เอเอฟพี - หลังจากเกิดเหตุการณน้ำมันดิบรั่วจากท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอลฯในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางการไทยได้มีความพยายามที่จะกำจัดคราบน้ำมันที่ไหลทะลักเข้าเต็มหาดที่เกาะเสม็ดที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยประสานงานไปยังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินให้เข้ามาดำเนินการจัดการคราบน้ำมันในครั้งนี้
จากการรายงานข่าว คาดว่าน้ำมันดิบประมาณ 50,000 ลิตรได้รั่วจากท่อส่งน้ำมันลงทะเลในวันเสาร์(27)ที่ผ่านมา โดยห่างจากฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร หรือ 12 ไมล์ ของจังหวัดระยองซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของไทย พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯเผย
น้ำมันดิบที่รั่วได้มาถึงหาดอ่าวพร้าวบนเกาะเสม็ดซึ่งทหารเรือนับร้อยนาย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาพันธ์สัตว์ป่า พนักงานของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอลฯ และชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นแข่งกับเวลาในการขจัดคราบน้ำมัน
“การปนเปื้อนครั้งนี้ครอบคลุมเนื้อที่กว่า300 เมตร หรือ 990 ฟุตของชายหาด ซึ่งมันก็หนักเอาการ” สุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด เผยกับเอเอฟพี
และนอกจากนี้ พนักงานแผนกต้อนรับของโรงแรมหาดอ่าวพร้าวรีสอร์ทได้ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า “แขกที่มาพักที่โรงแรมต่างพากันทยอยกันเช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรม”
โดยพนักงานต้อนรับที่อยู่โรงแรมไม่ห่างจากโรงแรมหาดอ่าวพร้าวรีสอร์ทได้เสริมว่า “มีคราบน้ำมันอยู่เต็มหาด เราต้องยอมรับมัน ตอนนี้มันก็โกลาหลกันอยู่ มีคนจำนวนมากรวมทั้งทางเจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันจัดการกับเรื่องนี้อยู่”
โดยในแถลงการในวันอาทิตย์(28) ที่ออกโดยพีทีที โกลบอล เคมิคอลฯที่มีรัฐบาลไทยมีส่วนถือหุ้นเป็นเจ้าของอยู่นั้น กล่าวว่ามีการใช้เรือ 10 ลำในกระบวนการกำจัดคราบน้ำมันในครั้งนี้ และทางบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์วิกฤติการรั่วไหลในครั้งนี้ได้
ทางด้านกลุ่มกรีนพีซได้ออกโรงกระตุ้นให้รัฐบาลไทยระงับการสูบน้ำมันและการสำรวจหาน้ำมันในอ่าวไทย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเกิดปัญหา “การรั่วไหลครั้งใหญ่เกิดขึ้น”
“อ่าวไทยซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย ได้ถูกย่ำยีมานานแล้วจากน้ำมันดิบรั่วที่ไหลผ่านตามท่อส่งตามเส้นทางที่บริษัทปิโตรเคมีวางไว้ทั่วอ่าวไทย” เผยจากนักเคลื่อนไหวกลุ่มกรีนพีซ พลาย ภิรมย์
โดยทางกลุ่มกรีนพีซได้ยืนยันว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทยมานานกว่า 30ปีแล้ว
“นี่เป็นการรั่วของน้ำมันดิบครั้งที่ร้ายแรงมากของจังหวัด” ภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ. ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที 1 และเสริมต่อไปว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนเกาะเสม็ด”
บรรดานักอนุรักษ์ต่างให้ความห่วงใยในทั้งผลกระทบในการรั่วไหลน้ำมันต่ออ่าวไทยและผลกระทบที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการกำจัดการปนเปื้อนคราบน้ำมันในครั้งนี้
“แหล่งทรพยากรธรรมชาติหลักที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แนวประการังและแหล่งห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ” ศรีสุวรรณ จรรยา ประธานของกลุ่มต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว
จากที่ผ่านมา พีทีที โกลบอล เคมิคอลฯเคยประสบปัญหาเกี่ยวข้องกับการรั่วไหลน้ำมันครั้งใหญ่ขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลียในปี 2009 ซึ่งถือเป็นการรั่วไหลครั้งใหญ่เท่าที่ออสเตรเลียเคยประสบมา