xs
xsm
sm
md
lg

จี้ทบทวนนโยบายที่ครอบงำโดยอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรีนพีซ- จากกรณีน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลรั่วไหลลงสู่ทะเลแถบระยองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายด้านพลังงาน และยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

จากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลรั่ว ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (1)

“ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทยในช่วง 30 ปีนี้ ปตท. ควรออกมารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยวของไทย” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (2) ซึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ถ้าการขจัดคราบน้ำมันนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของประเทศไทยที่จะจัดการได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรสากลได้

พลาย ภิรมย์ กล่าวเสริมว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน ทั้งนี้ การขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวของแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทอย่างน้อย 39 บริษัท ที่กำลังดำเนินการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

“การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยมีการจัดการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก เราไม่ควรอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เราก็มีมาตรการในการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนอยู่แล้ว การเริ่มต้นในวงกว้างในเรื่องยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับยานพาหนะทุกประเภทต้องไม่ใช่แค่เพียงเพื่อประหยัดน้ำมันนับล้านๆ บาร์เรล แต่ต้องลดความต้องการใช้น้ำมัน และทำให้การเกิดน้ำมันรั่วไหลน้อยลงด้วย” พลาย ภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติม
 
หมายเหตุ
 
1)      บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในอดีต เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจผลิตและสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลก ทั้งในเมียนมาร์ ออสเตรเลีย (แหล่งผลิตน้ำมันมอนทารา ในทะเลติมอร์) รวมถึงแหล่งผลิตทรายน้ำมันในแคนาดา บริษัท ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 65 ใน ปตท.สผ. คิดเป็นร้อยละ 32 ของธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย บริษัท ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ประกอบธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซใต้น้ำขนาดใหญ่ในอ่าวไทย เป็นเครือข่ายของสถานี LPG ทั่วประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตไฟฟ้า การผลิตปิโตรเคมี การสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจขายส่งน้ำมันเบนซิน บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, พีทีที เอเชีย แปซิฟิก ไมนิง และ ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 
 
2)      รายละเอียดเกี่ยวกับแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ดูได้ที่ http://www.md.go.th/asean-ospar_files/national_plan_new.pdf







คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน / บรรจง นะแส
คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน / บรรจง นะแส
เรายังไม่เห็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคม ออกมาทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จนถึงวันนี้ ยังไม่พบว่ามีองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐหน่วยงานไหนได้ทำหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษเพื่อเอาผิดกับทางบริษัทที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ไม่ว่าต่อทะเล ต่อพันธุ์สัตว์น้ำ หรือต่อหาดทรายชายหาดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ปรากฏการณ์ของคราบน้ำตาที่ไร้ค่าของคนเล็กคนน้อย ก็ต้องซุกอยู่ใต้คราบน้ำมันเสมอ เพราะมูลค่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น