่เคยบอกว่ามีความจริงก็ไม่มี โดยตั้งแต่ต้นปี 2556 มาถึงปัจจุบัน์ส่งออกข้าวได้เพียง 1.9 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยไม่เคยตกต่ำขนาดนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกียรติได้แจกเอกสาร 3 ฉบับให้แก่สื่อมวลชน ประกอบด้วย หนังสือด่วนที่สุดของกระทรวงการคลัง เรื่องรายงานผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/2555 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ลงนามโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง มีเนื้อหาเตือนถึงความเสี่ยงจากโครงการจำนำข้าวที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ถึงปีละ 224,553 ล้านบาท และจะเป็นภาระต่องบประมาณที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องรีบระบายข้าวเพื่อมาใช้หนี้คงค้างโดยเร็ว รวมถึงให้ อ.ต.ก., อคส. และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันปิดบัญชีโครงการเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากวันสิ้นรอบการรับจำนำด้วย

เอกสารฉบับที่ 2 คือ ตารางราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ของเกษตรกรตั้งแต่ปี 2540-2556 และตารางราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 100% ของเกษตรกรตั้งแต่ปี 2540-2556ซึ่งพบว่าเกษตรกรไม่ได้เงินตามราคาที่รัฐบาลรับจำนำแต่จะมีรายได้ต่ำกว่าราคาจำนำของรัฐบาลเฉลี่ยเกือบ 5 พันบาทต่อตัน

เอกสารฉบับที่ 3 เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าการเกษตรสามชนิดคือ ข้าวนาปี 54/55 ข้าวนาปรัง 55 และ ข้าวนาปี 55/56 มันสำปะหลัง 54/55 และ 55/56 กับยางพารา โดยตัวเลขของการรับจำนำข้าว 3 ฤดูกาลจนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2556 จากตารางของ ธ.ก.ส.พบว่าใช้วงเงินรวม 591,990 ล้านบาท แต่ได้เงินชำระคืนจากการระบายข้าวเพียงแค่ 83,813 ล้านบาท คือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลดำเนินโครงการไปกว่า 7 เท่า

โดยตัวเลขจาก ธ.ก.ส.ที่มีการรับจำนำข้าวนาปี 54/55 ปริมาณ 6.95 ล้านตัน วงเงิน 118,656 ล้านบาทนั้น จนถึงวันที่ 15 พ.ค. 56 มีการชำระคืนเงินจากการระบายข้าวเพียงแค่ 38,271 ล้านบาท ส่วนข้าวนาปรังปี 55 ปริมาณ 14.7 ล้านตัน วงเงิน 218,670 ล้านบาทนั้น มีเงินชำระคืนจากการระบายข้าวเพียงแค่ 31,533 ล้านบาท ส่วนข้าวเปลือกปี 55/56 ปริมาณ 13.71 ล้านตัน วงเงิน 220,755 ล้านบาท มีการชำระคืนจากการระบายข้าวเพียงแค่ 14,009 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับจำนำข้าวสามฤดูกาล ระบายข้าวได้เป็นมูลค่าเพียง 83,813 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด 591,990 ล้านบาท

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติ ครม.วันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่อนุมัติให้ ธ.ก.ส.รับภาระในการกู้เงินมาสำรองจ่ายโครงการจำนำข้าวว่า เป็นการผลักภาระทั้งหมดให้ ธ.ก.ส. โดยเงินกู้ส่วนดังกล่าวกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันให้ นอกจากนั้นเงินกู้ดังกล่าวจะถูกแยกบัญชีออกไปเพื่อให้บันทึกนอกภาระงบประมาณ และไม่รวมในเงินทุนที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง ชัดเจนว่าเป็นการโยนภาระให้ ธ.ก.ส.กู้ และยังสั่งให้ซุกหนี้ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณเพื่อไม่ให้ปรากฏในหนี้สาธารณะ รวมทั้งไม่ให้อยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงด้วย จึงมีความชัดเจนว่าระบบการเงินของประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ซึ่งจะกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย

“ผมเชื่อว่าเมื่อมูดี้ส์เห็นมติ ครม.ดังกล่าว รวมถึงการใช้เงินกว่า 6 แสนล้านบาทที่ขัดกับมติ ครม.ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ที่ 5 แสนล้านบาท จะยิ่งไม่เชื่อถือประเทศไทยมากขึ้น และพรรคจะตรวจสอบด้วยว่าการที่เอาเงินระบายข้าวมาใช้หมุนเวียนในโครงการนั้นเป็นการทำก่อนแล้วมาออกมติ ครม.ย้อนหลังหรือไม่ และจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าว ผิดต่อ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และระเบียบ หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบประมาณหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้จะปรึกษาฝ่ายกฎหมายเพื่อนำ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯมาบังคับใช้ เพื่อยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ให้เปิดเผยตัวเลขผลผลิตการรับจำนำข้าว ปริมาณข้าวในสต๊อก การระบายข้าว ราคาที่กระทรวงพาณิชย์จำหน่าย และตัวเลขการขาดทุนของโครงการดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องลับและเป็นสิ่งที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของเงินมีสิทธิรับทราบ เพื่อที่พรรคจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น