xs
xsm
sm
md
lg

กปน.ตั้งอนุ กก.ฟื้นฟูและประเมินค่าเสียหายน้ำมันรั่ว แนะรอผลวิเคราะห์สภาพน้ำทะเลก่อนลงเล่นน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” สั่งกรมเจ้าท่าแถลงข่าวน้ำมันรั่วทุกวัน พร้อมชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนทุกคำถามผ่านเว็บไซต์-ตั้งอนุกรรมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและประเมินค่าเสียหาย ดึง PTTGC ร่วมให้ข้อมูล คาดอีก 1 เดือนสรุปปรับแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ชี้บทเรียนไม่ซ้อมแผนช่วงมรสุมทำให้คุมสถานการณ์ไม่ได้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมแนะรอผลวิเคราะห์สภาพน้ำจากกรมควบคุมมลพิษก่อนลงเล่นน้ำเพื่อความปลอดภัย 100%

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ กปน. ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการขจัดคราบน้ำมันจากเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC รั่วกลางทะเลจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีปัจจัยในด้านมรสุมค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้การควบคุมน้ำมันไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้น้ำมันกระจายตัวเร็วทำให้เข้าสู่ชายฝั่งเร็ว ซึ่งเป็นบทเรียนที่จะต้องนำมาปรับปรุงแผนและการปฏิบัติการให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ 2 เรื่อง คือ 1. มอบหมายนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นหัวหน้าทีมแถลงข่าวทุกวันเพื่อเป็นศูนย์กลางและตอบข้อสงสัยของประชาชนทั้งหมด โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คนและอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและ ปตท.มาร่วมในการให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจ้าท่า เช่น การใช้สารเคมีกับน้ำมันมีปัญหาอย่างไร น้ำมันรั่วไหลออกมาจำนวนเท่าไร โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลในวันนี้ (2 ส.ค.) ซึ่งกรมเจ้าท่าจะประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษและทาง PTTGC เพื่อให้แน่ใจว่าคำตอบที่ออกมาถูกต้อง ไม่ลำเอียง

2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าเสียหาย โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นหัวหน้าคณะอนุฯ ซึ่งจะต้องเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพชายหาด, ประเมินมูลค่าความเสียหายและรวบรวมผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดระยองเป็นผู้รับคำร้องความเสียหายซึ่งจะให้มาอยู่ภายใต้คณะอนุฯ ชุดนี้ และประเมินแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันปี 45 และนำข้อมูลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาเปรียบเทียบและปรับปรุงจุดที่บกพร่อง โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อ กปน.ภายใน 1 เดือน

นอกจากนี้ต้องพิจารณาในประเด็นอื่นๆ เช่น การขนน้ำมันทางเรือ การขนส่งน้ำมันทางท่อในแต่ละจุดมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และให้คณะอนุฯ ชุดนี้นำไปปรับปรุงในแผนให้ครอบคลุม ซึ่งเบื้องต้นแผนที่มีนั้นจะเป็นกรอบขั้นตอนการจัดการแต่ไม่มีเวลากำกับไว้ในแต่ละขั้นตอนว่าจะต้องทำภายในเวลาเท่าไร จะต้องเพิ่มมิติเรื่องเวลาในแต่ละขั้นตอนเพื่อเป็นตัวชี้วัดด้านเวลาเข้าไปด้วยเพื่อสามารถประเมินผลได้ เพราะยังมีปัญหาในหลายขั้นตอน เช่น ขั้นตอนประเมินความรุนแรงสถานการณ์ ข้อมูลเรื่องความรุนแรงของคลื่นลมไม่ละเอียด การขออนุญาตใช้สารเคมี การนำเข้าสารเคมี การกำจัดของเสียตั้งแต่เกิดเหตุ ก็เป็นสิ่งที่ต้องนำมาประมวลและปรับปรุงในแผนด้วย

“การซ้อมแผนต้องปรับให้ถี่ขึ้นและต้องซ้อมในภาวะที่มีมรสุมด้วย เพราะเหตุครั้งนี้เกิดในช่วงที่วิกฤติที่สุด ต้องปรับปรุงความเข้มข้นในการซ้อม และต้องฝึกซ้อมในกรณีต่างๆ ให้รูปแบบหลากหลายขึ้น เหตุที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกันและปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งกระบวนการสั่งการ การตัดสินใจ ระดับความรุนแรงของเหตุ การเข้าเผชิญเหตุ การโปรยสารเคมี ต้องนำมาประเมินทั้งหมด” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนการให้ผู้แทน PTTGC เข้ามาอยู่ร่วมในการประเมินความเสียหายอาจไม่เหมาะสมนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ในคณะอนุฯ ประเมินความเสียหายจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกำกับโดย กปน.อีกที และยืนยันว่าต้องมีผู้แทน PTTGC ด้วยเพราะต้องให้ข้อมูลกับคณะอนุฯ เชื่อว่า PTTGC จะมีธรรมาภิบาลในการให้ข้อมูลได้ทันที ไม่เสียเวลา ส่วนขั้นตอนการเรียกร้องค่าเสียหายได้สั่งการให้กรมเจ้าท่ารวบรวมข้อมูล ซึ่งมีค่าเสียหาย 2 ประเภท คือ ค่าเสียหายตรง ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในการกำจัดน้ำมันทั้งหมดของหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือ หรือบุคคลที่เข้าไปช่วยกำจัดคราบน้ำมัน ส่วนค่าเสียหายทางอ้อม จะมากแน่นอน เพราะจะมีทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ประชาชน เรือชายฝั่ง รีสอร์ต ซึ่งจะต้องพิจารณาในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมีหลักฐานจากการเก็บข้อมูลซึ่งจะประสานกับทางจังหวัดด้วย ส่วนใครจะฟ้องก็เป็นอีกเรื่อง แต่เห็นว่าไม่อยากให้มีการฟ้องร้องเพราะมีประกันภัยแล้ว หากสามารถตกลงกันได้ ดูแลกันได้ ก็ไม่จำเป็นถึงขั้นฟ้องร้อง

พร้อมกันนี้ได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กปน.เพิ่ม 6 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อม พลังงาน และประกันภัย ประกอบด้วย นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์, นายสมรัตน์ ยินดีพิธ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร, นายธันณี ศรีสกุลไชยรัก, นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล อ.ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เข้าร่วม เพื่อให้ กปน.มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า การซ้อมใหญ่ตามแผนปฏิบัติทุก 3 ปี แต่ในการซ้อมแผนปฏิบัติของเรือกรมเจ้าท่ากับบริษัทน้ำมันจะมีทุกปี ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุกรมเจ้าท่าจะเป็นตัวกลางประสานการเจรจาการจ่ายค่าเสียหายจนยุติ ไม่มีการฟ้องร้องกัน ส่วนการฟื้นฟูทาง PTTGC จะส่งแผนให้ทาง กปน.ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะพิจารณาว่าแผนที่เสนอครอบคลุมหรือไม่

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย กล่าวว่า การเรียกร้องค่าสินไหมต้องรวบรวมข้อมูลจากทุกด้าน เช่น ค่าเสียหายทางตรง ต้องรวบรวมจากทุกหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ตรงนี้จะจ่ายได้ก่อน อีกส่วนที่เป็นการฟื้นฟู หรือความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาตินั้นจะต้องมีการรวบรวมข้อมูล เช่น สภาพน้ำ สัตว์น้ำก่อนเกิดเหตุเป็นอย่างไร และวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งน่าจะใช้เวลารวบรวมค่าเสียหายออกมาเป็นตัวเงิน

ด้านนายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสารดิสเพอร์แซนต์ (Dispersant) ที่นำมาขจัดคราบน้ำมัน เป็นสาร เคมีที่ไม่มีอันตรายต่อชีวิตและไม่สะสมในสภาพแวดล้อม ส่วนข้อสังเกตว่า PTTGC นำมาใช้ในปริมาณที่มากเกินมาตรฐานที่กำหนดให้ใช้สาร Dispersant 1 ส่วนต่อปริมาณน้ำมัน 10 ส่วน ทาง PTTGC ใช้ไปทั้งสิ้น 3.2 หมื่นตัน จากปริมาณที่ยื่นขอใช้ไปยังกรมควบคุมมลพิษที่ 3.5 หมื่นตันนั้น สาเหตุที่ต้องใช้สารเคมีมากกว่าสัดส่วน 1 ต่อ 10 เนื่องจากน้ำมันกระจายออกไปในวงกว้างทำให้การกำจัดยากขึ้น และต้องใช้สารเคมีมากขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ตาม นายพิสุทธิ์แนะนำว่า ประชาชนควรรอผลการพิสูจน์สภาพน้ำจากกรมควบคุมมลพิษอย่างป็นทางการก่อนว่าน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวมีสารแขวนลอยปะปนอยู่ในปริมาณที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าในฤดูมรสุมที่มีลมแรงสารแขวนลอยที่ปะปนอยู่ในทะเลจะกระจายหายไปเร็วกว่าฤดูปกติ

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้มีการปฏิบัติตามแผน แต่เนื่องจากคลื่นลมมรสุมแรงมากทำให้บูมที่ล้อมขาด น้ำมันจึงกระจาย และเคลื่อนเข้าฝั่งอ่าวพร้าวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นก้อนน้ำมันส่วนหนึ่งที่เหลือหลังจากที่ได้มีการใช้สารเคมีทำให้แตกตัวแล้ว ยืนยันล่าสุดอ่าวพร้าวกลับมาสะอาดและมีสภาพเกือบเหมือนเดิมแล้ว โดยเหลือขั้นตอนของการขนน้ำมันออกไปทำลายทางวิชาการ ซึ่งประเมินจากลมมรสุมคราบน้ำมันจะเลยพ้นเกาะเสม็ดไปไกลแล้ว

ส่วนสารเคมีที่นำมาใช้ได้รับการอนุมัติจากกรมควบคุมมลพิษและสามารถสลายไปได้ภายใน 2-3 วัน ยืนยันจะทำให้อ่าวพร้าวกลับมาอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด ส่วนการติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการต่อเนื่องอีกหลายเดือน ในเรื่องความเสียหายนั้น PTTGC ได้ทำประกันภัยครอบคลุมในวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเกินวงเงินประกันทาง PTTGC จะรับผิดชอบแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น