xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ปตท. ต้องทบทวนแผนฉุกเฉินการป้องกัน และแก้ไขกรณีเกิดน้ำมันรั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ ปตท. ต้องทบทวนแผนฉุกเฉินสำหรับการป้องกัน และแก้ไขกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเล ทำไว้ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงในภาคสนาม พร้อมแนะรัฐบาลต้องหันกลับมามองว่าประชาชนในจังหวัดระยอง เป็นผู้ที่เสียสละให้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ มีความเสี่ยงต่อชีวิต และอาชีพ

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เผยว่า กรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบปริมาณ 50000-70000 ลิตร ลงสู่ทะเลของกลุ่มบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จนทำให้ไม่สามารถควบคุม และจัดเก็บได้ และทะลักเข้าสู่ชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด กระทบต่อสภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวเสียหายอย่างมหาศาล

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการเก็บกวาดคราบน้ำมันยังมีความล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์ และแผนฉุกเฉินสำหรับการป้องกัน และแก้ไขกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเลจำนวนมากที่ได้จัดทำไว้ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงในภาคสนาม

คำถามที่ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตคือ ในเมื่อ ปตท.เป็นสมาชิกของสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ มีการลงทุนในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันทั้งในส่วนของแต่ละบริษัท และในส่วนกลางรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และได้จัดให้มีการฝึกซ้อมปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันขนาดใหญ่ตามแผนป้องกัน และขจัดมลพิษเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ร่วมกับกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ 3 ปี แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงทำไมการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างล่าช้า ต้องไปพึ่งประเทศสิงคโปร์ จนคราบน้ำมันทะลักเข้าสู่ชายหาดของสถานที่ท่องเที่ยวเช่นเกาะเสม็ด

นอกจากนี้ การกำจัดคราบน้ำมันโดยพ่นสารเคมี (Oilspill Dispersant) ลงบนผิวน้ำมันให้น้ำมันแตกตัวกระจายเป็นหยดเล็กๆ และช่วยป้องกันการรวมตัวของหยดน้ำมัน โดยต้องรีบกระทำก่อนที่คราบน้ำมันจะมีความหนืดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสารเคมีลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oilspill Dispersant) ยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีสารตกค้างเนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำการติดตามตรวจสอบและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเลต่อไป

รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างละเอียด ว่า บริษัทพีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ดำเนินการบกพร่องเรื่องอะไรบ้าง กรณีที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร การประเมินมูลค่าความเสียหายมากน้อยเท่าไหร่ การปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขการอนุญาตของกรมเจ้าท่าครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งต้องเผยแพร่ผลการสอบสวนอย่างละเอียดให้สาธารณชนรับทราบทั้งหมด

นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมากล่าวโทษ และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยาจากกลุ่มบริษัทพีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ทะเลครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเลที่จังหวัดระยองค่อนข้างมาก รวมทั้งการเกิดอุบัติภัยต่างๆที่ผ่านมา เช่น โรงงานอุตสาหกรรมระเบิด ไฟไหม้ สารเคมีรั่ว รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ รัฐบาลต้องหันกลับมามองว่าประชาชนในจังหวัดระยอง เป็นผู้ที่เสียสละให้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ มีความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนอาชีพต่างๆ

ดังนั้น จึงควรเสนอให้มีจัดกองทุนประกันความเสี่ยงในเรื่องอุบัติภัยดังกล่าวให้แก่ประชาชนจังหวัดระยอง โดยเป็นกองทุนที่สามารถนำเงินมาชดเชย และฟื้นฟูกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น