xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทะเลสีดำ และความหลอก ลวง แหล นิสัยถาวรของแท้ PTTGC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-โกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวง ประชาชนจนกลายเป็นนิสัยถาวรที่แก้ไม่ได้สำหรับเครือยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอันดับหนึ่งของประเทศ เจ้าของรางวัลธรรมาภิบาลระดับโลก คราวนี้ก็เช่นเคย ปกปิดข้อมูล เอาสีข้างเข้าแถ แก้ตัวน้ำขุ่นๆ เป็นนิสัยถาวรของแท้

กรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่ท้องทะเลอ่าวไทยล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 27 ก.ค. 56 ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (PTTGC) ในเครือปตท. นั้น พีทีทีฯ รู้ดีว่าเหตุการณ์ร้ายแรงได้เกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปัญหากับเรื่องเช่นนี้ เมื่อไม่นานประมาณปี 2552 นี่เอง พีทีทีอีพี ออสเตรเลีย บริษัทลูกปตท.สผ.เพิ่งเกิดเหตุน้ำมันรั่วลงทะเลจนถูกรัฐบาลออสเตรเลีย และอินโดนีเซียฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ แล้วทำไมเครือพีทีทีที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว กลับไม่สำนึก ไม่เตรียมพร้อม และเลือกที่จะใช้วิธีปกปิดข้อมูลที่มักปฏิบัติจนเคยตัว

เช่นเดียวกัน เหตุการณ์นี้ พีทีทีฯ ทั้งปกปิดข้อมูล ทั้งยังดูเบาปัญหา ทำให้ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ที่สำคัญบริษัทไม่มีความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังเกตจากปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความล่าช้า ต้องหวังรอพึ่งสิงคโปร์ รวมถึงการใช้ทุ่นกักน้ำมัน (Boom) ล้อมคราบน้ำมันที่มี ความยาวเพียงแค่ 200 เมตร ทำให้ไม่สามารถจัดการกับคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ ซึ่งมี ความกว้างประมาณ 1,000 - 1,200 เมตรได้

คงไม่ผิดนักหากจะสรุปในเบื้องต้นว่า การเป็นสมาชิกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ที่มีการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันรวมมูลค่ากว่าร้อยล้าน และการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการ ขจัดคราบน้ำมัน เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินป้องกันและแก้ไขกรณีเกิดการรั่วไหล ของ น้ำมันดิบสู่ท้องทะเลของพีทีทีจีซีนั้น เป็นแค่การสร้างภาพให้ดูดี มี ไว้โชว์เท่ๆ เท่านั้น เอา เข้าจริงกลับโหลยโท่ยไม่เป็นท่า

ถึงนาทีนี้ ต้องบอกว่า พีทีทีจีซี มีความเป็นเลิศในด้านการปกปิดข้อมูลและสร้างความสับสนอย่างจะหาใครเทียบได้ยาก โดยแรกสุด พีทีทีฯ มีการประเมินตัวเลขน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ประมาณ 50,000 - 70,000 ลิตร ก่อนที่เลือกใช้ตัวเลขต่ำสุด คือ ประมาณ 50,000 ลิตร เท่านั้น แต่ตัวเลขที่ว่านี้จนถึงวันนี้ยังข้อสงสัยกันอยู่มากว่า แท้จริงแล้วแค่ 50,000 ลิตร หรือมากกว่านั้นกันแน่

ประเด็นนี้ ซีเอ็นเอ็น อ้างคำกล่าวของดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันที่แท้จริงไม่ใช่ 50,000 ลิตร ตามที่ ปตท.คาดการณ์ แต่น่าจะเป็น 75,000 - 100,000 ลิตร โดยย้ำว่า จำเป็นต้องคำนวณปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันให้ถูกต้อง ชัดเจน เพราะจะทำให้ทราบถึงขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการเตรียมการเก็บกวาดคราบน้ำมันต่อไป

คำเตือนข้างต้น พีทีทีจีซี หาได้เอาหูใส่ เพราะต้องกดตัวเลขให้ดูต่ำสุดเพื่อเอาใจนักลงทุนและหลอกลวงสาธารณชนว่า ไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โตอะไร จัดการได้ ไม่มีปัญหา ดังแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของพีทีทีจีซี ในช่วงบ่ายของวันที่เกิดเหตุ ที่ดูเหมือนพีทีทีจีซี จะมั่นใจอย่างมากว่า “เอาอยู่”

“..... จากปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ และที่ได้รับการสนับสนุนจากนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งจำนวนเรือและน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน บริษัทฯ คาดว่า จะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดภายในวันนี้”

ปฏิบัติการของพีทีทีจีซีและพันธมิตรทั้งรัฐและเอกชน ทำให้ผู้บริหารของบริษัทเชื่อว่า จัดการปัญหาได้เรียบร้อยหมดภายในวันเดียว แล้วนายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีซีจี ก็ได้แสดงอาการลิงโลดในการให้สัมภาษณ์ในรายการตรงประเด็นข่าวค่ำ ของช่องกรุงเทพธุรกิจทีวี ออกอากาศเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 56 ว่า

“ผมก็อยากจะเรียนข่าวดีนะครับ ตอนนี้การกำจัดคราบน้ำมันในทะเล ของเราเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วนะครับ ตอนนี้ท้องทะเลก็กลับมาใสเหมือนเดิมแล้วนะครับคราบดำ ๆ ที่เห็นเมื่อวานนี้ เรากำจัดเรียบร้อยนะครับ โดยที่เราใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี คือการใช้เครื่องบินทำให้สามารถโปรยสารเคมีปริมาตรและปฏิบัติการเสร็จภายในเวลารวดเร็วนะครับ”

นั่นเป็นการให้ข้อมูลต่อสังคมที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะวันรุ่งขึ้น ภาพคราบน้ำมันดิบหนาเตอะท่วมชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง และสภาพน้ำทะเลกลายเป็นทะเลดำ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

หากผู้บริหารเครือปตท. ไม่มัวแต่แก้ปัญหาด้วยการสร้างภาพ โป้ปดมดเท็จ ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ตนเองกำลังหลอกสังคมว่าน้ำทะเลใสปิ๊งแล้วนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ น.ส.พรศรี มิ่งขวัญ ผอ.ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ บอกว่า กรมฯได้รับประสานให้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในเรื่องการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ซึ่งก็คาดการณ์ถูกต้องว่าคราบน้ำมันจะเคลื่อนตัวไปยังเกาะเสม็ด โดยมีการแจ้ง เตือนไป 4 ครั้ง

เช่นเดียวกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ได้ตรวจสอบการเคลื่อนและกระจายตัวของคราบน้ำมัน พบว่า มีการ กระจายตัวในวงกว้างหลังจากเกิดเหตุ 12 ชั่วโมง

"ข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลกระแสน้ำจากสถานีเรดาร์ตรวจวัดคลื่น และกระแสน้ำ ชี้ให้เห็นว่าคราบน้ำมันที่ผ่านการย่อยสลายมาแล้วระดับหนึ่ง มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทิศทางของคราบน้ำมันจะเริ่ม เข้าสู่ชายฝั่ง ตามแนวหาดแม่รำพึง เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ดด้านทิศตะวันตก บางส่วนอาจเข้าไปถึงอ่าวศรีราชา จากระยะทางความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นราว 3-4 กิโลเมตร ขณะที่ความยาวอยู่ที่ 8 กิโลเมตร" นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.ให้ข้อมูล และเตือนล่วงหน้าว่า หากปล่อยให้คราบน้ำมันจำนวนมากลอยขึ้นฝั่งการแก้ไขจะทำได้ลำบาก

เสียงเตือนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และกรมควบคุมมลพิษ ก็บอกชัดอยู่แล้ว ไฉนยักษ์ใหญ่เครือปตท. จึงไม่มีความสามารถจัดการสลายคราบน้ำมันก่อนลอยเข้าฝั่ง แต่กลับมีความสามารถอย่างยิ่งยวดในการหลอกลวงคนในสังคมให้เชื่อว่า เรื่องทั้งหมดเคลียร์แล้ว ไม่มีปัญหาแล้ว เรียบร้อยไม่ต้องกังวล

แล้วก็เป็น นายพรเทพ บุตรนิพันธ์ เจ้าเก่าอีกนั่นแหละ ที่ออกมาแถหลังจากคราบน้ำมันทะลักขึ้นฝั่งอ่าวพร้าวว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยถ้าปล่อยทิ้งไว้ลักษณะแบบนี้จะค่อยๆ สลายโดยธรรมชาติ.... ผลกระทบจะไม่มีเพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ…พอขจัดคราบน้ำมันหมดแล้วจะเก็บตัวอย่างน้ำ ทรายไปวิเคราะห์ว่ามีผลกรทบต่อสัตว์น้ำอย่างไร แต่คาดว่าไม่น่าจะกระทบเพราะน้ำมันเป็นสิ่งธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้แต่ต้องใช้เวลานานเท่านั้นเอง”

ไม่น่าเชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงของเครือปตท. ที่โฆษณาอวดอ้างว่ามีธรรมภิบาลดีเลิศด้านรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จะแกล้งโง่หรืออ่อนด้อยความรู้ กระทั่งไม่ทราบว่าทั้งคราบน้ำมันและสารเคมีที่ใช้ กำจัดคราบน้ำมันนั้น ล้วนแต่เป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ประกอบอาชีพประมงและท่องเที่ยว ด้วย

โปรดฟังชัดๆ อีกหลายๆ ครั้งจากบรรดานักวิชาการเหล่านี้ เผื่อจะทำให้ไอคิวและอีคิวของผู้บริหารเครือปตท.สูงขึ้นแม้สักเล็กน้อยก็ยังดี

รศ.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วประมาณ 50,000 ลิตร ที่มีการใช้สารเคมี 35,000 ลิตร ฉีดพ่นลงไปจะทำให้สิ่งมีชีวิตต้องเจอทั้งพิษจากน้ำมันและสารเคมีที่ฉีดพ่น ซึ่งสารเคมีที่ใช้หากเป็นคลอรีน 10 จะมีพิษมากกว่าน้ำมันถึง 52 เท่า ขณะเดียวกันจะมีสารตกค้างประมาณ ร้อยละ 30 ของน้ำมันที่รั่วทั้งหมดจะตกตะกอนสะสมอยู่ในดิน แนวปะการัง พืชน้ำ สัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้ง รวมถึงพื้นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ ตลอดจนป่าโกงกางซึ่งรากจะไม่สามารถหายใจได้

"ปลาและหอย หากโดนน้ำมันเคลือบตัวแล้ว ตับของสัตว์เหล่านั้นจะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างน้ำมันรั่วที่ประเทศเม็กซิโก สัตว์น้ำเกิดมาใหม่ก็มีความผิดปติ มีสารหลายตัวคราบน้ำมัน และสารที่ฉีดพ่น ที่ก่อมะเร็ง และมีสารปรอทปนอยู่" รศ.เรณู กล่าว

นักวิชาการอีกรายคือ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เตือนว่า การใช้สารกำจัดคราบน้ำมันที่ช่วยให้น้ำมันแตกตัวและกระจายกันก่อนจมลงสู่ทะเลนั้นต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะการใช้ในทะเลตื้นที่มีความลึกต่ำกว่า 20 เมตร เพราะมีหลายงานวิจัยที่ระบุว่ามีความเสี่ยง โดยงานวิจัยล่าสุดที่เปิดเผยในการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับการรั่วของน้ำมันเมื่อปี 2012

ความไม่เหมาะสมในการใช้สารเคมีฉีดพ่นลงทะเลที่มีระดับความลึกต่ำ ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจาก ดร.ไพฑูรย์ มกกงไผ่ นักวิจัยจากส่วนงานวิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ชี้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งจะเห็นได้ชัด โดยระบบนิเวศน์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากคือ ปะการัง เพราะการใช้สารเคมีเพื่อทำให้น้ำมันซึมตัวลง ในทางวิชาการมองว่า ไม่เหมาะกับสภาพชายฝั่งของประเทศไทย ที่มีลักษณะตื้น และลาดเท ตลอดจนมีน้ำหมุนวน ต่างจากฝั่งอันดามัน เป็นทะเลเปิดที่น้ำสามารถไหลออกไปได้ และต้องยอมรับว่า การฟื้นฟูทำได้ยาก เนื่องจากน้ำมันที่แตกตัวจะตกตะกอนและตกลง ซึ่งเป็นไปได้ที่คราบน้ำมันจะไปอุดที่ช่องโพรงของปะการัง ทำให้ปะการังและตัวอ่อนปะการังตายในที่สุด

ทั้งนี้ ปะการังเป็นระบบนิเวศน์ที่มีสัตว์น้ำวัยอ่อนอาศัยอยู่ เช่น แพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ กุ้งขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นอาหารของปลาขนาดใหญ่ หากในบริเวณนั้นมีคราบน้ำมันจับตัวหนากั้นอยู่บริเวณผิวน้ำ จะทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเท การขาดออกซิเจนจะทำให้วงจรของระบบห่วงโซ่อาหารถูกตัดขาด ซึ่งช่วงนี้อาจยังไม่เห็น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น

” ในมุมมองของนักวิชาการ สถานการณ์คราบน้ำมันดิบในทะเล เป็นเรื่องน่ากลัว เกิดความเสียหายหลายด้าน ซึ่งครั้งนี้นับเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ที่ยังไม่แน่ใจว่า 15 วัน จะแก้ไขได้ทันหรือไม่ เนื่องจากยังมีปัจจัยจากน้ำขึ้นน้ำลง ที่ทำให้การกำจัดทำได้ลำบาก ยิ่งคราบน้ำมันอยู่ใกล้ชายฝั่งยิ่งยากต่อการควบคุม อีกทั้งลมเป็นตัวช่วยแพร่กระจายได้อย่างดี”

เช่นเดียวกับรศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ที่กล่าวถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดว่า คราบน้ำมันจะส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำประเภทหอยบริเวณโขดหินเป็นอันดับแรก ส่วนคุณภาพของน้ำเองหากภายใน 1 สัปดาห์ยังไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม สัตว์น้ำชนิดต่อมาคือปู ปลา กุ้ง จะได้รับผลกระทบเพราะขาดออกซิเจน ในส่วนปะการังที่ต้องการแสงในการเจริญเติบโตเมื่อน้ำมีสีดำก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดยสารเคมีที่อยู่ในน้ำมันนั้น อันดับแรก จะส่งผลให้สัตว์ทะเลเจริญเติบโตช้าลง และเป็นหมัน ตัวอย่างเช่น ปะการังแม้ไม่ตายลงจากคราบน้ำมันแต่อาจไม่สืบพันธุ์ ดังนั้นภายใต้มาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศภายหลังการจัดการคราบน้ำมันแล้ว ต้องติดตามผลการฟื้นฟูในระยะยาว คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เพราะระบบนิเวศบางชนิดเติบโตช้า ยกตัวอย่าง ปะการังใน 1 ปีเติบโตแค่ 1 ซม.ดังนั้นการติดตามแค่ 1 ปีไม่เห็นผล ขณะที่ประเทศอื่นที่เคยเจอเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลใช้เวลาติดตามผล 2-3 ปีและถึง 5 ปีด้วยซ้ำ

ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่ตอกย้ำว่า น้ำมันดิบที่รั่วลงทะเลนั้น มีองค์ประกอบที่เป็นสารพิษอยู่หลายตัว มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย อย่าง เบนซิน โทลูอีน ไซลีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ชาวบ้านมาบตาพุดเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก จากการที่มีโรงกลั่นตั้งอยู่ และมีโลหะหนักบางตัว เช่น นิกเกิล โครเมียม ปรอท หรืออาจมีสารบางตัว เช่น ซัลไฟด์ องค์ประกอบพวกโลหะหนักนั้นจะเพิ่มขยายเท่าตัวในสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์ตัวใหญ่กินตัวเล็กสารพิษก็จะเพิ่มเท่าตัว แล้วคนก็เป็นอันดับสุดท้ายในห่วงโซ่อาหาร ฉะนั้นคนก็จะได้รับสารพิษในระดับเข้มข้นมากที่สุด การที่สารเคมีตกค้างในห่วงโซ่อาหารเป็นผลกระทบระยะยาวมาก ด้วยตัวน้ำมันดิบเองก็อันตรายอยู่แล้ว นี่ยังไปเพิ่มสารอันตรายเข้าไปอีก

เช่นเดียวกับ ดร.รักไทย บูรพภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน ปกติจะใช้ในน้ำลึก เพราะพอสารเคมีไปจับจะมีระยะเวลาสลายก่อนนอนก้นทะเล แต่นี่เป็นน้ำตื้น เกรงว่าจะไปจับปะการังในขณะที่สารเคมียังอยู่ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แน่นอน

ดร.รักไทย ยังตั้งคำถามว่า ปตท.ไม่มีการเตรียมพร้อม มีเหตุการณ์ทุ่นไม่พอ เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทใหญ่รายได้มหาศาลขนาดนี้ น่าเตรียมพร้อมมากกว่านี้ ถ้าเตรียมการพร้อมตั้งแต่ต้น สามารถล้อมกรอบน้ำมันไว้ได้ไม่ไปไกลแบบนี้แน่นอน อีกทั้ง ปตท.ก็เคยมีบทเรียนมาแล้วจากกรณีรั่วที่ออสเตรเลีย ที่ถูกต้องต้องมีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุอันดับแรกต้องพูดความจริง

สารพิษในน้ำมันดิบที่กระจายอยู่ทั่วทั้งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด นั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ตรวจพบค่าเบนซิน ๓๐-๔๐ ppm สูงกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว (ค่ามาตรฐานไม่เกิน ๗.๖ ppm) จึงเตือนว่า ไม่ควรสัมผัสโดยตรง และไม่ควรอยู่ใกล้ชายหาดเป็นเวลานาน เพราะอาจมีผลกระทบทางเดินหายใจ

ข้อมูลจากนักวิชาการข้างต้นชัดเจนอย่างยิ่งว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงและต้องใช้เวลายาวนานในการแก้ไขเยียวยา สวนทางกับสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงเครือปตท. ไม่ว่าจะเป็น นายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีซี, นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีทีจีซี หรือแม้แต่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) PTT บอกกับสาธารณชนว่า ใช้เวลาไม่นานทุกอย่างก็กลับคืนสู่ปกติ โดยใช้เวลากำจัดคราบน้ำมันให้หมดแค่ 3 วัน 7 วัน หลังจากนั้นไม่น่าจะมีปัญหาต่อสภาพแวดล้อมอย่างที่วิตกกังวลกัน

“สำหรับผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ เชื่อว่าไม่มากนัก เพราะคราบน้ำมันลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ส่วนน้ำมันที่เหลืออีกเล็กน้อยเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่สามารถย่อยสลายเองได้โดยแสงแดด รวมทั้งจุลชีพในน้ำสามารถบริโภคได้” นายไพรินทร์ ออกมาโป้ปดช่วยบริษัทในเครือ

จะมีก็แต่เพียง นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของพีทีทีจีซี เท่านั้น ที่สำนึกต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และออกมาสารภาพบาปว่า "เหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนี้ บริษัทขอรับผิดและขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม และยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท โดยบริษัทยืนยันว่าจะรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูเยียวยาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว"

อย่างไรก็ตาม หากพีทีทีจีซี ต้องการไถ่บาปจริงจำเป็นต้องละทิ้งนิสัยถาวรเรื่องหลอก ลวง แหล ให้ได้เสียก่อน โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ว่า จะให้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ อย่างที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงาน วางตัวเอาไว้แต่ต้น เพราะหากเป็นคนในเครือปตท.สอบคนกันเองผลก็คงจะออกมาทำนองช่วยกันปกปิดความจริงแทนที่จะได้ความจริง การเปิดให้คนนอกเข้าไปร่วมตรวจสอบและเปิดเผยผลสอบต่อสาธารณะ จึงจะพิสูจน์ว่า เครือปตท.คู่ควรแก่รางวัลธรรมาภิบาลที่ได้รับ

รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากพีทีทีซีจี ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กรมทรัพยากรทางทะเล ฯลฯ จะเร่งสำรวจความเสียหายว่าเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อพีทีทีจีซี

ขณะเดียวกัน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบก็เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะชุมชนประมงที่พึ่งพาท้องทะเลเป็นแหล่งทำมาหากิน รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สูญเสียรายได้เบื้องต้นนับร้อยล้าน

ขณะที่ความเสียหายมหาศาลยังประเมินค่าไม่ได้ในขณะนี้ รมว.พลังงาน นายพงษ์ศักดิ์ กลับสวมบทเป็นทนายหน้าหอเครือปตท.ออกมาขอร้องว่า อย่าฟ้องเลย ใช้วิธีเจรจากันดีกว่า ทำตัวปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทแทนที่จะปกป้องทรัพยากรของชาติและช่วยเหลือโอบอุ้มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

จับตาดูให้ดี พีทีทีซีจี ที่มีรายได้หลายแสนล้านต่อปี จะยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน หรือจะใช้เล่ห์กลสารพัดเหมือนอย่างที่พีทีทีอีพี ออสเตรเลีย ในเครือปตท. ประพฤติปฏิบัติจนถูกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอินโดนีเซีย กล่าวหาว่าพีทีทีอีพี ติดสินบนเพื่อปกปิดผลกระทบน้ำมันรั่ว






กำลังโหลดความคิดเห็น