xs
xsm
sm
md
lg

ระยองสูญพันล้าน จี้ปตท.ทุ่มกำไรรับผิดชอบ พบสัตว์ทะเลตายเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - คราบน้ำมันกระทบสัตว์ทะเล พบปลาและหอยตายแล้วจำนวนมากเกลื่อนชายหาดอ่าวพร้าว "เพ้ง"รุดนั่ง ฮ.ลงพื้นที่เช็คคืบหน้ายันพรุ่งนี้จบ ด้านนักวิชาการ ห่วงสารเคมีสลายคราบบางชนิดผสมน้ำมันแล้วเป็นอันตราย ด้าน "ยิ่งลักษณ์"โทร.ตรงสั่งเร่งแก้คราบน้ำมัน ด้าน "หนุ่ย อำพล" ลูกหลานระยอง เรียก ร้องปตท.เอากำไรเม็ดเงินมหาศาลแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่ว ไม่รู้นานเท่าไหร่กลับมาเหมือนเดิม สื่อนอกระบุคราบน้ำมันอาจจะลอยขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่ได้

วานนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานรายงานความคืบหน้าการกำจัดคราบน้ำมันที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หมู่ 4 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง หลังเกิดการรั่วไหลของท่อรับน้ำมันดิบกลางทะเลห่างจากฝั่งประมาณ 20 กม.ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลประมาณ 50,000-70,000 ลิตรว่า เจ้าหน้าที่พบสัตว์ทะเลตายเกยตื้นบริเวณริมหาดแล้ว จากการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นปลาหางเหลือง และหอยขาวจำนวนมาก ตัวโตหนักเกือบกิโลกรัม ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดแล้ว

**รมว.พลังงานยกคณะดูคราบน้ำมัน

วันเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน พร้อมนายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ในเครือ ปตท.นายอานนท์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC นายบวร วงษ์สินอุดม ประธาน PTTGC และนายชูชาติ อ่อนเจริญ ผอ.ททท.ภาคกลางเขต 4 ลงพื้นที่บริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด ที่มีชายหาดยาว 400-500 เมตร และยังมีคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบของ PTTGC อยู่เต็มพื้นที่ พร้อมได้ตรวจสอบผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่ง ปตท.พร้อมชดเชยเยียวยาให้ และมั่นใจว่าการกำจัดคราบน้ำมันจะแล้วเสร็จภายใน 3 วัน เนื่องจาก ปตท.ได้นำเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ มาดำเนินการอย่างเต็มที่ ล่าสุดมีเครื่องฉีดน้ำทำความสะอาดกำจัดคราบน้ำมันตามซอกหินรวมทั้งการแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวในที่ประชุมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดคราบน้ำมันว่า ตนเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะเกาะเสม็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจสอบภาพรวมการกระจายของคราบน้ำมัน ส่งผลกระทบเฉพาะแค่อ่าวพร้าว หรือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกาะเสม็ดเท่านั้น ส่วนชายหาดอื่นๆ ยังมีนักท่องเที่ยวตามปกติ จึงอยากวิงวอนสื่อมวลชน หากจะนำเสนอข่าวอะไรให้นึกถึงภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

นอกจากนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้กำชับให้ ปตท.ใช้แผนฉุกเฉินระดับ 2 ในการแก้ปัญหากำจัดคราบน้ำมันดิบ ด้วยการประสานประเทศสิงคโปร์เข้ามาช่วยโดยเร่งด่วน รวมทั้งต้องมีการเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาว

**"ปู"โทร.ตรงสั่งเร่งแก้คราบน้ำมัน

นายพงศักดิ์ เปิดเผยหลังด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้โทร.ทางไกลมาจากสาธารณรัฐโมซัมบิก โดยสั่งให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากการนั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจและการรายงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมมือกันกำจัดคราบทุกฝ่าย ยืนยันว่าคราบน้ำมันที่เข้ามายังหาดอ่าวพร้าว ขณะนี้ถือเป็นพื้นที่เพียง 5-6% ของเกาะเสม็ดเท่านั้น และทุกฝ่ายพยายามสกัดกั้นไม่ให้กระจายไปยังจุดอื่นที่ขณะนี้พบว่ามีบางสว่นไปยังชายฝั่งบ้านเพ แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งวางทุ่นป้องกันไว้แล้ว จึงน่าจะมีส่วนน้อยที่เข้าไปและคาดว่าคืนนี้คราบน้ำมันจะเบาบางและวันที่ 31 ก.ค.จะขจัดคราบน้ำมันได้หมดและคุมอยู่

"หลังจากพรุ่งนี้จะเป็นการขจับคราบตามโขดหิน ปะการัง เพื่อเก็บรายละเอียดเพื่อที่จะให้ทุกอย่างคืนสู่กลับธรรมชาติให้เร็วสุด ซึ่งจุดนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจึงสั่งให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ไว้ตลอดเวลาจนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และสำคัญบมจ.พีทีทีจีซีต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดชึ้นอย่างเต็มที่โดยให้ดูแลผลกระทบต่อประชาชนและคนในพื้นที่โดยให้ทำบัญชีรายชื่อเสนอขึ้นมา"

**กรมเจ้าท่าเจ้าภาพฟ้องเรียกค่าเสียหาย

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้สภาพของอ่าวพร้าวของอุทยานเขาแหลมญ้า-หมู่เกาะเสม็ด เหมือนกับทะเลโคลนทั้งหาด โดยพื้นทรายที่อ่าวพร้าวนั้นเป็นทรายแน่น ถูกน้ำมันเคลือบลงในพื้นทรายประมาณ 1 ซม.แต่หากมีคลื่นซัดน้ำที่ยังปนเปื้อนน้ำมันเข้ามา โอกาสที่ทรายจะถูกปนเปื้อนเพิ่มขึ้นก็มีอีก ดังนั้น ที่ต้องทำคือ จัดการกับน้ำมันในน้ำให้หมดไปก่อน จากนั้นจึงค่อยจัดการกับทราย และก้อนหินที่เปื้อนคราบน้ำมัน โดยนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้เร่งจัดการขจัดคราบน้ำมันภายใน 15 วัน

"สำหรับทรัพยากรใต้ทะเลที่จะต้องเสียหายได้คุยกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการลงไปสำรวจใต้ทะเลในพื้นที่ที่มีคราบน้ำมัน ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะคลื่นแรงสูงถึง 3 เมตร อีกทั้งคราบน้ำมันก็ยังหนาอยู่ ต้องรอให้สถานการณ์ดีกว่านี้ก่อนถึงลงไปสำรวจได้ ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เบื้องต้นกรมเจ้าท่าจะเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปสำรวจความเสียหาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่แต่ละหน่วยงานใช้ในการดำเนินงาน เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร เบี้ยเลี้ยง ส่วนภาคเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้กรมเจ้าท่า เพื่อฟ้องร้องต่อไป"

**"ยิ่งลักษณ์"ข้ามทวีปให้เร่งแก้ปัญหา

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าได้สั่งการด่วนให้กระทรวงพลังงาน มหาดไทย และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งลงพื้นที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน และในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งให้กองทัพเรือเข้าพื้นที่เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ยอมรับว่าอาจจะต้องมีการประสานขออุปกรณ์ หากจำเป็นก็ต้องหยิบยืมจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่อาจเป็นเพราะสภาพอากาศเป็นอุปสรรคในการจัดการปัญหา ขณะนี้ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

ระหว่างนี้นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้รายงานบทสัมภาษณ์นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวกรณีน้ำมันรั่วว่า ต้องเน้นรักษาสภาพแวดล้อม การท่องเที่ยว การประมง เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องมีการตรวจสอบ ตั้งชุดเผชิญเหตุ และหันมาดูกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นของไทยมีไม่พอ ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการถาวรขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าต้องป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันไหลขึ้นฝั่ง ต้องใช้ทุ่นน้ำมันกันไว้ ถ้าไม่พอ ก็ควรขอยืมจากเพื่อนบ้านเช่นสิงคโปร์ซึ่งมีอุปกรณ์มาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้กองทัพเรือควรเป็นศูนย์กลางเพราะมีอุปกรณ์ครบ ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดย ปตท.ต้องออกเงินทุกบาท ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งทำจากนี้ คือการเก็บคราบน้ำมันให้เร็วที่สุด โดยมีอาสาสมัครเข้ามาช่วย ป้องกันสัตว์ไม่ให้โดนคราบน้ำมัน

**ชี้ ปตท.ต้องทบทวนแผนฉุกเฉิน

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการเก็บกวาดคราบน้ำมันยังมีความล่าช้าและไม่ทันเหตุการณ์ และแผนฉุกเฉินสำหรับการป้องกัน และแก้ไขกรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเลจำนวนมากที่ได้จัดทำไว้ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงในภาคสนาม

คำถามที่ภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตคือ ในเมื่อ ปตท.เป็นสมาชิกของสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ มีการลงทุนในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมันทั้งในส่วนของแต่ละบริษัท และในส่วนกลางรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มีการฝึกซ้อมปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันขนาดใหญ่ตามแผนป้องกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงทำไมการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างล่าช้า ต้องไปพึ่งประเทศสิงคโปร์ จนคราบน้ำมันทะลักเข้าสู่ชายหาดของสถานที่ท่องเที่ยวเช่นเกาะเสม็ด

นอกจากนี้ การกำจัดคราบน้ำมันโดยพ่นสารเคมี (Oilspill Dispersant) ลงบนผิวน้ำมันให้น้ำมันแตกตัวกระจายเป็นหยดเล็กๆ และช่วยป้องกันการรวมตัวของหยดน้ำมัน โดยต้องรีบกระทำก่อนที่คราบน้ำมันจะมีความหนืดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสารเคมีลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (Oilspill Dispersant) ยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า จะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และมีสารตกค้างเนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำการติดตามตรวจสอบและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ทะเลต่อไป

นายสนธิ กล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมากล่าวโทษ และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศวิทยาจากกลุ่มบริษัทพีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

" เสนอให้มีจัดกองทุนประกันความเสี่ยงในเรื่องอุบัติภัยดังกล่าวให้แก่ประชาชนโดยเป็นกองทุนที่สามารถนำเงินมาชดเชย และฟื้นฟูกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น"

รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยาการทางน้ำ กล่าวว่า จากสถิติ 2-5 ปี จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในเมืองไทย อีกทั้งระยอง เป็นจุดที่มีกิจกรรมด้านการขนส่งน้ำมันมากที่สุด จึงต้องติดตามข้อมูลให้ชัดเจน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ปัญหาระยะสั้นเท่าที่ทำได้ แต่ผลที่น่าห่วงคือ ปัญหาระยะกลาง และระยะยาว ที่ยังมองไม่เห็น รวมถึงการเยียวยาด้วยต้องดูให้ชัดเจนเพราะผู้ได้รับผลกระทบมีมาก อีกทั้งยังไม่รวมศูนย์แก้ปัญหา

**คาดท่องเที่ยวระยองเสียหายกว่าพันล้าน

นายชูชาติ อ่อนเจริญ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (ระยอง-จันทบุรี) กล่าวว่า หลังจากที่ จ.ระยอง ได้ประกาศให้พื้นที่อ่าวพร้าว เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฯ ททท.ระยอง ก็ได้ประสานไปยังนักท่องเที่ยวที่เข้าพักในรีสอร์ต 3 แห่งบนอ่าวพร้าว เพื่อให้ย้ายไปเข้าพักยังหาดอื่นๆ ที่ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดิบไม่ว่าจะเป็นหาดวงเดือน หาดทรายแก้ว หาดปะการัง ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ และถือเป็นชายหาดยอดนิยม ขณะเดียวกันก็เดินหน้าให้ข้อมูลแก่กรุ๊ปทัวร์ต่างๆ เกี่ยวกับจุดที่มีการทะลักของคราบน้ำมันว่ายังคงเป็นการทะลักเข้าไปเฉพาะชายหาดด้านฝั่งตะวันตกของเกาะ ซึ่งก็คืออ่าวพร้าว ที่มีรีสอร์ตเพียง 3 แห่งและมีห้องพักรวม 109 ห้องเท่านั้น โดยยืนยันว่าจุดที่เป็นชายหาดยอดนิยมยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด

"ยืนยันว่าขณะนี้ผลกระทบในรูปของเม็ดเงินทางการท่องเที่ยวยังมีไม่มากนักเพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างสุดสัปดาห์ที่แล้ว จนถึงวันธรรมดาของสัปดาห์นี้ที่การเข้าพักของนักท่องเที่ยวยังมีไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากพีทีทีฯไม่สามารถขจัดคราบน้ำมันให้หมดก่อนสุดสัปดาห์ที่จะถึง ก็คาดว่าการท่องเที่ยวของระยองจะเสียหายเป็นอย่างมาก ในส่วนของพีทีทีฯ เอง เขาก็พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งหน้าที่ของ ททท.ในขณะนี้ก็คือ การประสานไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อนำนักท่องเที่ยวออกจากอ่าวพร้าวก่อน โดย พีทีทีฯ ยืนยันที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการย้ายนักท่องเที่ยว และค่าที่พักแห่งใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง ทราบว่า จากประมาณการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คาดว่าความเสียหายที่ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองในขณะนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท"

****"หนุ่ย อำพล"ร้องปตท.ทุ่มเงินกำไรรับผิดชอบ

ด้านนักร้องชื่อดัง "หนุ่ย อำพล ลำพูน" ซึ่งเป็นลูก-หลานชาวระยองโดยกำเนิด ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของตนเองที่ @Righthandrock โดยแสดงความห่วงใยกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังได้ทวิตฯ เรียกร้องให้ปตท.ที่มีเงินกำไรมหาศาลมาดูแลรับผิดชอบแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร็วด้วย

"ถึงเวลาที่ ปตท.ต้องเอากำไรที่เป็นเม็ดเงินมหาศาลมาทุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทะเลจังหวัดระยอง-เกาะเสม็ด แล้ว ทุ่มให้สุดนะ คนระยองเขารอดูอยู่"

นอกจากนี้เจ้าตัวยังได้ทวิตฯ ว่า ที่ผ่านมาเคยพาลูกชาย "กาย นวพล" ไปดำน้ำทะเลใกล้ๆ เกาะเสม็ดด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร?..."เยื้องๆ เกาะสเม็ดไปทางทิศตะวันออกมีเกาะลูกชาวบ้านเรียกหินขาว ตรงนั้นแหล่งปลาสวยและปะการังพาน้องกายไปดำน้ำบ่อยๆ ไม่รู้เป็นไง"

ทั้งนี้นอกจากนักร้องชื่อดังแล้ว ทางด้านของ "ชาลอต โทณวณิก" อดีตเจ้าแม่สื่อบิ๊ก "มีเดีย ออฟ มีเดียส์" ก็ได้ทวิตฯ ถึงเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ตนเองที่ CHARLOTTE2500 ในทำนองประชดประชันเปรียบเทียบด้วยว่าที่ต่างประเทศน้ำมันรั่วใช้เวลาเป็นเดือนในการกำจัดแต่ของไทยใช้แค่ 3 วันเท่านั้น แสดงว่าถ้าไม่ใช่ฮีโร่ก็คงจะเป็นศรีธนญชัย

"น้ำมันรั่วที่ต่างประเทศ ใช้เวลาเป็นเดือนในการกำจัด ของไทย3วันบอกหมด และไม่กี่วันคืนสู่ปกติ เราคงมีsuper hero หรือไม่ก็ศรีธนญชัย

**ปชป.เตรียมตั้งกระทู้ถามรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงถึงขั้นตอนในการแก้ปัญหาที่ผ่านมา เพราะดูเหมือนว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ไม่คิดว่าจะลุกลามมาถึงขนาดนี้ และต้องตรวจสอบด้วยว่า เวลาเกิดเหตุเช่นนี้จะมีระเบียบของราชการในการบูรณาการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมดเข้ามา แต่ตอนนี้ยังไม่ดำเนินการ จึงต้องตรวจสอบ ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 1 ส.ค.นี้ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ จะตั้งกระทู้ถามในเรื่องนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่ ผู้บริหารของบริษัท PTT GC ออกมาระบุว่า หากอ่าวพร้าวมีคราบน้ำมัน ก็ให้ไปเที่ยวหาดอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นการพูดแบบไม่รับผิดชอบ เพราะต้องช่วยกันฟื้นฟูและให้ความมั่นใจว่า จะทำระบบให้ดีกว่าปัจจุบันได้อย่างไร ซึ่งในขณะนี้ยังประเมินความเสียหายได้ยาก เพราะต้องดูว่าจะขจัดคราบได้เร็วแค่ไหน

****“สื่อนอกระบุน้ำมันอาจลอยขึ้นฝังแผ่นดินใหญ่

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานคำกล่าวอ้างในวันอังคาร (30) ของนายพรเทพ บุตรนิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ว่า การปฏิบัติการทำความสะอาดชายหาดอ่าวพร้าว เวลานี้เสร็จสิ้นเรียบร้อยไป 80% แล้ว และคาดหมายว่าในวันพุธ (31) ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เอเอฟพีระบุว่า กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้นว่ากลุ่มกรีนพีซ ต่างเตือนว่ายังมีงานอีกมากมายนักที่จะต้องทำ และได้อ้างคำพูดของนายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบอกว่า “ไม่เป็นความจริงเลยที่อ้างว่าทำงานเสร็จสิ้นไป 80% แล้ว ยังมีน้ำมันอีกตั้งเยอะแยะที่อยู่ในอ่าวพร้าว”

“เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากๆ ที่บริษัทระดับโลกแห่งนี้ไม่ได้มีแผนฉุกเฉินเตรียมเอาไว้สำหรับรับมือกับวิกฤตเช่นนี้” เอเอฟพีอ้างคำพูดของนักรณรงค์แห่งกรีนพีซผู้นี้

นอกจากนั้น เอเอฟพีบอกว่า ยังมีพวกนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่แสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดคราบน้ำมัน ในบริเวณซึ่งพวกชาวประมงจับปลากันอยู่เป็นประจำเช่นนี้

ไม่เพียงเท่านั้น เอเอฟพีได้รายงานคำพูดของ พล.ร.ท.รุ่งศักดิ์ เสรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ของกองทัพเรือ ซึ่งกล่าวว่า มีความเสี่ยงที่คราบน้ำมันจะลอยขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่

“น้ำมันที่อยู่ในลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ (หลังจากใช้สารเคมีเข้าละลาย) อาจจะไปถึงฝั่งแผ่นดินใหญ่ได้ มันกำลังเริ่มเคลื่อนไปทางนั้นแล้วในขณะนี้” เอเอฟพีอ้างคำกล่าวของ พล.ร.ท.รุ่งศักดิ์ ซึ่งได้ระบุด้วยว่า “อาจจะต้องใช้เวลาสัก 1 อาทิตย์จึงจะสามารถควบคุมมันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น