xs
xsm
sm
md
lg

“กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” ผู้มีอุดมการณ์ หรือ มวลชนของพรรคการเมือง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากการยื่นเสนอร่างพิจารณาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จุดเป็นชนวนสู่การชุมนุมรวมตัวของผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในนามของกลุ่ม “กองทัพประชาชนโค้นระบอบทักษิณ” ด้วยท่าทีดุเดือดถึงขั้นรัฐบาลต้องเร่งหยิบเอาพ.ร.บ.ความมั่นคงฯมาประกาศใช้
 
โดยความเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มชุมนุมวันที่ 4 จนถึงตอนนี้กับการเคลื่อนไหวซึ่งประกอบไปด้วยการรวมตัวของหลายกลุ่มก้อนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของตัวละครที่ต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลอด

แล้วกลุ่มกองทัพประชาชนฯคือใคร? เป้าหมายสุดท้ายของการชุมนุมคืออะไร? เป็นเพียงมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ หรือพลังบริสุทธิ์ของมวลชนที่ทวงถามหาความยุติธรรมกันแน่?

โฉมหน้ากองทัพประชาชน

หลังจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกเสนอร่างเข้าสู่สภาให้พิจารณา ไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อต่อต้าน เพราะพ.ร.บ.นี้เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนต่อการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่หลายฝ่ายมองว่า เป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้คือการนำตัวทักษิณ ชินวัตรกลับบ้านอย่างพ้นผิดไร้มลทิน

กลุ่มก้อนการรวมตัวเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวใช้ชื่อว่า กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ มีแกนนำหลักหรือที่เรียกว่า เสนาธิการร่วมประกอบไปด้วยหลายฝั่งฝ่ายในขั้วตรงข้ามของรัฐบาล

มีตั้งแต่ ไทกร พลสุวรรณซึ่งมีฐานะเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการเมืองอีสาน และยังเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ที่เคลื่อนไหวเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วกับการแช่แข็งประเทศโดยการนำของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พล.ต.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อดีตแกนนำกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติรักษาแผ่นดินซึ่งเป้นกลุ่มที่เคยต่อต้านรัฐบาลร่วมกับกลุ่มเสื้อหลากสี นอกจากนี้ยังมีอดีตแกนนำพันธมิตรประชาเชนพื่อประชาธิปไตย(พธม.)บางส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มมวลชนกลุ่มใหม่อย่าง V for thailand หรือกลุ่มหน้ากากขาวที่ประกาศจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาร่วมแสดงจุดยืนเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ไม่มีแกนนำชัดเจนโดยมีการชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ที่เซ็นทรัลเวิลด์แยกราชประสงค์

แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มพธม.นั้นได้มีการประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า ครั้งนี้คงจะไม่ร่วมชุมนุม

“เลิกคิดได้แล้วว่าสนธิจะออก สนธิแป๊ะลิ้มไม่ออก แป๊ะลิ้มโดนคดีล็อกคอเอาไว้ แป๊ะลิ้มไม่ออกหรอก แป๊ะลิ้มเหนื่อยแล้ว และแป๊ะลิ้มเป็นลูกเจ๊กธรรมดาไม่ได้เป็นสะใภ้หรือลูกเขยตระกูลใหญ่โตมโหฬารที่ไหน” สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวไว้ในรายการ คุยทุกเรื่องกับสนธิเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

การชุมนุมครั้งนี้อาจบอกได้ว่า เป็นการชุมนุมของผู้ที่มีจุดร่วมในการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมือนกัน อันประกอบไปด้วยมวลชนหลายกลุ่ม โดยมีบางส่วนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม กลุ่มหน้ากากขาว รวมกับกลุ่มหลักที่คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์ที่หันมาจัดเวทีผ่าความจริงซึ่งมีการสร้างมวลชนมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว

แน่นอนว่า ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้นก็มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่บนพื้นที่ของการแสดงความเห็นทางการเมืองแห่งนี้ ด้วยเพราะตัวพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือโต้โผใหญ่ในการจัดการเป็นพรรคการเมืองที่แน่นอนว่าต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์

พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ

รายละเอียดของการนิรโทษกรรมในพ.ร.บ.นี้โดยหลักการแล้วจะให้ประโยชน์กับผู้ที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง

โดยผู้ที่ได้รับผลจากการนิรโทษกรรมในพ.ร.บ.นี้จะได้แก่ กลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามบินหรือ พธม. และกลุ่มผู้ชุมนุมหลังรัฐประหารหรือ นปช. ขณะที่ชายชุดดำหรือคนที่เผาทรัพย์เอกชนและคดีมาตรา 112 นั้นต้องอยู่ที่การตีความของศาล โดยหากตีความว่า การกระทำทั้ง 2 เรื่องนั้นเป็นการแสดงออกอันเกี่ยวเนื่องกับการเมือง ทั้ง 2 กรณีก็จะได้รับการนิรโทษกรรม
 
ทั้งนี้ สหประชาชาติหรือยูเอ็นก็ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยจากการที่พ.ร.บ.นี้อาจจะนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำผิดในฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายด้วยว่า หากร่างพ.ร.บ.นี้สามารถผ่านสภาไปได้อาจมีการแก้ไขสอดใส่เผื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่มเพิ่มเติมได้

อ้างอิงจาก http://ilaw.or.th/node/2869

ยุทธศาสตร์ของกองทัพประชาชน

การชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างทางการเมืองไปจนถึงความแตกแยกในสังคม ส่วนหนึ่งของการชุมนุมเหล่านี้ก็ได้ทิ้งบทเรียนสำคัญไว้ให้กับสังคม ล่าสุดกับการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนในตอนนี้ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายกลุ่มก้อนที่ตรงข้ามกับรัฐบาลเอาไว้ทั้งหมด ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการชุมนุมจึงมีท่าทีที่แตกต่างไปจากการชุมนุมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

ในความเห็นของ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ประกอบไปด้วยกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์การพิทักษ์สยาม รวมถึงกลุ่มไทยสปริงก์ แต่ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมานั้น เขายังมองว่า ไม่ค่อยน่าพอใจนัก อาจมาจากการไม่เน้นประเด็นที่เร้าอารมณ์ แต่กลับเน้นไปที่ให้การชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบซึ่งขัดกับธรรมชาติของมวลชนทางการเมือง

“เราเห็นว่าตอนชุมนุมพันธมิตรฯ มันมีท่าทีที่กระหึ่มก้องมหาศาลกว่า มาดูกลุ่มนี้คนเยอะวันแรก แต่ก็เริ่มน้อยลงในวันต่อๆ มา สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มมันจะไม่เหนี่ยวแน่น บางส่วนที่ชุมนุมที่สวนลุมฯก็แยกไปรวมกลุ่มกับประชาธิปัตย์ที่เวทีผ่าความจริงที่มันสนุกกว่า”

ทั้งนี้ เขามองว่า การสนุกสนานหรือการเร้าอารมณ์ทางการเมืองยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ในรวมมวลชน

“การรวมมวลชนแบบนี้ ถ้าไม่มีกิจกรรม ไม่มีท่าทีที่ปลุกเร้าเลยเนี่ย ไม่ใช่เฉพาะกับนิสัยคนไทยนะ ที่ไหนก็ชอบความคึกคัก ดังนั้น การชุมนุมมันจึงควรจะมีเพลง มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อะไรสักอย่างเพื่อปลุกเร้ามวลชนบ้าง”

มาถึงตอนนี้เขาเผยว่า หากพูดไปก็อาจเสียกำลังใจกับกลุ่มมวลชนที่เพิ่งรวมตัว แต่ที่ผ่านมาเขาเห็นว่า การเคลื่อนไหวยังคงไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะท่าทีที่วางไว้ให้เป็นกลุ่มการชุมนุมโดยสงบอาจเป็นกับดักหนึ่งที่ทำให้ตัวเองสูญเสียแนวร่วมที่จะมาชุมนุมไปโดยไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของกลุ่มกองทัพประชาชนฯ กับพรรคประชาธิปัตย์แม้ในช่วงแรกจะมีความพยายามที่จะปิดบัง แต่ท้ายที่สุดด้วยเพราะเป้าหมายที่มีร่วมกัน จึงทำให้ท่าทีของกลุ่มมวลชนดังกล่าวต้องสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านซึ่งในระยะหลังก็หันมาเล่นการเมืองแบบกลุ่มมวลชนมากขึ้น

“ท่าทีกลุ่มกองทัพประชาชนฯ เขาก็ระมัดระวังมากนะ แต่มันก็แยกไม่ได้...ท้ายที่สุดก็สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 54 พรรคประชาธิปัตย์เองก็ลงมาเล่นการเมืองมวลชนมากขึ้น เปิดเวทีผ่าความจริง ซึ่งเน้นประเด็นที่ดังและแรงมีการปลุกเร้า เวลาไปต่างจังหวัดก็มีโดยล้อมกรอบมีปาไข่ ทำให้มีมวลชนเคลื่อนไหวมากขึ้น”

เมื่อมองภาพการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้เขามองเห็นว่า สภาพการเมืองในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาของการฉกฉวยโอกาสเพื่อสร้างกระแสจากทุกฝ่าย ตั้งแต่รัฐบาล ตำรวจ ฝ่ายค้าน แม้แต่มวลชนที่แย่งพื้นที่สร้างความหวือหวาเพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ในสังคมขึ้นมา แต่ท้ายที่สุดมันไม่ได้นำไปสู่การชนะกันได้แต่อย่างใด

“ผมเห็นว่า ทุกฝ่ายดูจะเวอร์ไปหน่อยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะมันยังไม่มีอะไร ทุกฝ่ายเลยนะ ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตำรวจ แม้แต่ม๊อบ คือตอนนี้ประชุมสภาฯกัน ผมดูอยู่เรื่องมันก็ไปไม่ถึงไหนเลย ผมมองว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง 1. คือเลื่อนการพิจารณาร่าง อาจจะเลื่อนแบบมีกำหนด หรือไม่มีกำหนด 2. คือถอดร่าง ไม่มีอะไรเสียหาย ค่อยเสนอร่างใหม่ก็ได้”

ประสบการณ์จากสมัยที่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารให้ช่วงปี 2549 นั้นยังคงเป็นบทเรียนที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเดินเกมอย่างระมัดระวังไม่สร้างเงื่อนไขความรุนแรงที่จะนำพาไปสู่ความผิดพลาดแบบเดิม

“ดังนั้นรัฐบาลมีประสบการณ์จากตอนที่ถูกรัฐประหารไปแล้ว การจะเดินไปสู่เงื่อนไขตรงนั้นยังไงก็คงไม่เป็นแบบนั้นอีก แค่ดึงชนวนออก ถอดร่างออกก็หมดปัญหา”

ในส่วนของมวลชนในยุคปัจจุบันอย่าง กองทัพประชาชนฯนั้น เขาเห็นว่า การเคลื่อนไหวตรงนี้ไม่ได้มองถึงรัฐประหาร โดยเห็นว่า การรัฐประหารในปัจจุบันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นอีกแล้ว มีเพียงแต่จะทำให้ประชาชนหลงยุคไปกับพวกทหารเท่านั้น

“เขาไม่แยแสทหารเพราะมองว่าทหารไม่มีน้ำยาทั้งยังเต็มไปด้วยข้อสงสัยหลายอย่างที่เป็นไปได้ว่าจะมีนอกมีในกับรัฐบาล ในสถานการณ์ตอนนี้การรัฐประหารจะไม่ช่วยให้ประชาชนมีความหวังขึ้นมาเลย นอกจากจะทำให้ประชาชนตกขอบหลงยุคไปกับทหาร การปฏิวัติยุคนี้มันไม่มีประโยชน์ทำอะไรไม่ได้”

ถึงช่วงเวลานี้เขาจึงมองว่า การต่อสู้ควรจะอยู่ในสภา หากรัฐบาลไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายได้ ก็วัดกันต่อไป และต้องวัดกันต่อไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

“ท้ายที่สุดการเมืองมันก็ต้องสู้กันในสภา สู้กันด้วยการเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตยมันต้องต่อสู้กันตั้งแต่ต้นทางของมันด้วย”

….

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเมืองมวลชนนอกสภามีความดุเดือดมากขึ้น บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็มีมากขึ้นเช่นกัน มาถึงครั้งบทเรียนทั้งหมดของเหตุการณ์ที่ผ่านจะช่วยให้มวลชนที่เกิดขึ้นเคลื่อนไหวในท่าทีอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไปเท่านั้น...หวังได้เพียงว่า ประวัติศาสตร์จะไปหลงทางเดินซ้ำรอยที่ผิดพลาดแบบเดิมๆอีก

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น