ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สำหรับรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล หากบริหารงานผิดพลาดสร้างความเสียหายแก่สังคมย่อมแสดงความรับผิดชอบ อันนำไปสู่การกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนและลาออกจากตำแหน่ง ส่วนรัฐบาลที่ชั่วร้ายเมื่อตนเองไร้ความสามารถ สร้างความหายนะทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคม จะไม่ยอมรับผิดชอบใดทั้งสิ้น อีกทั้งยังผลักความรับผิดชอบไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนแอและไร้อำนาจการต่อรอง
ระหว่างการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ใช้นโยบายจำนำข้าวโฆษณาหาเสียงต่อประชาชนว่า “จะรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และจะรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด” ชาวนาก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพวกเขา ส่งผลให้ชาวนาส่วนใหญ่ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น จนกระทั่งได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศสมความตั้งใจ
นโยบายจำนำข้าวถือได้ว่าเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์หลักของพรรคเพื่อไทย ที่คิดค้นและผลักดันอย่างแข็งขันโดย นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นนายเหนือหัวของพรรคเพื่อไทย ครั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอันมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้นำนโยบายจำนำข้าวไปปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ฟังเสียงการท้วงติงของนักวิชาการซึ่งวิเคราะห์และพยากรณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หากรัฐบาลนำนโยบายจำนำข้าวไปปฏิบัติจริงจะสร้างความหายนะแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างใหญ่หลวง และจะก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬารชนิดที่จะต้องบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย
แต่ทว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็หาได้ฟังคำท้วงติงแต่อย่างใด ยังคงดื้อรั้น ดันทุรัง นำนโยบายนี้ไปปฏิบัติให้ได้ เพียงแค่ไม่กี่เดือนของการปฏิบัติ ผลเสียหายจากนโยบายนี้ก็เกิดขึ้น นักวิชาการก็เตือนแล้วเตือนอีก แต่รัฐบาลก็หาได้รับฟังไม่ กลับส่งสมุนอันธพาลเสื้อแดงไปกดดันนักวิชาการถึงที่ทำงาน
ปีกว่าผ่านไป ผลเสียหายที่เกิดจากนโยบายจำนำข้าวก็เกิดขึ้น และสะสมทับถมมากขึ้นเป็นทวีคูณ ความหายนะของระบบเศรษฐกิจของประเทศคืบคลานเข้ามาอย่างชัดเจน สถาบันทางวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศต่างประสานเสียงกันชี้ให้เห็นถึงภัยดังกล่าว และแม้กระทั่งสื่อมวลชนบางส่วนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอย่างแข็งขันมาก่อน แต่ยังหลงเหลือสามัญสำนึกของความผิดและถูกอยู่บ้าง ก็จำเป็นต้องลดเสียงสนับสนุนรัฐบาลลง ด้วยจำนนต่อสภาพความเป็นจริงของความไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉลของรัฐบาล ส่วนสื่อมวลชนบางส่วนที่เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ก็ยังคงหลับหูหลับตาสนับสนุนรัฐบาลอย่างไม่รู้สึกไม่รู้สาต่อไป
ด้านรัฐบาลหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ในท้ายที่สุดก็ยอมจำนนต่อหลักฐานว่าไม่สามารถจะดื้อรันดันทุรังปฏิบัติตามการโฆษณาชวนเชื่อของตนเองตามที่หาเสียงไว้ได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจแบบกลืนน้ำลายที่บ้วนออกมาแล้วกลับคืนเข้าไป โดยการลดราคาจำนำข้าวลงเหลือตันละ 12,000 บาท และจำกัดปริมาณการจำนำข้าวจากทุกเมล็ดเหลือเพียงครอบครัวละไม่เกิน 500,000 บาท รัฐบาลอ้างเหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายว่าขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงและรัฐบาลต้องการรักษาวินัยทางการคลัง แต่รัฐมนตรีบางคนไปไกลกว่านั้น โดยไปโทษว่าเกิดจากความผิดของชาวนาเอง ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับใบประทวนข้าวและการสวมสิทธิ์ข้าว
การตัดสินใจและเหตุผลที่รัฐบาลใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าว เท่ากับว่ารัฐบาลโยนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวไปให้ชาวนา เพราะมาตรการที่กำหนดออกมาใหม่เสมือนเป็นการลงโทษชาวนา ซึ่งจะทำให้ชาวนามีรายได้ลดลงทันที 3,000บาทต่อเกวียน คำถามคือชาวนาทำผิดอะไรจึงต้องได้รับการลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวที่แท้จริงแล้วเกิดจากอะไรกันแน่ และเหตุผลที่ใช้อ้างฟังขึ้นหรือไม่
ไม่ว่าใครก็ตามหากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมก็จะพบว่าความผิดพลาดของนโยบายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการกระทำของชาวนา หากแต่เกิดมาจากสองสาเหตุหลัก สาเหตุแรกคือ ตัวเนื้อหามาตรการของนโยบายจำนำข้าวเอง เช่น การตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาด อันนำไปสู่อัตราการไถ่ถอนคืนเท่ากับศูนย์เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจึงต้องรับภาระในการจัดการข้าวทั้งหมดของประเทศทั้งในการจัดเก็บและการจำหน่าย อันเท่ากับว่ารัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดข้าวของประเทศไทยทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว เนื้อหาเช่นนี้ของนโยบายจึงนำไปสู่การสร้างความเสียหายแก่ระบบการค้าข้าวและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุประการที่สอง เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพและทุจริตในการจัดซื้อ การจัดเก็บ และการจัดจำหน่ายข้าว เรียกได้ว่าข้าวที่ซื้อมามีทั้งความชื้นสูงและคุณภาพต่ำ ทั้งยังซื้อมาจากกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เป็นชาวนาตัวจริงเป็นจำนวนมากหรือที่เรียกว่าซื้อแบบสวมสิทธิ์ อันทำให้บุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของนโยบายได้รับผลประโยชน์จากนโยบายไปด้วย อันเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไม่คุ้มค่า
ในด้านจัดเก็บข้าว รัฐบาลก็ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิง ต้องเสียเงินค่าจัดเก็บอย่างมหาศาล ทั้งยังดำเนินการรักษาคุณภาพข้าวแบบขาดๆเกินๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งข้าวเน่าเสีย มีตัวมอดเข้าไปทำลาย และเต็มไปด้วยเชื้อราที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาการใช้สารเคมีเกินจำนวนที่กำหนดซึ่งเกิดขึ้นในไซโลบางแห่ง อันจะทำให้ผู้บริโภคเป็นมะเร็งได้
แต่ปัญหาที่หนักหน่วงมากจนเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมจำนนก็คือ ความไร้ประสิทธิภาพและทุจริตในการจัดจำหน่ายเพื่อระบายข้าว อันเป็นเหตุให้ถึงขณะนี้รัฐบาลขาดทุนถลุงภาษีประชาชนไปถึงประมาณ 260,000 ล้านบาทแล้ว และหากรัฐบาลยังคงรักษามาตรฐานของความไร้ประสิทธิและทุจริตอย่างนี้ต่อไปจำนวนเงินที่ขาดทุนก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกนับทวีคูณ
เราลองพิจารณาว่าปัญหาการขาดทุนจำนวนมหาศาลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเงินที่ขาดทุนนั้นตกไปอยู่ที่ใครบ้าง
เริ่มจากรัฐบาลจำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเมื่อนำไปสีจะได้ข้าวสาร 61 % ดังนั้นข้าวสาร 1 ตัน รัฐบาลมีต้นทุนประมาณ 24,500 บาท รวมค่าบริหารจัดการอีก 10 % ต้นทุนรวมจึงเท่ากับตันละ 26,950 บาท ขณะที่ราคาข้าวสารในตลาดโลกปีทีผ่านมา แม้คิดราคาให้สูงแล้วก็จะตกประมาณตันละ 15,000 บาท
กรณีแรก หากรัฐบาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีการทุจริตใดๆเกิดขึ้นเลย รัฐบาลก็จะขาดทุนประมาณตันละ 11,950 บาท ในแต่ละปีการผลิต ประเทศไทยผลิตข้าวสารได้ประมาณ 20 ล้านตัน เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลบอกว่าจะซื้อข้าวทุกเมล็ด รัฐบาลจะขาดทุนแน่ๆประมาณ 239,000 ล้านบาทต่อปีการผลิต
กรณีที่สอง หากรัฐบาลทำงานแบบไร้ประสิทธิภาพและเกิดการทุจริตดังที่ฝ่ายค้านได้นำไปเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐบาลขายข้าวสารให้โรงสีที่เป็นพรรคพวกตนเอง หรือ บริษัทส่งออกผีที่คนใกล้ชิดนักการเมืองไปจัดตั้งขึ้นมาในราคาถูก โดยขายให้ตันละประมาณ 8,000 บาท เท่ากับว่ารัฐบาลขาดทุนถึงตันละ 18,950 บาท หากรัฐบาลขายไป 20 ล้านตัน ก็จะทำให้ขาดทุนถึง 379,000 ล้านบาท
ส่วนต่างของการขาดทุนจากนโยบายจำนำข้าวที่ไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉล กับที่พอมีประสิทธิภาพและไม่ฉ้อฉลเท่ากับตันละประมาณ 7,000 บาท หากขายข้าวสารไป 20 ตัน ส่วนต่างนี้ก็เท่ากับ 140,000 ล้านบาท
ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ใดจากเงินส่วนต่างของการขาดทุนแม้แต่น้อย แต่กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มโรงสี นักฉวยโอกาสทางธุรกิจ นายหน้าทางการเมือง และนักการเมืองที่ผลักดันนโยบายนี้ คนเหล่านี้คือคนที่ฉ้อฉลและฉกฉวยภาษีของคนไทยทั้งชาติไปใช้ โดยใช้การช่วยเหลือชาวนาเป็นข้ออ้าง เราจึงเรียกคนพวกนี้ว่า “พวกมอดข้าว”
และเมื่อรัฐบาลลดการจำนำข้าวเปลือกลงเหลือตันละ 12,000 บาท ก็ทำให้ชาวนามีรายได้ลดลงแน่ๆตันละ 3,000 บาท แต่ “กลุ่มมอดข้าว” ที่เกาะกินจอนไชข้าวยังคงได้ประโยชน์อย่างมหาศาลเท่าเดิม แต่รัฐบาลไม่กระทำการใดๆในการขจัดกลุ่มมอดข้าวเหล่านี้ ได้แต่จัดฉากใช้เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ทำท่าขึงขัง ในการปราบปรามและตรวจสอบการทุจริต แต่เท่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ได้แต่คุยโม้โออวดไปวันๆ
สภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงเลวร้ายเกินกว่าที่สังคมจะยอมรับได้ จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการลงโทษชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม แต่กลับเพิกเฉยละเลย “พวกมอดข้าว” ซึ่งคนของตนเองที่ฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พี่น้องชาวนาจะยอมทนอยู่ได้อย่างไรครับ