xs
xsm
sm
md
lg

คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ภาพของคราบน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลทะลักออกสู่ทะเลประมาณ 50 - 70 ตัน แผ่เป็นวงกว้างห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ที่สื่อมวลชนนำเสนอในค่ำของวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนในสังคมไทยไม่น้อย กองทัพเรือภาคที่ 1 สนับสนุนใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวนดู พบว่าทิศทางของคราบน้ำมัน และคาดว่าคราบน้ำมันอาจจะไปขึ้นบริเวณชายหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ในอีก 2-3 วันนี้ มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในทะเลในครั้งนี้ จะมีการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ในทางวิชาการแนวทางในการกำจัดคราบน้ำมัน มีการกำหนดวิธีการเอาไว้ 3 แนวทางคือ

1. ใช้บูมกั้น (Boom เป็นทุ่นลอยน้ำยาวๆ) เพื่อหยุดการรั่วไหล หรือปิดล้อมไม่ให้คราบน้ำมันแผ่กระจาย แต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ทางนายพรเทพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บอกกับผู้สื่อข่าวว่าได้ใช้บูมกั้นยาว 200 เมตร กำจัดวงการแพร่กระจายคราบน้ำมัน แต่ปัญหานี้อยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่าที่เปิดเผยว่า “ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งมีหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเรือกว่า 10 ลำ ออกขจัดคราบน้ำมันที่รั่วบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคาดว่ามีปริมาณน้ำมันที่รั่วลงทะเลประมาณ 50-70 ตัน ซึ่งคราบน้ำมันลอยอยู่บนผิวน้ำมีความกว้างประมาณ 5 ไมล์ ยาว 1.5 ไมล์”ดังนั้นการใช้บูม ( Boom) กั้นแค่ 200 เมตรในครั้งนี้ จึงแทบจะไม่มีความหมายใดๆ ในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วยวิธีดังกล่าว

2. ใช้ปั๊มที่เรียกว่าเครื่อง Skimmer (เป็นเครื่องสูบน้ำแบบลอยได้) ทำการสูบถ่ายคราบน้ำมันที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำแล้วเก็บไว้บนเรือ อุบัติเหตุในครั้งนี้เราไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสคลื่นและลมแรงจัด ซึ่งก็สอดคล้องกับที่นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หน.กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่า ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ช่วงที่เกิดน้ำมันรั่วเป็นช่วงที่มีคลื่นลมแรงความเร็วลม 18 นอต การจะวางทุ่นเพื่อเก็บคราบน้ำมันทำไม่ได้” คำถามจึงมีอยู่ว่าเรากำลังกำจัดคราบน้ำมันครั้งนี้โดยวิธีไหน

3. ใช้ Oil Dispersant คือการฉีดพ่นน้ำยากำจัดคราบน้ำมันโดยทางเรือ หรือทางเครื่องบิน เพื่อทำให้น้ำมันแยกเป็นอณูเล็กๆ เพื่อให้จุลินทรีย์ในทะเลเป็นตัวย่อยสลายซึ่งก็ต้องอาศัยแสงแดดที่จ้าพอสมควร ซึ่งนายพรเทพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้ปิดวาล์วหยุดการส่งน้ำมันทันที และใช้เรือฉีดพ่นยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 4 ลำ พร้อมน้ำยาขจัดคราบน้ำมันจำนวน 35,000 ลิตร จากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ลำ พีทีที โกลบอล 1 ลำ และเรือสนับสนุน SC Management จำนวน 3 ลำ เพื่อวิ่งวนให้น้ำมันทำปฏิกิริยากับน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน

นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หน.กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่า อธิบายว่า “วิธีการดำเนินการขจัดคราบน้ำมันโดยการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นหยดขนาดเล็กกระจายลงไปในน้ำ ผ่านขบวนการย่อยสลายของแบคทีเรียในทะเลก่อนเป็นอาหารสัตว์ทะเล วิธีที่สองคือเก็บน้ำมันขึ้นมา แต่จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่สภาพคลื่นลม ช่วงที่เกิดน้ำมันรั่วเป็นช่วงที่มีคลื่นลมแรงความเร็วลม 18 นอต การจะวางทุ่นเพื่อเก็บคราบน้ำมันทำไม่ได้ การใช้สารเคมีกระตุ้นให้น้ำมันแตกตัวเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์” แต่การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน (Oil Dispersant) คือการใช้สารเคมีซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวประเภทเดียวกับสบู่ ตัวสารจะทำให้คราบน้ำมันกระจายตัวออกเป็นอณูเล็กๆ ในห้วงน้ำ และจะจมลงสู่ก้นทะเลก่อนที่จะถึงชายฝั่ง จึงสรุปได้ว่าขบวนการในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลในครั้งนี้ ได้ใช้วิธีการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือคราบน้ำมันที่เกาะตัวกันจากปฏิกิริยาของสารเคมี ซึ่งจะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ จะถูกลมซัดเข้าชายฝั่ง ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็จะตามมาไม่ว่าการทำให้หาดทรายชายฝั่งสกปรกเต็มไปด้วยคราบน้ำมันก็จะเกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขบวนการขุดเจาะหรือขนถ่ายน้ำมันแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เพราะก่อนหน้านี้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือบรรทุกน้ำมัน เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วไหล ล้วนได้สร้างความเสียหายจนไม่อาจประเมินค่าได้ หลายๆ ครั้งที่คราบน้ำมันกระจายไปทั่วทะเลและชายหาด ทำให้เกิดภาพที่น่าสลดหดหู่ เช่น นกและซากนกที่มีน้ำมันอาบไปทั้งตัวเกลื่อนหาด ปลาทะเลที่นอนตายอยู่บนชายฝั่ง

ขณะที่คนงานที่ทำหน้าที่กำจัดคราบน้ำมันพบว่ามีจำนวนหนึ่งมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ และเจ็บหน้าอก จากผลกระทบของสารเคมีจำนวนมากที่ใช้ขจัดคราบน้ำมันสะสมอยู่ในร่างกาย รวมถึงการตรวจพบโลหะและโลหะหนักตกค้างในสัตว์ทะเลที่นำมาจากแหล่งน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ซึ่งพบว่ามีการตรวจพบโลหะหนักจำนวนมาก บางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โลหะบางชนิดไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็งแต่ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น สารปรอททำลายระบบประสาท โดยเฉพาะทารกในครรภ์ถ้าได้รับสารปรอทจะทำให้มีสติปัญญาต่ำ มีพัฒนาการต่ำกว่าอายุจริง

ปรากฏการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วลงทะเลกินอาณาบริเวณกว้างในทะเลระยองครั้งนี้ เราได้เห็นสื่อ หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่ากองทัพเรือที่สนับสนุนใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวนและเรือของกองทัพออกไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้กับบริษัทเอกชนอย่างแข็งขัน แต่เรายังไม่เห็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคม ออกมาทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

จนถึงวันนี้ยังไม่พบว่ามีองค์กรส่วนท้องถิ่นหรือของรัฐหน่วยงานไหนได้ทำหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษเพื่อเอาผิดกับทางบริษัทที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ไม่ว่าต่อทะเล ต่อพันธุ์สัตว์น้ำหรือต่อหาดทรายชายหาดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ปรากฏการณ์ของคราบน้ำตาที่ไร้ค่าของคนเล็กคนน้อย ก็ต้องซุกอยู่ใต้คราบน้ำมันเสมอ เพราะมูลค่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง.
คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน / บรรจง นะแส
คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน / บรรจง นะแส
เรายังไม่เห็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคม ออกมาทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จนถึงวันนี้ ยังไม่พบว่ามีองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐหน่วยงานไหนได้ทำหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษเพื่อเอาผิดกับทางบริษัทที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ไม่ว่าต่อทะเล ต่อพันธุ์สัตว์น้ำ หรือต่อหาดทรายชายหาดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ปรากฏการณ์ของคราบน้ำตาที่ไร้ค่าของคนเล็กคนน้อย ก็ต้องซุกอยู่ใต้คราบน้ำมันเสมอ เพราะมูลค่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น