xs
xsm
sm
md
lg

“เพ้ง” ดูคราบน้ำมันอ่าวพร้าว อ้างกระทบท่องเที่ยวแค่ 5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจคราบน้ำมัน อ่าวพร้าว
ระยอง - รมว.พลังงาน ยกคณะดูคราบน้ำมันอ่าวพร้าว อ้างกระทบท่องเที่ยวเกาะเสม็ดแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ หาดอื่นยังเที่ยวได้ปกติ วอนสื่ออย่ากระพือข่าว ด้านนักวิชาการเผยทุก 2-5 ปี มีน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ ติงควรมองปัญหาระยะกลาง-ยาวให้รอบคอบ สารเคมีสลายคราบบางชนิดผสมน้ำมันแล้วเป็นอันตราย

วันนี้ (30 ก.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ในเครือ ปตท. นายอานนท์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC นายบวร วงษ์สินอุดม ประธาน PTTGC นายชูชาติ อ่อนเจริญ ผู้อำนวยการ ททท.ภาคกลาง เขต 4 นายมาโนช โอสถเจริญ หัวหน้าประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง ลงพื้นที่บริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด ที่มีชายหาดยาว 400-500 เมตร และยังมีคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของ PTTGC อยู่เต็มพื้นที่ พร้อมกับได้ตรวจสอบผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่ง ปตท. พร้อมชดเชยเยียวยาให้ และมั่นใจว่า การกำจัดคราบน้ำมันจะแล้วเสร็จภายใน 3 วัน เนื่องจาก ปตท.ได้นำเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ มาดำเนินการอย่างเต็มที่ ล่าสุด มีเครื่องฉีดน้ำทำความสะอาดกำจัดคราบน้ำมันตามซอกหิน รวมทั้งการแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวในการประชุมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดคราบน้ำมันดิบที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ว่า ตนเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะเกาะเสม็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจสอบภาพรวมการกระจายของคราบน้ำมัน ส่งผลกระทบเฉพาะแค่อ่าวพร้าว หรือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกาะเสม็ดเท่านั้น ส่วนชายหาดอื่นๆ ยังมีนักท่องเที่ยวตามปกติ จึงอยากวิงวอนสื่อมวลชน หากจะนำเสนอข่าวอะไรให้นึกถึงภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

นอกจากนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ได้กำชับให้ ปตท.ใช้แผนฉุกเฉินระดับ 2 ในการแก้ปัญหากำจัดคราบน้ำมันดิบ ด้วยการประสานประเทศสิงคโปร์เข้ามาช่วยโดยเร่งด่วน รวมทั้งต้องมีการเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ด้าน รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยาการทางน้ำ กล่าวว่า จากสถิติ 2-5 ปี จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในเมืองไทย อีกทั้งระยอง เป็นจุดที่มีกิจกรรมด้านการขนส่งน้ำมันมากที่สุด จึงต้องติดตามข้อมูลให้ชัดเจน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ปัญหาระยะสั้นเท่าที่ทำได้ แต่ผลที่น่าห่วงคือ ปัญหาระยะกลาง และระยะยาว ที่ยังมองไม่เห็นซึ่งจะเกิดผลกระทบมากต้องดูให้รอบคอบ รวมถึงการเยียวยาด้วยต้องดูให้ชัดเจนเพราะผู้ได้รับผลกระทบมีมาก อีกทั้งยังไม่รวมศูนย์แก้ปัญหา

“ในเมืองไทยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาก ทำอย่างไรที่จะให้บูรณาการร่วมกันได้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการเมื่อเกิดปัญหาให้ดีขึ้นกว่านี้ โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ไปรับมือแก้ไข” รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการสลายคราบน้ำมันด้วยสารเคมีนั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เพราะมีรายงานว่า สารเคมีบางอย่างถ้านำมาใช้แต่เมื่อผสมกับน้ำมันอาจจะเกิดอันตรายได้
รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจคราบน้ำมัน อ่าวพร้าว เพื่อเห็นสภาพที่เกิดขึ้น
เจ้าหน้าที่ระดมกำลังจัดเก็บอย่างเต็มที่
เจ้าหน้าที่เร่งจัดเก็บคราบน้ำมันบริเวณชายหาดอ่าวพร้าว
เจ้าหน้าที่พบมีปลาตายบริเวณดังกล่าว จึงได้เก็บเพื่อตรวจพิสูจน์ถึงสาเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น