จากกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่ว ทำให้มีน้ำมันดิบจำนวนมากไหลทะลักแพร่กระจายในทะเลเป็นบริเวณกว้าง ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 18 ก.ม. และคราบน้ำมันได้ถูกคลื่นลมซัดมาติดที่บริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด จนทั้งหาดกลายเป็นสีดำ เจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล จนกระทั่งในวันนี้เริ่มมีคราบน้ำมันแผ่นบางๆ กำลังลอยเข้าปากคลองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง แล้ว
ทั้งนี้หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดระยอง เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติบนเกาะเสม็ดต่างทยอยเก็บข้าวของเดินทางออกจากที่พักก่อนกำหนด และบางส่วนยกเลิกการเข้าพักเนื่องจากไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้
นายชูชาติ อ่อนเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (ระยอง-จันทบุรี) กล่าวว่า เริ่มมีกรุ๊ปทัวร์ทั้งชาวไทยและยุโรป ยกเลิกการเดินทางมายังเกาะเสม็ดแล้ว ซึ่ง ททท.ก็กำลังรวบรวมรายชื่อทัวร์ที่ยกเลิกอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางพีทีทีฯ เองก็เร่งเก็บคราบน้ำมันเพื่อให้หมดก่อนช่วงสุดสัปดาห์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดกระทบต่อการท่องเที่ยวมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่หากพีทีทีฯ ไม่สามารถขจัดคราบน้ำมันให้หมดก่อนสุดสัปดาห์ที่จะถึง ก็คาดว่าการท่องเที่ยวของระยองจะเสียหายเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในจังหวัดระยองพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีการประมาณการความเสียหายทางการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง กล่าวถึงรายได้จากการท่องเที่ยว จ.ระยอง ว่ามีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท และเป็นรายได้ที่มาจากเกาะเสม็ด 40% ด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้ประเมินว่าจะมีรายได้เติบโต 10-15% แต่หลังจากนี้คงต้องประเมินกันใหม่
ด้าน นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ว่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้เฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้กล่าวว่า “เรื่องนี้เหมือนสื่อมวลชนจะห่วงมากเกินไป เพราะเป็นเรื่องนิดเดียว ผลกระทบกับการท่องเที่ยวก็ไม่น่าจะมาก หากเทียบกับเรื่องของการกวาดล้างมาเฟียที่กำลังจะดำเนินการเอาจริงในวันที่ 5 ส.ค. นี้”
แต่ในวันนี้ นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติภัยที่คาดไม่ถึงว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งต้องให้กำลังใจกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง ให้ประสานกับนักท่องเที่ยวในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวสำรองบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ และจะเน้นแก้ไขปัญหาในเรื่องของผู้ประกอบการ มากกว่าการแก้ภาพลักษณ์ของประเทศ