xs
xsm
sm
md
lg

พีทีที.ห่วยแตก ต้องรับผิดทางแพ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**สภาพ “ทะเลดำ”ที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากเรือบรรทุกน้ำมันของปตท. ขณะกำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมัน ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 20 กิโลเมตรนั้น ทำให้คนรักทะเลแน่นอก คนระยองปวดใจ
แต่ดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลและ ปตท. ซึ่งเป็นจำเลยในเรื่องนี้ กำลังจะใช้อำนาจรัฐและเงิน เป่าเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก จนกระทั่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่การรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเลครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
จากสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2540–2554 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป ) ทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน ซึ่งสูงสุดก็ไม่เกิน 40,000 ลิตร
การรั่วไหลของน้ำมันดิบ บริษัทพีทีที โกลบอล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เมื่อวันที่ 27 ก.ค.56 ที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุด เพราะจากข้อมูลของบริษัทระบุว่า มีปริมาณการรั่วไหลถึง 50,000 ลิตร แต่มีการคำนวณจากคราบน้ำมันที่แผ่รัศมีหลายกิโลเมตร รวมถึงปริมาณที่กระจายไปยังอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ทำให้มีข้อกังขาอย่างมากว่า ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันดิบน่าจะสูงกว่าที่ทาง ปตท.ชี้แจงต่อสาธารณะ
** ปัญหาที่ ปตท.ต้องตอบคำถามกับสังคมคือ บริษัทใหญ่ระดับโลกที่เคยได้รับการจัดอันดับที่ 384 จาก 500 บริษัททั่วโลก โดยนิตยสาร Newsweek ในปี 2554 ให้เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม จะห่วยแตกในการเผชิญเหตุน้ำมันรั่วไหลในครั้งนี้อย่างไม่น่าให้อภัย
เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล เกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 6.50 น. ของวันที่ 27 ก.ค.56 ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาบอกว่า“เอาอยู่” แต่ผ่านไปเพียงแค่ 3 วัน น้ำมันดิบก็ไหลลามไปยังอ่าวพร้าว จนกลายเป็นทะเลสีดำ ในวันที่ 29 ก.ค.56
ทั้งหมดนี้จะโทษใครไม่ได้เลย นอกจากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของ พีทีที โกลบอล ซึ่ง พรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล ยอมรับกลางรายการเจาะข่าวเด่นว่า มีการโปรยสารเคมี Dispersion เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัว แต่อยู่ในจุดที่ไม่ลึกพอ ทำให้น้ำมันรั่วไหลลอดออกจากทุ่นไหลไปที่อ่าวพร้าว
แต่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน ซึ่งเลือกข้างชัดเจนว่า ปกป้องปตท. ถึงกับขู่ประชาชนว่า ไม่ควรฟ้อง ให้เจรจาแทน เพราะถ้าฟ้องจะใช้เวลานาน และยังทำไม่รู้ไม่ชี้ว่าสาเหตุเกิดจากความสะเพร่า และการขาดความเชี่ยวชาญของบริษัทพีทีที โกลบอล ในการจัดการปัญหาน้ำมันรั่วไหล จนเกิดโศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งใหญ่
ไม่่น่าเชื่อว่า บริษัท พีทีที โกลบอล ซึ่งมีกำไรในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 12,000 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วถึง 23 % จะกระจอก ขาดความพร้อมที่จะเผชิญเหตุฉุกเฉินจนทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม และน่าสงสัยว่า บริษัทนี้จะมีการลงทุนเพื่อรับมือในการแก้ปัญหากับเหตุน้ำมันรั่วไหลบ้างหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดเหตุยังต้องวิ่งโร่ไปขอความช่วยเหลือจากสิงคโปร์
ตลกร้ายไปกว่านัั้นคือ การตรวจสอบแบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถนัดแต่งตั้งพรรคพวกมาสอบเอง เออเอง มาตลอดสองปีของการบริหารประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อพงษ์ศักดิ์ ตั้ง ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่เป็นผู้บริหารของบริษัทที่สร้างปัญหาจนเกิดมลภาวะทางทะเล แถมประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการให้ข้อมูลของบริษัทด้วย เนื่องจากมีการปกปิดข้อมูลอย่างไม่โปร่งใส
**สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทสะท้อนการไร้ธรรมาภิบาลของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่แพร่ระบาดจากนักการเมืองไปสู่รัฐวิสาหกิจ
แม้ว่าในขณะนี้ จะมีการใช้อำนาจรัฐและเงินโฆษณา พยายามทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำให้จำเลยกลายเป็นโจรที่เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ แต่การสร้างภาพไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า ปตท. ผู้สูบทรัพยากรชาติไปสร้างกำไร คือผู้ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง
ระบบนิเวศน์พังยับ แต่ผู้บริหาร พีทีที โกลบอล บอกว่า คราบน้ำมันดิบไม่เป็นอันตราย และเมื่อโดนแดดจะระเหยไปเอง โดยไม่พูดความจริงว่า เมื่อเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบ จะมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons)หรือที่เรียกกันย่อๆว่า สาร พีเอเอช (PAHs)ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยมีรายงานการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ในปลา striped beakfish จากเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบบริเวณชายฝั่งอุทยานแห่งชาติทะเลแทอัน (Taean)ที่เกาหลีใต้ มาแล้ว
มีใครคิดที่จะตรวจสอบอย่างจริงจังเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยบ้างมั้ย ว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องกินอาหารทะเลที่เป็นพาหะของสารก่อมะเร็งมากน้อยแค่ไหน ระบบนิเวศน์ทางทะเลในอ่าวไทยยับเยินอย่างไร และที่สำคัญ บริษัทพีทีที โกลบอล แก้ปัญหาด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเพียงพอหรือยัง
ประเทศไทยมีคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หรือ (กปน.) ซึ่งคนแทบจะไม่รู้จัก มีนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็นประธาน ก็มิได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง
ไอ้ที่หวังว่าจะเป็นเจ้าภาพปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยกับ บริษัท พีทีที โกลบอล ก็น่าจะปิดประตูตายไปได้เลย เพราะกรณีนี้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่น่าจะจบลงที่การ “เกี้ยเซียะ”ระหว่างหน่วยงาน เนื่องจาก ปตท. ที่แบ่งกำไรเกือบครึ่งให้เอกชนในตลาดหลักทรัพย์ จะอ้างตัวเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้การฟ้องร้องกันเองระหว่างหน่วยงานรัฐเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งไม่ต้องตั้งความหวัง
ดังนั้นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องรวมตัวฟ้องร้อง บริษัทพีทีที โกลบอล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง และปกป้องทรัพยากรทางทะเลจากนายทุนที่ขาดความรับผิดชอบให้เป็นเยี่ยงอย่าง และหวังว่าศาลจะได้พิจารณาโดยใช้หลัก “ค่าเสียหายในเชิงลงโทษ”ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ปี 2551 มาตรา 42 ที่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง
เพราะในกรณีนี้ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดอันดับโลก ควรจะต้องมีมาตรการในการป้องกันเหตุฉุกเฉินที่เป็นสากล มีผู้เชี่ยวชาญที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธีหากเกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหล
**ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์แล้วว่า ปตท.เป็นแค่มืออาชีพในการสร้างภาพ แต่เป็นมวยวัดในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม
จึงต้องเล่นงานทางแพ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า มลพิษเช่นว่านั้นเกิดจาก
(1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม
(2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ
การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้นค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
และมาตรา 97 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
**ว่าแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะรู้เรื่องไหม และถ้ารู้ จะมีสำนึกรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาในหัวขี้เลื่อยดูเหมือนจะมีแต่การแต่งตัว โพสต์ท่า และช่วยพี่ชายเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น