กรมเจ้าท่าขีดเส้น “พีทีที โกลบอลฯ” กำจัดคราบน้ำมันในอ่าวพร้าวให้หมดใน 3 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยอง “พ้อง” รมช.คมนาคมลงพื้นที่สั่งเร่งกำจัดคราบน้ำมัน
นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานกรมเจ้าท่าจังหวัดระยอง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกำจัดคราบน้ำมันที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (30 ก.ค.) กรมเจ้าท่าได้เชิญ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) มาชี้แจงถึงความคืบหน้าในการกำจัดคราบน้ำมัน รวมถึงความชัดเจนของแผนและระยะเวลาในการจะดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันร่วมกัน ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการตามแผนขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ โดยได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 400-500 นายกำจัดคราบตลอดทั้งคืน และจากสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นคราบน้ำมันได้ครอบคลุมพื้นที่อ่าวพร้าวประมาณ 70% ซึ่งได้กำชับ บริษัท พีทีที โกลบอลฯ ให้ดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันให้หมดไปภายใน 3 วัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของกรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไม่ให้คราบน้ำมันขยายไปสู่เกาะอื่นๆ ซึ่งขณะนี้คราบน้ำน้ำมันยังอยู่ในอ่าวพร้าว ยังไม่มีการกระจายไปยังเกาะเสม็ด และเกาะกูดี
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น กรมเจ้าท่าจะรวบรวมรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายใน ซึ่งเบื้องต้นต้องมีการเรียกร้องความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชายหาดต้องได้รับการฟื้นฟู พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ โดยเบื้องต้นกรมเจ้าท่าได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.มาบตาพุด หากมีความผิดจริงจะมีโทษทาง พ.ร.บ. เดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 109 ทวิ โทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
และเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 กรกฎาคม นายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการแก้ไขสถานการณ์คราบน้ำมันรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว จังหวัดระยอง โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาระยอง (จภ.6 (รย.)) ได้รับแจ้งจาก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (PTT-GC) ว่าเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเล ซึ่งเป็นท่อที่ต่อกับทุ่นผูกเรือ SPM นอกท่าเรือมาบตาพุดสำหรับถ่ายน้ำมันดิบจากเรือใหญ่เข้าโรงกลั่น ห่างฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เกิดรั่ว มีปริมาณน้ำมันที่คาดว่าลงทะเลประมาณ 50-75 ตัน หน่วยงานต่างๆ ได้ระดมกำลังปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ โดยมีเรืออนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม/เรืออนุรักษ์อ่าวไทย ของ IRPC ทำการฉีดน้ำยา dispersant ในที่เกิดเหตุ เก็บคราบน้ำมันไปได้บางส่วน นอกจากนั้นยังมีเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 803 เรือยูนิไวท์ระยอง ของมาบตาพุด เรือหลวงบางปะกง เรือ ต.82 เรือแสมสาร ของกองทัพเรือร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่
ส่วนเรือขจัดคราบน้ำมันเด่นสุทธิของกรมเจ้าท่า ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางร่วมฝึกซ้อมแผนป้องกันและขจัดคราบน้ำมันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 โดยมีเรือทั้งหมด 7 ลำร่วมปฏิบัติการ (เรือเจ้าท่า 803, เรือขจัดคราบน้ำมันเด่นสุทธิ, เรือU NIWISE RARONG, RS32, RS33, เรือหลวงแสมสาร, เรือหลวงบางปะกง
โดยในช่วงเช้าของวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ขจัดคราบน้ำมันไปได้ 50% ทิศทางมุ่งหน้าเข้าหาฝั่ง ลักษณะคราบน้ำมันอยู่บนผิวน้ำดำๆ บางๆ เป็นริ้วๆ จากนั้นศูนย์ปฏิบัติการ ปตท. มีผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ ปตท. กรมเจ้าท่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนการดำเนินการ โดยใช้เครื่องบิน C130 บรรทุกสารเคมีขจัดคราบน้ำมันทำการบินเพื่อโปรยสารเคมีให้น้ำมันแตกกระจาย และใช้เรือทุกลำขจัดคราบน้ำมันและทำการลากบูมรวมกันประมาณ 1,200 เมตร โดยมีเรือเด่นสุทธิคอยขจัดคราบน้ำมันมิให้ขึ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมเจ้าท่าได้ร่วมดำเนินการขจัดคราบน้ำมัน โดยมีเรือเด่นสุทธิขจัดคราบน้ำมันกับบริษัท พีทีที โกลบอลฯ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของน้ำมันไปสู่บริเวณอื่น ส่วนบนชายฝั่ง ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในการดำเนินการขจัดคราบน้ำมันร่วมกับหน่วยราชการของจังหวัดระยอง อีกทั้งยังให้เรือตรวจการณ์เจ้าท่า 803 ดำเนินการตรวจตราเฝ้าระวัง ค้นหาคราบน้ำมันในบริเวณใกล้เคียง ศูนย์ควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล ติดตามคราบน้ำมันในทะเล พร้อมทั้งออกประกาศแจ้งเตือนชาวเรือให้ระมัดระวังในการเดินเรือ ด้านฝั่งบริเวณเกาะเสม็ด จภ.6 (รย.) จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงที่อาจเกิดคราบน้ำมัน พร้อมทั้งประสานกองทัพเรือขอรับการสนับสนุนอากาศยานตรวจการณ์ และเรือตรวจการณ์ 803 ปฏิบัติภารกิจเคลื่อนย้ายกำลังพลจากฝั่งบ้านเพมายังพื้นที่เกาะเสม็ด
สำหรับปัญหาอุปสรรคระหว่างดำเนินการ การเคลื่อนย้ายกำลังพล และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ กระทำได้ล่าช้าเนื่องจากสภาพพื้นที่เกิดเหตุมีความยากลำบากต่อการเดินทางและการเข้าถึง พร้อมมีสภาพคลื่นลมแรงเป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บคราบน้ำมัน
ส่วนการดำเนินการในวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 บริษัท พีทีที โกลบอลฯ ได้ส่งรถ Truck Pump ความจุ 7,000 ลิตร เริ่มปฏิบัติการดูดคราบน้ำมันในทะเลตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 จนถึงเช้าวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมขยะปนเปื้อน โดยขนย้ายจากชายหาดไปเก็บไว้ที่ลานเก็บของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม หมู่เกาะเสม็ด