xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จ่อเรียกรัฐแจง พ.ร.บ.มั่นคง เมินร่วมปฏิรูป ฉะ ตร.ส่อละเมิดเอา กม.ฟันคนโพสต์เฟซเห็นต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิเชฏฐ พัฒนาโชติ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) - ภาพจากแฟ้ม
แกนนำกองทัพโค่นแม้ว พบ ปธ.อนุฯ สิทธิพลเมือง กสม.หลังยื่นสอบรัฐใช้ พ.ร.บ.มั่นคง มิชอบ ยันไปชุมนุมหน้าสภาทำได้ มีกฎหมายรับรองไม่ควรถูกปิดกั้น ขู่ถ้าเกิดเผชิญหน้ารัฐต้องรับผิด แฉชายชุดดำเตรียมผสมป่วนแล้ว วอนเร่งสอบหวั่นมีรุนแรง ด้าน “หมอนิรันดร์” เล็งเรียกหน่วยมั่นคงแจงด่วนพรุ่งนี้ แนะรัฐทบทวน เมินร่วมวงปฏิรูป จวกข้ามขั้นตอนดันนิรโทษ จี้จริงใจต้องถอนก่อน ชี้ตำรวจออกหมายเรียกคนโพสต์เฟซบุ๊กส่อละเมิดชัด เอากฎหมายมาเล่นงานคนเห็นต่าง

วันนี้ (5 ส.ค.) คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้เชิญ นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เข้าชี้แจงกรณีที่เมื่อวันที่ 2 ส.ค.กองทัพประชาชนฯได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯขอให้ตรวจสอบรัฐบาลที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 เพื่อควบคุมการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนฯที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดย นายพิเชฏฐ ชี้แจงว่า ทางกลุ่มเห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอ้างว่าเป็นมติของคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก และเมื่อมีการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการปิดกั้นเส้นทางจากต่างจังหวัดเพื่อไม่ให้ประชาชนเดินทางมาชุมนุม ทั้งที่พื้นที่ชุมนุมอยู่นอกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง รวมทั้งเห็นว่าการที่ประชาชนจะไปชุมนุมโดยสงบที่บริเวณรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ตามมาตรา 29 ถึงมาตรา 34 ไม่ควรต้องถูกปิดกั้นและจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นโดย พ.ร.บ.ความมั่นคง

นายพิเชฏฐ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ฝ่ายรัฐได้พยายามที่จะสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่นอกเขตประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อไม่ให้เดินทางเข้าไปยื่นหนังสือยังรัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ส.ค.ซึ่งหากเกิดการเผชิญหน้าของประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ความรับผิดชอบตามกฎหมายจะเป็นอย่างไร และขณะนี้มีรายงานว่าชายชุดดำซึ่งได้รับการฝึกมาอย่างดี และเคยปฏิบัติการในการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ได้รับคำสั่งให้แฝงตัวเข้ามาก่อกวนการชุมนุม จึงอยากให้กรรมการสิทธิฯเร่งตรวจสอบ และหาทางในการที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมในการเคลื่อนขบวนวันที่ 7 ส.ค.นี้ พร้อมหาแนวทางในการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่เป็นการลิดรอนสิทธิการชุมนุมของประชาชน

ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า จะหารือกับอนุกรรมการและกรรมการสิทธิฯว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรให้ทันกับสถานการณ์ เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยในการตรวจสอบอนุกรรมการจะประสานไปยังรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้มาชี้แจงเกี่ยวกับการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง และถามถึงแนวทางในการออกกฎหมายว่ามีมาตรการอย่างไรในการควบคุมสถานการณ์ โดยเฉพาะมาตรการควบคุมมือที่ 3 เพราะหากเกิดความรุนแรงขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะเชิญมาชี้แจงในวันพรุ่งนี้ (6 ส.ค.)

“การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง รัฐบาลยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่จะประกาศใช้ เพราะการชุมนุมในขณะนี้ยังไม่เกิดเหตุความรุนแรง หรือกระทบกระทั่ง ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐทบทวนการประกาศใช้” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวถึงการที่รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีปฏิรูปประเทศไทย โดยจะเชิญทุกภาคส่วนรวมถึงองค์กรอิสระเข้าร่วมว่า คิดว่ากรรมการสิทธิฯคงไม่เหมาะที่จะไปร่วม เนื่องจากเราเป็นองค์กรตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน และถ้าในฐานะส่วนตัวมองว่า รัฐบาลข้ามขั้นตอนในแง่ของการพูดคุยในการทำความจริง ข้อเท็จจริงให้ตรงกัน แต่กลับผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภา ทำให้สังคมเกิดความไม่ไว้ใจ ไม่มั่นใจ ถ้ามีความจริงใจต่อกัน รัฐบาลก็ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา แล้วมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เวลานี้ความจริงในความรู้สึกของแต่ละคนยังไม่ตรงกัน ของนายวรชัย เหมะ ก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ของนางพะเยาว์ อัคฮาด ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ควรเอาความจริงของทุกคนมาคุยกัน แล้วหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้น ใครควรถูกลงโทษ ใครควรได้รับการนิรโทษกรรม มันก็จะชัดเจน การจะนิรโทษกรรมได้มันต้องมีความสุกงอมในสภาวะแวดล้อม คือ สังคม และประชาชน มีความเข้าใจตรงกัน ในเรื่องที่ได้ผ่านความรุนแรงมาแล้ว

นพ.นิรันดร์ ยังกล่าวถึงกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกหมายเรียก 4 มือโพสต์ข้อความปฏิวัติรัฐประหาร ผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อหาผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คอมพ์ อยู่แล้ว เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน เนื่องจากเป้าหมายของ พ.ร.บ.คอมพ์ เป็นการป้องกันการกระทำผิดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเอามาบังคับใช้กับการแสดงความคิดที่แตกต่างก็จะถูกมองว่าเป็นการละเมิด
กำลังโหลดความคิดเห็น