ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับความมั่นคงของรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30- 31 กรกฎาคม 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,229 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สถานการณ์ความขัดแย้งความวุ่นวายทางการเมือง และความมั่นคงของรัฐบาล โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.3
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.65 ระบุว่า จะส่งผลให้ความขัดแย้ง ความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอาจจะไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน และมีผลประโยชน์ส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รองลงมา ร้อยละ 28.89 ระบุว่าเหมือนเดิม/สถานการณ์บ้านเมือง/ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ.หรือไม่ก็ตาม ความขัดแย้งก็ยังคงมีให้เห็นเหมือนเดิม และร้อยละ 27.10 ระบุว่ามีความสงบสุขขึ้น/ความขัดแย้ง ความวุ่นวายทางการเมืองลดลง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่เอื้อประโยชน์กับนักการเมืองบางกลุ่ม ถ้าหากถอนร่างนี้ออกจากการพิจารณาน่าจะลดความขัดแย้งลงได้
ด้านความคิดเห็นต่อความมั่นคงของรัฐบาล หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หยุดให้ความสำคัญในประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.85 ระบุว่าไม่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ต่างประเทศ และปกติก็ไม่ได้เข้ามามีบทบาทอะไรมากกับรัฐบาล อยู่คนละส่วนกัน รองลงมา ร้อยละ 31.81 ระบุว่าทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังถือว่าเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอยู่ และหากรัฐบาลไม่ยุ่งเกี่ยวก็จะทำให้ภาพลักษณ์และความมั่นคงของพรรคเพื่อไทย/รัฐบาลดีขึ้น และร้อยละ 24.98 ระบุว่าทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงลดลง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่คอยสนับสนุนและคอยให้คำปรึกษาแก่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจของรัฐบาล หากมีการชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำมาซึ่งความวุ่นวายและความรุนแรง ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.73 ระบุว่า รัฐบาลควรยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 28.56 เลื่อนการพิจารณาวาระนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ร้อยละ 21.56 ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 7.73 ระบุว่ารัฐบาลไม่สนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป และร้อยละ 0.73 ระบุว่า ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อเจรจาหาทางออก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “จากผลการสำรวจไม่ได้บอกโดยตรงว่ามีผู้สนับสนุนหรือต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ แต่หากตีความผลการสำรวจในอีกมุมหนึ่งจะพบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 65 (ร้อยละ 38.65 และ ร้อยละ 27.10) เชื่อว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ตาม แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ในประเด็นที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มใดมากกว่ากัน ผลการสำรวจอาจตีความได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ มีความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มผู้ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (หากมีการถอนร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม) มากกว่าความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว
สำหรับประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากจะตีความในมุมที่ว่ามีตัวอย่างร้อยละเท่าใดที่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทหรือไม่มีบทบาทในรัฐบาลชุดนี้ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า มีตัวอย่างเพียงร้อยละ 33.85 เท่านั้น ที่เห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีบทบาทในรัฐบาลชุดนี้ แต่ในขณะที่ตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 50 (ร้อยละ 31.81 และ ร้อยละ 24.98) ที่เห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สำหรับกลุ่มที่เห็นว่ารัฐบาลจะมีความมั่นคงมากขึ้น อาจเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าการชุมนุมประท้วงและความวุ่นวายทางการเมืองจากกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะลดน้อยลงหากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย หยุดให้ความสำคัญในประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่กลุ่มที่เห็นว่ารัฐบาลจะมีความมั่นคงลดลง อาจเกิดจากมุมมองที่ว่า หากไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มี พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากรัฐบาลนี้หยุดให้ความสำคัญในประเด็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจจะทำให้กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดความไม่พอใจและสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลได้
ส่วนหากเกิดความวุ่นวายทางการเมือง จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ต้องการให้รัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อไป หากเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้น โดยรัฐบาลจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่งแทน ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา การเลื่อนการพิจารณา หรือ การถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป”