ศูนย์ข่าวศรีราชา - รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ลงพื้นที่อ่าวพร้าว วาง 4 แนวทางแก้ไขน้ำมันรั่วไหลเข้าเกาะเสม็ด เพื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ด้านสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ชลบุรี ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำหาสารก่อมะเร็ง 7 จุด
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่อ่าวพร้าว จ.ระยอง นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวรรณ นันทศรุต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) พร้อมคณะได้เดินทางมาดูพื้นที่จริงในการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลเข้าบริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมวางแผนงานในการดำเนินการในครั้งนี้ โดยใช้เวลาในการวางแนวทางนานกว่า 1 ชั่วโมง
นายสุพจน์ กล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เน้น 4 จุดหลัก คือ 1.ปัญหา สาเหตุที่เกิดการรั่วไหลในครั้งนี้ 2.แนวทางการแก้ไขเฉพาะหน้า (อ่าวพร้าว) 3.แนวทางการแก้ไขเฉพาะหน้าด้านระบบนิเวศ และ 4.แนวทางในการเยียวยาประชาชน/ผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อวางแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด
กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น กระทบต่อการท่องเที่ยวจำนวนเท่าไร ต่อจังหวัด เจ้าหน้าที่ทหารเรือ และ ปตท. วงเงินที่จะจ่ายชดเชย-เยียวยาประชาชน ซึ่งจะจ่ายเท่าไร จะจ่ายได้เมื่อไร จะจ่ายเป็นเงินสด หรือเป็นเช็คเงินสด และจ่ายที่ไหนที่ประชาชนสะดวก ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะต้องชัดเจน
นายสุพจน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการดำเนินการแก้ไขด้านระบบนิเวศนั้น การดำเนินการแก้ไขจะต้องใช้ระยะเวลาโดยอาจจะต้องแบ่งเป็นเฟส เช่นในระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน ระยะกลาง และในระยะยาว ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมรับผิดชอบ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นทาง ปตท.จะเป็นผู้จ่ายให้ทั้งหมด ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกล่าวไว้
สำหรับรูปแบบในการจัดเก็บคราบน้ำมันนั้น ขณะนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมดำเนินการจัดเก็บ แต่ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องวางรูปแบบใหม่ โดยจัดพื้นที่เป็นล็อกๆ ซึ่งล็อกละประมาณ 10 คูณ 10 เมตร และใช้คนล็อกละ 10 คน โดยมีทั้งสิ้น 600 เมตร คือ 600 ล็อก และจะต้องรับผิดชอบในแต่ละล็อกให้ดี ปัญหาการขจัดคราบน้ำมันก็คงจะดีขึ้น เพราะขณะนี้มีคนมากเกินไป ทำให้การจัดเก็บ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บได้ไม่เต็มที่
ด้านนายสุวรรณ นันทศรุต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณที่เกิดน้ำมันรั่วไหล โดยมาเก็บในครั้งนี้ประมาณ 6 จุด ประกอบด้วย 1.แหลมน้อยหน่า 2.อ่าวพร้าว 3.ท่าเรือหน้าด่าน 4.อ่าวหวาย 5.หาดทรายแก้ว 6.อ่าววงเดือน และ 7.ร่องน้ำกลางทะเล ซึ่งจุดต่างๆ นั้นมีทั้งเก็บบริเวณใกล้ชายหาด และเก็บห่างจากฝั่งด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 5-7 วัน ถึงจะทราบว่าสารที่ตกค้างมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะจากกระบวนการผลิตน้ำมัน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่อ่าวพร้าวเพื่อสำรวจคราบน้ำมันดิบ พบว่า ในช่วงเช้าที่ระดมเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บนั้น ปริมาณลดลงไป แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งได้เกิดมีคลื่นลมแรง ทำให้พัดคราบน้ำมันเข้ามาที่บริเวณอ่าวพร้าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหยุดพักไประยะหนึ่ง เพื่อรอให้คลื่นลมสงบ หรือคราบน้ำมันที่หลงเหลือพัดเข้ามาเพื่อรอเก็บในครั้งเดียว