xs
xsm
sm
md
lg

ยันจำนำข้าวเจ๊ง2แสนล.เอกชนจี้ปรับเหลือตันละหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "ยิ่งลักษณ์" ประกาศเดินหน้าจำนำข้าวต่อ ไม่สนขาดทุน ถังแตก อ้างเป็นแค่ตัวเลข โยนให้ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน แล้วจะใช้คืนให้ช่วงสิ้นปี พร้อมตั้ง "วราเทพ" รวบรวมข้อมูลชี้แจงประชาชน ด้านนายกฯสมาคมผู้ส่งออกข้าว เชื่อรัฐขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน แนะให้ทบทวน ลดราคาจำนำลงมาเหลือตันละ 1-1.1 หมื่น แฉที่ผ่านมาไม่มีการขายจีทูจี มีแต่ขายให้นายหน้าในประเทศ แล้วนายหน้าเอาไปขายต่อให้ผู้ส่งออก บางส่วนขายขาดทุนให้โรงสี แล้วเอาไปจำนำใหม่

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.กำแพงเพชร เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ที่ประชุมมีการหารือเรื่องเงินที่จะมาใช้ในโครงการจำนำข้าว หลังจากรับจำนำมา 2 ปี มีผลขาดทุนที่ยังบอกไม่ได้ว่ากี่แสนล้าน จนไม่มีเงินจะมารับจำนำต่อ ซึ่งในที่สุด ครม.ก็มีมติเห็นชอบตาม มติคณะกรรมการกลั่นกรอง เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 13/2556 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 56 ตามที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการ เสนออนุมัติกรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

1. กรณีมีความจำเป็นให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อนระหว่างรอเงินจากการระบายผลิตผล หรือเงินจากแหล่งอื่น ๆ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราว ๆ ไป โดย ธ.ก.ส. จะได้รับอัตราชดเชยต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการในอัตราเดิมตามมติครม.เมื่อวันที่ 2 ต.ค 2555 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินในกรอบวงเงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 และ 2555/56 ไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ จำนวน 410,000 ล้านบาท

2. เงินที่ได้จากการระบายผลิตผลทางการเกษตรตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 เป็นต้นไป ให้นำไปชำระคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 90,000 ล้านบาท ให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหาและค้ำประกันที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2556 โดยเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท ที่ได้รับชำระคืน สามารถนำมาใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ได้ด้วย

3. ให้กระทรวงการคลังรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ย จากการกู้ยืมเงิน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ทั้งในส่วนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ ใช้ และส่วนที่ใช้เงินทุนของธ.ก.ส.

4. ในกรณีที่กรอบปริมาณการรับจำนำภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 เกินกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้ให้กระทรวงพาณิชย์เสนอขอขยายกรอบปริมาณและกรอบวงเงินในการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่อพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้การขยายกรอบปริมาณและกรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ต้องไม่เกินกรอบปริมาณและกรอบวงเงินข้างต้น เมื่อรวมกับประมาณการกรอบปริมาณและกรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ที่ 22 ล้านตัน และ 345,000 ล้านบาท

5. ให้ธ.ก.ส.แยกการดำเนินงานโครงการออกจากการดำเนินงานปกติเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ เพื่อทราบผลกระทบการดำเนินโครงการและขอชดเชยความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น ให้ ธ.ก.ส. ไม่ต้องรวมผลการดำเนินโครงการจากเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ที่ใช้ในการคำนวณสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยเงินกองทุนของ ธ.ก.ส.

6. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์วางระบบการกำกับติดตามการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในทุกขั้นตอนโดยเฉพาะให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรและองค์การคลังสินค้าดำเนินการและควบคุมการออกใบประทวนอย่างรัดกุม รวมทั้งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตรวจสอบปริมาณและคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามใบประทวนที่ได้รับ

** "ปู"ไม่สนตัวเลขขาดทุน ลั่นเดินหน้าจำนำต่อ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชี้แจงเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ต่างกระทรวง ก็ต่างชี้แจง แทนที่จะเป็นภาพรวมเพื่อความเป็นเอกภาพ จนส่งผลทำให้ตัวเลขเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ จะพูดเพียงว่า ขายข้าวได้เท่าไร กระทรวงการคลัง บอกว่าขายข้าวได้เงินเท่าไร แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไร เมื่อขายข้าวแล้วภาพรวมจะเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงได้มอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานราชการทั้งหมด รวมกับข้อมูลที่มีออกมาจากสาธารณชน เพื่อนำมาประมวลในการนำเสนอ พร้อมกับข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

เมื่อถามว่า พอใจการชี้แจงในเวทีเสวนาจำนำข้าวสัญจร จับเข่าคุยเกษตรกรชาวนา ที่ จ.พิษณุโลก หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นงานที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องทำไป ไหนๆ ต้องไปพบกับเกษตรกร ก็น่าจะรับฟังความคิดเห็นกลับมาด้วย จะได้มีส่วนในการนำเสนอข้อมูล การปลูกพืช เพื่อให้ได้ผลผลิต และคุณภาพที่สูงขึ้นด้วย ถือว่าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมากกว่า
เมื่อถามว่า รัฐบาลยังยืนยันจะเดินหน้าต่อในโครงการรับจำนำข้าว ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยตัวนโยบายถือเป็นนโยบายที่ดี ที่จะให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น การรับจำนำข้าว เป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแรงขึ้น รัฐบาลเข้าใจข้อห่วงใยต่างๆ จึงได้ให้ทุกหน่วยงานรวบรวมข้อมูล และให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช. ) กลับไปพิจารณาต่อไปว่า การรับจำนำข้าวในวันข้างหน้า จะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ให้เป็นไปตามข้อห่วงใยทุกข้อ ในเชิงปฏิบัติ

**ไอคิวคนชี้แจงกับไอคิวคนฟังพอพอกัน

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม. แจ้งว่า ในช่วงการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่สอง ที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ภายหลังจาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ รายงานถึงการขออนุมัติงบประมาณในการรับจำนำข้าวข้าวเปลือกนาปี และนาปรังเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สอบถามนายบุญทรง ถึงวัตถุประสงค์ และสาเหตุที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอขอความเห็นชอบจากครม. ที่มีการรวมนาปี กับนาปรัง ไว้ในครั้งเดียวกัน แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ทำให้นายบุญทรง ต้องชี้แจงต่อที่ประชุม ประมาณ 10 นาที ซึ่งนายกฯ นั่งฟัง พร้อมกับแสดงสีหน้าไม่เข้าใจ ในสิ่งที่นายบุญทรงชี้แจง และพยายามซักถามหลายครั้ง แต่นายบุญทรง ไม่สามารถตอบให้เข้าใจได้ และมีสีหน้าเคร่งเครียด ทำให้บรรยากาศในที่ประชุมเครียดไปด้วย จนกระทั่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ต้องช่วยกันชี้แจง และในที่สุด นายกฯได้มอบหมายให้ นายวราเทพ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งหมด เนื่องจากเคยเป็นอดีต รมช.คลัง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะเคยรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว

** ผู้ส่งออกแนะลดราคาจำนำเหลือ 1-1.1หมื่น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข่าวไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลควรจะทบทวนโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลการผลิต 2556/57 ใหม่ โดยปรับลดเพดานราคารับจำนำจากเดิมที่ข้าวเปลือกเจ้า กำหนดราคารับจำนำไว้ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือ 1-1.1 หมื่นบาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ จากราคารับจำนำตันละ 2 หมื่นบาท เหลือ 1.6-1.7 หมื่นบาท รวมทั้งปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นจำกัดปริมาณการรับซื้อ ให้สอดคล้องกับผลผลิตที่เกษตรกรมีอยู่จริง

“การรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือฤดูกาลการผลิตปี 2554/55 และปี 2555/56 น่าจะสะท้อนความจริงให้กับรัฐบาลได้แล้วว่าเป็นราคาที่นำตลาดมาเกินไป ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งการขายข้าวไม่ออก และยังขาดทุนจำนวนมาก”นายชูเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการรับจำนำ จะช่วยแก้ไขปัญหาภาระสต็อกข้าวของรัฐบาลที่มีมากถึง 15-17 ล้านตัน และยังทำให้ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการข้าวภายในประเทศ สามารถแข่งขันซื้อข้าวจากเกษตรกรกับรัฐบาลได้ เพราะการที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำแบบนำตลาดมากเกินไป ข้าวทุกเมล็ด จะไหลเข้าสู่โครงการรับจำนำเป็นภาระการคลังให้กับรัฐบาลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

** เชื่อตัวเลขขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล.

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า วงการค้าข้าวได้ตั้งข้อสังเกตตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว 2.6 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของกระทรวงการคลังจัดทำออกมา น่าจะเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เนื่องจากกระทรวงการคลังใช้หลักเกณฑ์ในการคำนวณจากสต็อกข้าวที่รัฐบาลรับจำนำเข้ามากับปริมาณข้าวที่รัฐบาลต้องระบายออกไปในราคตลาด เช่น ต้นทุนรับจำนำ 24 บาท/กก. ราคาตลาด 10-11 บาท/กก. ก็หักส่วนต่างตรงนั้นนำมาคำนวณและคาดการณ์ออกมาเป็นตัวเลขขาดทุน ซึ่งการขาดทุน 2 แสนล้านบาท เป็นไปได้

ส่วนการที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สต็อกข้าวรัฐบาลยังจำหน่ายออกไปไม่หมด ทำให้ปิดบัญชีโครงการรับจำนำรอบปี 2554/55 และ 2555/56 ไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วควรจะปิดได้ เพราะข้าวปี 2554/55 รัฐบอกว่าได้ขายไปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 7.3 ล้านตัน บวกกับการระบายด้วยวิธีอื่นๆ ก็ไม่น่าจะมีข้าวเหลือ แต่ที่น่าสังเกต ข้าวที่จำนำมาตันละ 2.5 หมื่นบาท ขายในราคาตลาดเฉลี่ยตันละ 1.25 หมื่นบาท ขาดทุนตันละกว่า 1 หมื่นบาท ข้าวจีทูจี ที่ขายก็ขาดทุนแล้ว 7.3 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมข้าวสารในสต็อกอีก 15 ล้านตัน ถ้าขายหมดในราคานี้ ก็จะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตรงกับที่กระทรวงการคลังระบุ

อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวไม่เชื่อว่ามีการขายจีทูจีจริง เพราะข้าวถูกขายให้นายหน้าในประเทศ และถูกนำมาขายต่อให้ผู้ส่งออก เพื่อนำไปส่งออกให้ลูกค้า และบางส่วนขายให้โรงสี เพื่อนำเข้าสู่โครงการรับจำนำ เพราะข้าวจีทูจี 7.3 ล้านตัน ถ้าส่งมอบกันจริงๆ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และการได้เงินคืนก็คงไม่เร็ว แต่ที่มีเงินคืนคลังเร็วถึง 1.2 แสนล้านบาท ก็คือเงินจากการขายให้นายหน้าในประเทศ

**นายกฯชาวนาไทยประจานทุจริตจำนำข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก Press center ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สถานที่ประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 3/2556 วานนี้ (10 มิ.ย.) ว่า ได้มีการนำเอกสารเผยแพร่จากศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 4 พิษณุโลก มาวางไว้เพื่อแจกจ่ายแก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับกรณี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมให้ข้อมูลการรับจำนำข้าวกับเกษตรกรชาวนาที่พิษณุโลก ในงานเสวนาจำนำข้าวสัญจร จ.พิษณุโลก” วันที่ 9 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันให้ข้อมูลการรับจำนำข้าวบนเวทีดังกล่าว ท่ามกลางชาวนาจากพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง ที่เดินทางมาร่วมงาน

เอกสารเผยแพร่ดังกล่าวระบุด้วยว่า นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ที่เดินทางมาร่วมเวทีดังกล่าวด้วย ได้เน้นย้ำให้รัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งการที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ชัดเจน และไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขขาดทุน ถือเป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะโครงการรับจำนำข้าว ทำต่อเนื่องมา 2 ปี ตัวเลขหรือข้อมูลต่างๆ จะต้องอยู่ในหัว หรือทุกเดือนก็ต้องมีการจดบันทึก ทั้งปริมาณข้าว ราคาที่ขาย เงินที่ได้จากการขายข้าว จึงไม่ใช่เรื่องยากในการเปิดเผยข้อมูล

นายประสิทธิ์ มองว่า รัฐบาลไม่สามารถยุติโครงการรับจำนำข้าวได้ แต่ต้องหาหนทางที่ให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งแนวทางการปรับลดวงเงินรับจำนำข้าว สามารถทำได้ หากรัฐบาลเปิดเผยตัวเลขขาดทุนที่แท้จริงออกมาให้ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไร เพราะเมื่อชาวนาเห็นข้อมูลที่แท้จริง ก็เชื่อว่าชาวนาน่าจะเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องปรับลดวงเงินรับจำนำ

ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น