“อภิสิทธิ์” เฉ่ง “นายกฯ ปู ” โกหก อ้างเป็นแค่ ส.ส.เบรก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ได้ ระบุหวังเลี่ยงความรับผิดชอบ ชะลอกฎหมายได้ แต่ที่ไม่ทำ เพราะสามารถช่วย “นช.แม้ว” พี่ชายให้พ้นผิดได้ ห่วงใช้เสียงข้างมากยกเว้นข้อบังคับดันนิรโทษฯ เข้าสภา 1 ส.ค.
วันนี้ (29 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของประชาชนกว่าร้อยละ 60 เห็นด้วยต่อการนิรโทษกรรมว่า ตนคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้ง และประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นว่าบ้านเมืองต้องมีกฎหมาย รักษากฎหมาย ความผิดเล็กน้อยสังคมพร้อมที่จะนิรโทษกรรมได้ แต่ตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อการที่เอาอาวุธสงครามทำร้ายประชาชน เผาทรัพย์สินสถานที่ราชการและเอกชนแล้วบอกว่าไม่มีความผิด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงมาเป็นเวลานาน และมีทางออกที่เหมาะสมอยู่แล้วคือ ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน พิจารณารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. หารือกับญาติผู้เสียชีวิต พูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดที่สังคมเห็นชัดเจนไม่กระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย หรือการมีกฎหมายในอนาคต เรื่องก็จบ
“แต่ความขัดแย้งในขณะนี้เกิดจากมีการพ่วงคนอื่นเข้าไปด้วย การฆ่ากัน ยิงกัน เอาระเบิดใส่กัน เผากัน แล้วไม่มีความผิดก็ได้ เพียงเพราะว่าเป็นเรื่องการเมือง แล้วจะหาความสงบในอนาคตได้อย่างไร ลองไปถามประชาชนว่าถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไปทำวิธีการแบบนี้สมควรจะนิรโทษกรรมหรือไม่ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่สมควรนิรโทษกรรม”
ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าไม่สามารถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ค้างในสภาได้เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯ ไม่เข้าใจระบบการเมืองไทย ระบบรัฐสภา เพราะนายกฯ เป็น ส.ส. และเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปรองดอง อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับผลกระทบในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่ที่พูดเช่นนั้นคงเพราะพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่า เพราะรู้ดีว่าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนใกล้ชิด ตั้งแต่พี่ชายไปจนถึงคนอื่น
โดยกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีโอกาสหลุดคดีก่อการร้าย เพราะกฎหมายที่นายวรชัยเขียน ตนไม่ทราบว่าจะบังคับอย่างไรในการตีความคำว่าคนมีอำนาจสั่งการ ทั้งที่น่าจะระบุว่าใครมีอำนาจสั่งการบ้าง เพราะนายวรชัยอยู่ในเหตุการณ์ด้วย แต่ถ้าไม่ระบุเมื่อกฎหมายบังคับใช้ออกมาการสอบสวนต่างๆ ก็ต้องยุติลงแล้วจะหาคนสั่งการที่ไหน
“นายกฯ อ้างว่ามีเสียงเดียวทำอะไรไม่ได้ ไม่จริง ผมว่านายกฯ ต้องพูดความจริงกับประชาชน ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลในระบบรัฐสภา นายกฯ ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่สามารถกุมเสียงข้างมากในสภาได้ เพราะฉะนั้นเป็นความพยายามเลี่ยงความรับผิดชอบเท่านั้น และกฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลก็มีการคุมกันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จะปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับระบบที่พรรคเพื่อไทยคุม ส.ส.อยู่หรือไม่ ในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารกับเสียงข้างมากในสภาอยู่ฝ่ายเดียวกัน มันไม่ใช่ระบบแยกอำนาจเหมือนระบบประธานาธิบดี นี่คือข้อเท็จจริงอย่าไปบิดเบือน”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าหัวหน้ารัฐบาลพูดว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ขอชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน ตนเชื่อว่าทำสำเร็จ แต่ปัญหาคือไม่อยากทำและก็ไม่อยากรับผิดชอบ ทั้งนี้ตนคิดว่ารัฐบาลคงมีการประเมินกระแสอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าเขาดูอย่างเดียวว่าคนคัดค้านจะมีแรงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร มากกว่าที่จะคำนึงถึงหลักการ ความถูกต้อง และประชาชนต้องการที่จะให้การทำงานของรัฐบาลมุ่งที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องมากกว่า ถ้าหากรัฐบาลจะฟังผลสำรวจความเห็นประชาชน ทำไมไม่ฟังประเด็นนี้บ้าง
ส่วนที่มีกระแสข่าวจะพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของนายวรชัย ในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 เลยนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ระเบียบวาระของวันที่ 1 สิงหาคมไม่มีเรื่องกฎหมาย มีแค่ญัตติเรื่องรับทราบ และกระทู้ถาม และไม่เคยมีการเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับเพื่อพิจารณาเรื่องที่ไม่อยู่ในวาระ โดยเฉพาะในเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการยกเว้นข้อบังคับทุกอย่างก็ทำได้หมด อย่างไรก็ตาม หากทำเช่นนั้นก็แสดงให้เห็นถึงเจตนาและจะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น แต่เห็นว่าโอกาสที่จะนำกฎหมายนี้มาพิจารณาในวันที่ 1 สิงหาคมเป็นไปได้น้อย แต่ก็ต้องระวังเพราะเขายกเว้นข้อบังคับได้ และทราบว่านายกรัฐมนตรีก็ไม่อยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นความพยายามของนายกฯ ที่จะเลี่ยงความรับผิดชอบ ทั้งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงขอว่าอย่าบิดเบือนระบบ อย่าหลอกลวงประชาชน สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่าอาจมีการผลักดัน 3 วาระรวดนั้น ตนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกตนจะแปรญัตติกันทุกคน ไม่จบแน่
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลควรเรียนรู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้เรียนรู้จากทุกประเทศว่าต้องระมัดระวังอย่าสร้างความขัดแย้งขึ้น เพราะเกิดความรุนแรงได้ง่าย