xs
xsm
sm
md
lg

รมต.จ้อแจงน้ำมันรั่ว กู้อ่าวพร้าวได้ 99% ชี้ปตท.ต้องรับผิด ยันสัตว์น้ำปกติ แต่ต้องสำรวจเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (แฟ้มภาพ)
"พงษ์ศักดิ์" เล่าน้ำมันรั่วในทะเลไม่เกิน 50,000 ลิตร อ้างลมแรงทำฉีดพ่นสารจับตัวไม่อยู่ ขอบคุณทุกหน่วยช่วยขจัด โอ่อ่าวพร้าว 99% แล้ว บอกกระดาษซับมันเผาที่โรงไฟฟ้าปูนซีเมนต์ไทย เข้มถุงไม่ให้แตก "วิเชษฐ์" การันตีพ่นใช้กันทั่วโลก บอกสัตว์น้ำยังปกติ แต่ต้องสำรวจต่อ ชี้ตามหลัก ปตท.ต้องรับผิด ลงพื้นที่พรุ่งนี้ "จารุพงศ์" เผยผู้ว่าฯ ตั้ง กก.เยียวยา เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักเที่ยว

วันนี้ (3 ส.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันกล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยถึงเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วในทะเลของบริษัท PTTGC บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้คราบน้ำมันดิบนั้นกระจายไปที่อ่าวพร้าว ที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง

โดยนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเรือขนถ่ายน้ำมันดิบ ซึ่งปกติเรือจะจอดในทะเลลึก เนื่องจากเรือลำใหญ่ เข้ามาชายฝั่งไม่ได้ และมีทุ่นรับน้ำมันอยู่ ทุ่นรับน้ำมันจะขนน้ำมันจากทุ่นมาท่อขนาด 45 นิ้ว แต่ท่อที่ขนจากเรือน้ำมันลงสู่ทุ่น ขนาด 16 นิ้ว หรือประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งเส้นนี้เกิดระเบิดขึ้นตรงกลาง พอระเบิดน้ำมันจึงเกิดการรั่วไหล มีการระเบิดขึ้น ท่อน้ำมันดูจากภาพของเรือจะระเบิดบริเวณนี้ พอระเบิดก็จะมีวาล์วปิดปล่องหัวท้าย พอปิดน้ำมันในท่อก็จะไหลออกมาระหว่างปิดก็จะไหลออกมา

เมื่อถามว่ามีปริมาณน้ำมันซัดเข้าชายฝั่งกี่หมื่นลิตร นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จำนวนประเมินท่อที่ระเบิดที่เห็นคือท่อที่ระเบิดออกมา แต่มิเตอร์จะใหญ่มาก นี่คือภาพจริงที่ระเบิดออกมา มีรอยของจริงที่ฉีกขาดออกมา ในมิเตอร์ทั้งหมด 16 นิ้ว คำนวณจากหัวท้ายวาล์ว ซึ่งท่อทั้งหมดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ยาวทั้งหมด 270 เมตร คำนวณปริมาณที่มีอยู่ประมาณ 35,000 ลิตร แต่ระหว่างที่วาล์วกำลังปิดอยู่ น้ำมันยังไหลต่อเนื่องประมาณไม่เกิน 50,000 ลิตร นี่คือรอยฉีกขาดที่ระเบิดขึ้น ที่เป็นท่อน้ำมัน พอระเบิดขึ้นเสร็จ ก็จะมีเรือบูมที่มากั้นน้ำมันที่รั่วในทะเล เพื่อไม่ให้กระจายออกไป กั้นเป็นวงรอบก็มีทีมงานจากบริษัทสัมปทานน้ำมันทุกบริษัทร่วมกัน เพราะมีการซ้อมป้องกันภัยแบบนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556

ส่วนบูมที่นำมากั้นไว้เพื่อไม่ให้น้ำมันกระจายออกไปในวงกว้างมากเกินไป นั้น นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือบริเวณน้ำมันที่กระจาย ก็จะนำเรือจะนำบูมมากั้น บูมคือครอบที่กันน้ำแต่ส่วนใต้จะเป็นแผ่นพลาสติกลึกลงไปประมาณ 1.30 เมตร พอกันเสร็จและก็มาฉีดยาหรือพ่นยาเคมี เพื่อให้น้ำมันจับตัวเป็นก้อนและจมสู่ทะเล และเชื้อแบคทีเรียจะมากินที่หลัง

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า สารเคมีที่พ่น เนื่องจากทะเลตอนนั้นคลื่นลมแรงมาก ผิดปกติประมาณ 2-3 เมตร ทำให้น้ำมันไหลออกนอกเขต เกิดการกระจายไปทั่ว จึงต้องใช้เครื่องบิน C130 มาพ่นบริเวณโดยรอบ แต่บางส่วนมีน้ำมันบ้างหรือไม่มีน้ำมันบ้างก็ต้องพ่นคลุมทั้งหมด จึงทำให้ใช้สารเคมีมากกว่าปกติ เพราะมีข้อสงสัยว่าน้ำมันจำนวน 50,000 ลิตร ทำไมต้องใช้สารเคมีขนาดนี้ เพราะเหตุที่เกิดในช่วงคลื่นลมแรงผิดปกติ น้ำมันจึงกระจายไปทั่ว ฉะนั้นการพ่นสารเคมีจึงจะควบคุมทั้งหมด

ด้าน นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า วันที่เกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่ว ซึ่งตนและ นายพงษ์ศักดิ์ ก็ได้ลงไปในพื้นที่แก้ไขปัญหา ต้องเรียนว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทางกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมทั้งบริษัท ปตท. และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้นำเรือ เครื่องบิน ไปฉีดสารเคมีที่จะขจัดคราบน้ำมัน ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้กรมควบคุมมลพิษไปใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และใช้เครื่องบินบินสำรวจ ขณะนี้ที่สำรวจมาอ่าวเพ และปากคลองแกลง ไม่เหลือคราบน้ำมันแล้ว ในส่วนอ่าวพร้าวเหลือเล็กน้อย

เมื่อถามว่า คราบน้ำมันที่เป็นใส ๆ นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า เป็นฟิล์มอยู่บนผิวน้ำ ขณะนี้ไม่เหลือแล้ว เกือบเข้าสู่สภาวะปกติ ผมให้เก็บอากาศมาตรวจสอบ วันนี้ที่ตรวจสอบแล้วก็ไม่มีสารที่ปนเปื้อนอยู่กับในน้ำมันเป็นอัตรายต่อร่างกาย ส่วนสารเคมีที่พี่น้องประชาชนวิตกกังวล สารเคมีที่ขจัดคราบน้ำมันก็จะแตกตัวเป็นตะกอน และตกลงไปในท้องทะเล

เมื่อถามว่าพอตกลงไปในทะเลมีข้อสงสัยว่าจะไปทำลายสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลหรือไม่ ระบบนิเวศ นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า สารตะกอนนี้จะไม่สามารย่อยสลายไปได้ด้วยตัวเอง แต่จะใช้แบคทีเรียและแสงอาทิตย์ในการย่อยสลาย ซึ่งถ้าย่อยสลายไปแล้วก็จะเป็นอาหารของสัตว์ทะเล จะใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับสารเคมีที่ใช้ไป

เมื่อถามว่า จะส่งผลให้แบคทีเรียคือมาจากธรรมชาติโดยตรงหรือไม่ นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า แบคทีเรียจะอยู่ในทะเลอยู่แล้วจะอยู่ประมาณ 2 วัน จะย่อยสลาย ต้องเรียนว่าไม่น่าวิตกกังวลมาก แต่จากนี้ไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะต้องติดตามผลกระทบ ผมให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เวลานี้ได้ส่งนักประดาน้ำ 3 ท่าน ลงไปตรวจสอบน้ำลึกประมาณ 8 เมตร ห่างจากอ่าวพร้าวที่มีปัญหามาก ห่างจากชายฝั่งประมาณ 300 เมตร ขณะนี้ลงไปตรวจปะการังพบว่าปะการัง และยังมีสัตว์น้ำต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นปกติ ในส่วนที่ลงไปตรวจสุ่มยังปกติอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าในส่วนที่ยังไม่ได้ไปตรวจสอบก็จะต้องติดตามต่อไป ได้ตั้งคณะกรรมการเรื่องคณะทำงานติดตามการประเมินสถานการณ์แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบสิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยขอให้มีนักวิชาการ อาจารย์จากสถาบันต่าง ๆ รวมทั้ง ปตท. เข้ามาติดตามสถานการณ์ และจากนี้ไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เรามีคู่มือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน เราดำเนินการอยู่แล้ว และคู่มือประเมินความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติจากคราบน้ำมัน จากนี้ไปก็จะติดตามผลที่จะมีผลกระทบต่อมา

นายวิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ในจุดที่เราสุ่มดูยังมีสภาวะปกติ แต่จุดที่ยังไม่ได้ไปสำรวจ เราก็ต้องติดตามต่อไป เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่า จุดที่ไปตรวจ ขอย้ำอีกทีว่าตรวจจุดไหนบ้างที่มีนักประดาน้ำลงไปดู นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า ตรงอ่าวพร้าวที่มีคราบน้ำมันเข้ามามากที่สุด ก็ยังมีปลาอยู่เป็นปกติ ปะการังยังไม่ได้รับผลกระทบ ขออนุญาตภาพนี้คือภาพล่าสุดเมื่อวานที่ผ่านมา

เมื่อถามว่า ยืนยันว่าได้หรือไม่ว่า ณ วันนี้จุดที่ไปดูคือจุดที่หนักสุดคืออ่าวพร้าวสถานการณ์ไม่ได้มีความรุนแรงเรื่องของสิ่งแวดล้อม นายวิเชษฐ์ กล่าว ว่าวิธีการใช้สารเคมีเป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าปล่อยให้คราบน้ำมันเข้ามาในอ่าวก็ยิ่งหนัก ฉะนั้นวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก

ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทางกองทัพเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ซึ่งได้นำอาสาสมัครประชาชนชาวระยองมาช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตตรงนี้ รวมทั้งคนในพื้นที่เกาะเสม็ดด้วยที่มาช่วยกันทำความสะอาดเก็บคราบน้ำมันดิบ และเจ้าหน้าที่ PTTGC มาช่วยกัน ใส่ชุดขาวมาเก็บคราบน้ำมันกันมาก ซึ่งตลอดเวลาที่ทำมา ทำไมเราทำความสะอาดชายฝั่งโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะถ้านำสารเคมีโรยลงไปจะเกิดตัวน้ำมันดิบ จะเกาะเป็นก้อนและเกาะติดพื้น ปะการังก็จะเอาออกยาก เพราะจะย่อยสลายยาก พออยู่กลางทะเลลึกสารเคมีที่จะเกาะติดน้ำมันจะตกลงมา 2 - 3 เม็ด จากนั้นแบคทีเรยในทะเลจะมากิน กินเสร็จจะเป็นอาหารปลา ซึ่งในชายฝั่งไม่ทำกัน ฉะนั้นจะใช้วิธีในการเก็บโดยใช้มือคน ใช้แรงคน ใช้กระดาษซับ เวลาคลื่นซัดน้ำมันเข้ามาก็นำกระดาษวาง พอซับน้ำมันก็นำกระดาษม้วนเก็บน้ำมันออก และนำกระดาษแผ่นใหม่ลงไปทุก ๆ นาทีที่นำกระดาษวางพอดูดน้ำมันก็นำออก และขณะเดียวกันตรงมุมดังในรูปจะมีน้ำมันดิบเป็นก้อนใหญ่ เรานำรถยนต์ขนมาจากชายฝั่งขนข้ามมาที่เกาะและนำมาดูดน้ำมัน ซึ่งช่วยลดปริมาณได้มากที่สุดที่ใช้เครื่องดูดตรงนี้

เมื่อถามว่า ชายหาดวันแรกที่เห็นข่าว ชายหาดสีดำมาก ดำทั้งหาด ล่าสุดวันนี้เป็นอย่างไร นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่าล่าสุดวันนี้หาดทรายปกติสีขาวและขาวเหมือนก่อน เพราะโขดหินโดนคราบน้ำมันเป็นสีดำ เรานำจุลินทรีย์ไปพ่น จุลินทรีย์ก็จะกินน้ำมันออกทำให้ความดำของเมื่อก่อนทำให้หินขาวสะอาดมากขึ้น และขอยืนยันว่าล่าสุดนี้พื้นที่ชายหาดที่อ่าวพร้าวเริ่มขาว กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 99.9%

ขณะที่ นายจารุพงศ์ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วก็มีประสบการณ์และมีแผนเรื่องของการป้องกันสาธารณภัยอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไปถึงที่เกิดเหตุพร้อมกับคณะ และตั้งกองอำนวยการส่วนหน้า ซึ่งกองอำนวยการส่วนหน้า ประกอบด้วยทุกภาคส่วน เช่น กองทัพเรือ หน่วย ปตท. หน่วยงานสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในจังหวัดทั้งหมดก็มารวมตัวกัน และใช้เวทีที่เกาะเป็นจุดที่ดำเนินการบัญชาการต่าง ๆ อย่างที่ 2 ท่านรัฐมนตรีได้กล่าว แต่หลังจากบรรเทาลงแล้วก็จะต้องมาดูว่าเราจะฟื้นฟูเยียวยาอย่างถาวรได้อย่างไร วันนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานขึ้น ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น เพื่อที่จะประสานคุยกัน และดูว่าการเกิดความเสียหายตรงนี้ ใครเป็นเจ้าของเรื่องบ้าง ใครได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นภาคเอกชนก็แนะนำให้เอกชนยื่นแจ้งความเพื่อที่จะทำไว้เป็นหลักฐานว่าเขาเสียหายอะไรอย่างไร

นายจารุพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนถ้าเป็นภาครัฐก็มีกฎหมายของแต่ละกระทรวง ซึ่งแต่ละกระทรวงก็จะต้องไปคลิกดูทั้งหมด และจะต้องทำเป็นหลักฐานไว้ให้ชัดเจนว่าจะมีแผนในการดูแลบำรุงรักษาเยียวยาอย่างไร ส่วนเป็นภาคของท้องถิ่น เขาจะต้องรับผิดชอบและต้องดูเหมือนกันว่าท้องถิ่นเขามีปัญหาอย่างไร จะขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่รับผิดชอบเข้าไปดูแลเขาได้อย่างไร ทั้งหมดจะเป็นรูปธรรม และจะมีคณะกรรมการ 3 ฝ่ายพูดคุยกัน มองทั้งด้านเกี่ยวกับภาครัฐทั้งหมด ภาคเอกชนทั้งหมด ประชาชนทั้งหมด และรวมทั้งองค์กรกลางที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง และมองไปถึงการท่องเที่ยวในเรื่องของนานาประเทศด้วย ที่เขามองมาที่เรา แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นศูนย์ในการรับเรื่องทั้งหมด และจะเป็นศูนย์กลางในการที่จะรับดูแลเรื่องความเสียหายต่าง ๆ ที่จะต้องรู้อย่างเป็นตัวเลข และจากนั้นก็วางเป็นระบบขึ้นมาต่อไป

เมื่อถามว่า นักท่องเที่ยวไม่มาในช่วงเวลานี้จะไปร้องเรียนได้กับใคร และเรียกร้องความเสียหายได้อย่างไร นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ที่เราตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อให้เข้ามาร้องเรียน ร้องเรียนแล้วคณะทำงานชุดนี้จะช่วยดู และหาทางให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ

เมื่อถามต่อว่า คณะกรรมการ 3 ฝ่ายก็จะมีใคร อย่างไรบ้าง นายจารุพงศ์กล่าวว่า ภาครัฐซึ่งประกอบด้วยทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนตั้งแต่บริษัทที่เป็นเจ้าของเรื่องที่เกิดเหตุ รวมไปถึงภาคเอกชนอื่น ๆ เช่น บริษัทท่องเที่ยว บริษัทประมง เป็นต้น เรายังไม่ทราบว่าภาคเอกชนพวกนี้คือใคร อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มท้องที่คือเทศบาลอำเภอที่อยู่ในตำบลนั้น เขาจะต้องมีส่วนรู้สถานการณ์นั้นดี เขาจะมาเล่าให้เราฟัง แต่ทั้งหมดจะต้องทำเป็นรูปคณะกรรม 3 ฝ่าย รับเรื่องมาและมาช่วยกันดูว่าเราจะแก้ไขเยียวยาฟื้นฟูได้อย่างไรต่อไป

ส่วนนายฉัตรชัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกฎหมายเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการจัดการภัยพิบัติทุกประเภท ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เข้าไปดูแลใน 3 เรื่อง เรื่องแรกคือชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน 2. ให้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบ 3. การให้ความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าพนักงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะเป็นผู้อำนวยการป้องกันภัยจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด เราได้เตรียมความพร้อมเต็มที่เพื่อทำงานอย่างต่อเนื่องอีกเป็นเวลานาน จนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจของประชาชน

เมื่อถามว่า ประชาชนก็มาร้องเรียนได้มาพึ่งในส่วนของจังหวัด นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ ในแค่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้าง นายวิเชษฐ์ กล่าวตอบว่า ตามหลักการสากลผู้ที่ทำให้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบำบัดมลพิษนั้น ซึ่งทาง ปตท. ได้ประกาศความรับผิดชอบแล้ว

เมื่อถามว่าชาวบ้านถามว่าต้องตักทรายจากหาดไปทิ้งเลยหรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์กล่าวตอบว่า เราต้องตักออกส่วนหนึ่งเพราะว่าน้ำมันขึ้นมาบนชายหาดมันจะเป็นฟิล์มกดอยู่ 1 – 2 เซนติเมตร เราต้องตัด 1-2 เซนติเมตรออกไปทำความสะอาดพอสะอาดแล้ว จะนำทรายกลับมาคืนหาดอีกครั้ง

นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าในวันอาทิตย์นี้จะลงไปในพื้นที่อย่างที่เรียนว่ารัฐบาลมีคณะทำงานติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟู ในคณะทำงานจะประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญรัฐบาลได้เรียนเชิญอาจารย์และนักวิชาการเข้ามาร่วมจากนี้ไปจะต้องทำงานติดตามอย่างใกล้ชิด และอย่างที่ได้เรียนไปเบื้องต้นว่ารัฐบาลจะมีแผนฟื้นฟู ซึ่งสัปดาห์นี้ผมจะลงไปในพื้นที่

เมื่อถามว่า ล่าสุดถ้าเอาภาพถ่ายดาวเทียมมาจับ วันแรกเห็นภาพถ่ายดาวเทียมน่ากลัวภาพแผ่กว้าง วันนี้ภาพถ่ายดาวเทียมบอกอะไรบ้างหรือไม่ นายวิเชษฐ์กล่าวว่า ทั้งอ่าวพร้าว อ่าวเพ และปากคลองแกลง นั้นภาพถ่ายดาวเทียมที่เห็นคือพื้นที่ที่กำลังกลับมาสู่สภาพปกติ 100% แล้ว วันนั้นรัฐมนตรีพลังงานและผมลงไปก็ได้ดำเนินการแก้ไขและสั่งการทำให้สภาพต่าง ๆ งานต่าง ๆ เป็นระบบแก้ไขอย่างรวดเร็วขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่องของความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โยงไปที่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานอย่างไรบ้าง นายจารุพงศ์ กล่าวตอบว่า รายงานมาตลอดตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ ตนก็ในกราบเรียนกับนายกฯ ท่านก็มีความเป็นห่วง แต่ย้อนกลับมาสุดท้ายส่วนใหญ่ต้องเรียนว่า รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐบาลทำได้เพราะทางบริษัทเขาพร้อมที่จะรับทุกอย่างอยู่ที่ว่าเราต้องช่วยกัน ยกตัวอย่าง ผมสั่งผู้ว่าราชการไปวันนี้ไปดูว่าของที่เก็บกำจัดไป ไปทำลายที่ไหน ไปจัดที่ไหนตามไปดูสุดซอยเลยและต้องโปร่งใสต้องบอกชาวบ้านได้ว่า 50,000 ลิตรเก็บแล้วนำไปไว้ตรงไหนแล้วทำลายอย่างไร

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า การทำงานขนเศษน้ำมันดิบจะมีการควบคุมด้วยกรมมลพิษและทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะควบคุมกำกับ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยทั้งกองทัพเรือร่วมกันมีแผนปฏิบัติการ มี 2 อย่างถ้าเป็นขยะ มี 2 อย่าง คือกลบฝังหรือไปเผา ซึ่งตรงนี้กำลังเลือกดูวัตถุดิบว่าชิ้นไหนที่ควรฝังชิ้นไหนที่ควรเผา น้ำมันดิบส่วนใหญ่ที่เราสูบใส่แทงค์นำไปใช้ได้ต้องเข้าโรงกลั่น กลั่นมาจะแยกน้ำทะเล แยกน้ำมันออกมา อันนั้นสามารถใช้ได้เลย แต่ส่วนที่เป็นวัตถุดิบที่เป็นกระดาษซับคงจะนำไปเผาทิ้ง

เมื่อถามย้ำว่า อันนั้นคือซับน้ำมันดิบมาแล้วมันจะซึมอยู่กับกระดาษ กระดาษซับมันที่เห็นที่เป็นแผ่นขาว ๆ ใหญ่ ๆ ที่ปูบนชายหาดซับความมันขึ้นมาอันนั้นก็เป็นขยะที่จะต้องนำไปทำลาย นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวตอบว่า นำไปเผาได้เผาที่โรงไฟฟ้าของปูนซีเมนต์ไทย เผากำจัดเบ็ดเสร็จ

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า วิธีการที่ตามไปดูคือวิธีการขน วิธีการขนยุ่งยากกว่าวิธีการกำจัด ขนใส่ถุงมีโอกาสแตกโอกาสชำรุดและทำให้เรี่ยรายไปตามทางที่ต้องตามไปดูคือว่าขนอย่างไร ขนแล้วเกิดความรั่วไหลอีกหรือไม่ ไม่ใช่ขนแล้วไปหยดอยู่ตามทาง ตรงนี้กำชับอย่างดีภาชนะที่ใส่ในการขนต้องเป็นภาชนะพิเศษที่มาขนใส่อีกที เพราะฉะนั้นถุงต่อถุงที่ยกมาต้องใส่ภาชนะอีกทีหนึ่ง 2 ชั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น