xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปตท.ใหญ่คับฟ้า ทำผิดรัฐไม่ฟ้อง !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัชชาติ สิทธิพันธ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คำกล่าวของ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ที่บอกว่า คณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2545 เท่ากับว่า 11 ปีแล้ว ที่คณะกรรมการชุดนี้มีสภาพไม่แตกต่างจากบ้านร้างที่เต็มไปด้วยหยักไย่

ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า 11 ปีที่ผ่านมา ทะเลไทยปลอดภัยดีไม่เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลเลยใช่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะจากปี 2546-2556 มีการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลถึง 92 ครั้ง แต่ทำไม กปน. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดทำแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ กลับไม่เคยเรียกประชุมเลย

ราวกับว่าไม่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลอันก่อให้เกิดอันตรายต่อท้องทะเล กระทบห่วงโซ่อาหารที่อาจกลายเป็นแหล่งสะสมของสารก่อมะเร็ง ทำให้คนไทยตายผ่อนส่งได้โดยที่ไม่รู้ตัวเพราะความมักง่าย

แม้ว่าเหตุน้ำมันรั่วไหลส่วนใหญ่อาจมีปริมาณที่ไม่มากนัก แต่ก็มีหลายครั้งที่การรั่วไหลมีปริมาณมาณระดับ 20,000 ลิตรขึ้นไป จนกระทั่งครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ 27 ก.ค.56 ที่ทางบริษัท พีทีที โกลบอล อ้างว่ารั่วไหล 50,000 ลิตร ถ้าหากไม่มีปัญหา“ทะเลสีดำ”เกิดขึ้น คนไทยแทบจะไม่ได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้เลย ทั้งๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนที่กินอาหารทะเล เนื่องจากน้ำมันมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งและอาจจะไปสะสมอยู่ในสัตว์ทะเลที่มนุษย์บริโภค

ปัญหาจึงอยู่ที่ความย่อหย่อน ขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ไม่มีการตื่นตัวต่อภัยที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงทำให้ภาครัฐไม่สนใจที่จะดูแลทั้งคุณภาพชีวิตของคน และการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อดูสถิติของกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับบริษัทที่ก่อให้เกิดมลภาวะยิ่งน่าเศร้าใจ เพราะมีการดำเนินการทางกฎหมายน้อยมาก โดยในปี 2546 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำ และทะเลรวม 9 ครั้ง โดยไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดมลภาวะแต่อย่างใด

ในปี 2547 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 10 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 2 ครั้ง คือ วันที่ 6 ก.พ. 47 น้ำมันเตารั่วไหล 9 ตัน หรือประมาณ 9 พันลิตร ไหลลงสู่คลองผดุงกรุงเกษม และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือสี่พระยา กทม. จากความประมาทของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหัวเฉียว (ยศเส) ทำน้ำมันล้นถังเก็บ และรั่วไหลลงสู่คลอง และแม่น้ำเจ้าพระยา มีการแจ้งความดำเนินคดีและปรับตามกฎหมาย 7 พันบาท

ปี 2548 เกิดเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันถึง 10 ครั้ง มีการดำเนินการทางกฎหมายเพียงครั้งเดียว คือเหตุการณ์วันที่ 20 พ.ย. 48 น้ำมันดิบรั่วไหล 20 ตัน หรือราว 20,000 ลิตร ที่บริเวณทุ่นผูกเรือ SBM ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีสาเหตุมาจากขณะทำการสูบถ่ายมีคลื่นลมแรงมาก จึงเกิดแรงดึงขึ้นที่ท่ออ่อนซึ่งเชื่อมระหว่างเรือและทุ่นผูกเรือ เป็นเหตุให้อุปกรณ์นิรภัยทำงาน แยกท่ออ่อนออกจากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อขาดทำให้น้ำมันเตารั่วไหลลงสู่ทะเล

โดยในครั้งนั้น กรมการขนส่งทางน้ำ กองทัพเรือ และกลุ่มอนุรักษ์ (IESG)ร่วมปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันใช้เวลาปฏิบัติงาน 4 วัน และมีการแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง โดยมีการชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ระบุว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ปี 2549 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 15 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 4 ครั้ง และทุกครั้งก็เป็นเพียงแค่การแจ้งความเป็นหลักฐานต่อสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีการระบุถึงการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมว่าได้ข้อยุติอย่างไร

ปี 2550 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 12 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 1 ครั้ง โดยสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 6 (สมุทรปราการ ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

ปี 2551 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน 7 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีเพียงแค่ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงแค่การแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ปี 2552 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 7 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

ปี 2553 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 8 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ปี 2554 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 2 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ปี 2555 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 6 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า ความตื่นตัวของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำที่สุด ทำให้บริษัทเอกชนที่สร้างมลภาวะทางน้ำและทางทะเลลอยนวล สบายตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ

แต่กลายเป็นคนไทยที่ต้องแบกรับภาระแทน เพราะหน่วยงานรัฐต้องใช้งบประมาณไปดำเนินการขจัดคราบน้ำมันเหล่านั้น แถมยังเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งจากสัตว์น้ำที่บริโภคเข้าไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

สังคมไทยจึงต้องตื่นตัวลุกขึ้นมารักษาสิทธิความปลอดภัยของตัวเอง และสิทธิในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการกระตุ้นให้ กปน. ที่ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547

เพราะในขณะนี้มีขบวนการหมกเม็ดช่วย ปตท. ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการขจัดคราบน้ำมันกลางทะเลทันทีที่เกิดการรั่วไหล ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ กปน. แต่เรากลับไม่เห็นบทบาทดังกล่าวต่อกรณีนี้เลย

มีแต่บริษัทพีทีที โกลบอล บริษัทลูกของ ปตท. ออกมาให้ข่าวอย่างอิสระ โดยไม่ปรากฏว่ามีหน่วยปฏิบัติการของ กปน. เข้าไปมีส่วนร่วม จนกระทั่งเกิดคราบน้ำมันไหลเข้าอ่าวพร้าว จนทะเลกลายเป็นสีดำ เราจึงเริ่มได้เห็นการขยับจากหน่วยงานราชการคือ กรมเจ้าท่า และกองทัพเรือ

ส่วนฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้บริหารหายหัวไปไหน ไม่มีใครรู้ โผล่กันมาอีกทีก็ช่วงที่ปัญหาบานปลายแล้ว แถมคนที่รู้ตัวช้าที่สุดว่าเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของตัวเองคือ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมว.คมนาคม ที่เพิ่งจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ในวันที่ 30 ก.ค.56 หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลแล้วถึง 4 วัน แถมยังเป็นการพูดเพื่อปกป้อง ปตท. มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วย

“กรมเจ้าท่า ไม่ใช่หน่วยงานที่ต้องเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งกรมเจ้าท่า เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจตรา ดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ รวมไปถึงทะเลภายในน่านน้ำไทย ส่วนเรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่า บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) คงจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ด้านเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า”

คำถามคือ ถ้าอย่างนั้นหน่วยงานไหนที่จะเป็นผู้ฟ้อง บริษัท พีทีที โกลบอล จากหายนะทางทะเลครั้งนี้ ถ้าชัชชาติ ไม่รู้ ก็ขอแนะนำให้ไปอ่านระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ให้ละเอียดอีกครั้ง แต่ดูแล้วอาจไม่มีเวลา เพราะน่าจะยุ่งอยู่กับการผลักดันเงินกู้ 2 ล้านล้าน หนี้ข้ามชาติตามใบสั่งสร้างหนี้ประชาชน ทำกำไรให้ตระกูลชินอยู่ จึงขอบอกให้เอาบุญว่า กปน.ที่ท่านเป็นประธานนั่นแหละ ต้องเป็นผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติและประชาชน

เพราะอำนาจหน้าที่ของ กปน. ตามระเบียบฯ ข้อ 10 (5) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันและค่าเสียหายที่เกิดจากมลพิษของน้ำมัน วันนี้ ชัชชาติ เตรียมที่จะดำเนินการแล้วหรือยัง ?

ระเบียบฯข้อ 10 (7) เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หมายถึงว่าเมื่อ กปน.ได้ประเมินค่าใช้จ่าย และความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องไปเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อมลพิษ

ถ้าชัชชาติ ไม่ทำก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจถึงขั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ของตัวเองแต่ปล่อยให้ ปตท.จัดการทุกอย่างสบายแฮ แม้กระทั่งการปกปิดข้อมูลปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันที่มีการออกมาท้วงติงว่าไม่น่าจะเป็น 50,000 ลิตรตามที่กล่าวอ้าง แต่อาจสูงถึงหลักแสนลิตรขึ้นไป

หลังจากนี้ทะเลอาจกลับมาใสเหมือนเดิม ชายหาดขาวไร้คราบ แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ชีวิตของคนไทยที่อาจสั้นลงโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะมีรัฐบาลใจด้านที่ไร้ความรับผิดชอบต่อประชาชนโดยสิ้นเชิง



กำลังโหลดความคิดเห็น