xs
xsm
sm
md
lg

เสม็ดเสร็จน้ำมันรั่ว ท่องเที่ยว-สิ่งแวดล้อมเสียหาย จี้รัฐฟ้อง “พีทีที โกลบอล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คราบน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทย
น้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยเกิดวิกฤตในวงกว้าง กระทบท่องเที่ยวเสม็ดคนยกเลิกห้องพัก ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธรณ์ หากคราบน้ำมันจับกับเม็ดทรายเคลือบตามตัวสัตว์ทะเล จะทำให้ระบบนิเวศบนหาดทรายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ได้มีหลายหน่วยงานเรียกร้องรัฐบาลดำเนินการฟ้องร้องต่อ บ.พีทีที โกลบอล โดยชาวเน็ตได้แชร์ข้อมูลกรณีตัวอย่างที่รัฐฟ้องร้องต่อบริษัทที่ทำน้ำมันรั่วในทะเลทั้งในอเมริกาและในจีนกันอย่างกว้างขวาง

ภายหลังจากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่ว ทำให้มีน้ำมันดิบจำนวนมากไหลทะลักแพร่กระจายในทะเลเป็นบริเวณกว้าง ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 18 กิโลเมตร

ล่าสุดวันนี้ (29 ก.ค. 56) คราบน้ำมันดิบถูกคลื่นลมซัดมาติดที่บริเวณอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด จน นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ต้องประกาศให้อ่าวพร้าวเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล

ท่องเที่ยวสะเทือน กระทบภาพลักษณ์เกาะเสม็ด

สำหรับคราบน้ำมันดิบเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งให้มีการจัดเก็บเป็นการด่วน เพราะมีแนวโน้มว่าคราบน้ำมันจะไหลไปยังอ่าวขาม ชายหาดสวนสน และชายฝั่งบ้านเพ เนื่องจากมีปัญหาคลื่นลมแรงทำให้ไม่สามารถควบคุมทิศทางของคราบน้ำมันได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายทั้งกับทรัพยากรทางธรรมชาติ ท้องทะเล สัตว์น้ำ และยังส่งผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากเกาะเสม็ดนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยบริเวณอ่าวพร้าวนั้น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดในเกาะเสม็ด เนื่องจากตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะ

นายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังถือว่าวิกฤต ทางอุทยานได้สั่งปิดอ่าวพร้าวในพื้นที่เกาะเสม็ดเป็นการชั่วคราว โดยห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวและบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่เด็ดขาด เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าว ซึ่งคราบน้ำมันนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อนำคราบน้ำมันออกมาให้หมด

ด้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง เปิดเผยข้อมูลว่าเหตุการณ์นี้เริ่มมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวแล้ว โดยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ทยอยเก็บข้าวของเดินทางออกจากบริเวณเกาะพร้าว เนื่องจากไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวได้ และคราบน้ำมันยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวนการพักผ่อน ซึ่งนักท่องเที่ยวนั้นได้ทยอยเดินทางออกจากที่พักก่อนกำหนด และบางส่วนมีการยกเลิกการเข้าพักเนื่องจากไม่สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้
คราบความสกปรกของน้ำมัน
ส่วนรีสอร์ตที่เปิดดำเนินการที่บริเวณอ่าวพร้าวบางแห่งยังคงเปิดตามปกติ แต่บางแห่งก็ปิดชั่วคราว และได้ให้นักท่องเที่ยวย้ายไปยังรีสอร์ตอื่นๆ บนเกาะเสม็ดแทน โดย นายวีรสิทธิ์ เนืองนิตย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด เสม็ดรีสอร์ท กล่าวว่า รีสอร์ตในบริเวณอ่าวพร้าวเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว ดังเช่นอ่าวพร้าว รีสอร์ต ที่อยู่ในเครือเสม็ดรีสอร์ท ได้ให้นักท่องเที่ยวย้ายไปพักที่รีสอร์ตอื่นๆ ในเครือ ที่อยู่บนหาดที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน ซึ่งยังสามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ต้องเกิดผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ดแน่นอน เนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจเกิดความกังวลในเรื่องสภาพธรรมชาติ

หวั่นระบบนิเวศบนหาดทรายเปลี่ยนแปลงรุนแรง

สำหรับผลกระทบทางด้านระบบนิเวศทางทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปความว่า

....คราบน้ำมันอาจจับกับเม็ดทราย เคลือบตามตัวสัตว์ทะเล ทำให้ระบบนิเวศบนหาดทรายเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีบริเวณอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วง ตั้งแต่หาดหินที่เขาแหลมหญ้า รวมทั้งหาดทรายและแนวปะการังเล็กๆ และแนวสาหร่ายติดฝั่งที่อยู่ตรงปลายแหลม แนวปะการังและหาดต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของเกาะเสม็ด ระบบนิเวศพื้นท้องทะเลตั้งแต่จุดที่น้ำมันรั่วตรงมาหาฝั่ง ระยะทางไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลเมตร

....และหากคราบน้ำมันกระจายตัวมากขึ้น หรือลอยผ่านช่องเสม็ด หาดอื่นๆ ที่อยู่เลยเกาะเสม็ดไปทางตะวันตก ชายหาดแถวบ้านเพ และป่าชายเลนในบริเวณนั้นย่อมได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงยังไม่ได้ประเมินพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณนั้น...

ผศ.ดร.ธรณ์ยังให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กอีกว่า ในกรณีนี้ การแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันจะต้องมีความโปร่งใสและชัดเจน จะได้มาช่วยกันดูช่วยกันคิด”
ความงามของอาทิตย์อัสดงที่อ่าวพร้าว
จี้รัฐแจ้งความ ฟ้องบริษัททำน้ำมันรั่ว

ด้าน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เขียนบทความ “คราบน้ำตา..ใต้คราบน้ำมัน” ในคอลัมน์ฝ่าเกลียวคลื่น บนเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขบวนการขุดเจาะหรือขนถ่ายน้ำมันแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เพราะก่อนหน้านี้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในหลาย ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเรือบรรทุกน้ำมัน เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วไหล ล้วนสร้างความเสียหายจนไม่อาจประเมินค่าได้

ปรากฏการณ์น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รั่วลงทะเล กินอาณาบริเวณกว้างในทะเลระยองในครั้งนี้ เราได้เห็นสื่อ หน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่ากองทัพเรือที่สนับสนุนใช้เครื่องบินกองทัพเรือบินลาดตระเวน และเรือของกองทัพออกไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้แก่บริษัทเอกชนอย่างแข็งขัน

แต่เรายังไม่เห็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคม ออกมาทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

จนถึงวันนี้ยังไม่พบว่ามีองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือของรัฐหน่วยงานไหนได้ทำหน้าที่แจ้งความกล่าวโทษเพื่อเอาผิดต่อทางบริษัทที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ไม่ว่าต่อทะเล ต่อพันธุ์สัตว์น้ำ หรือต่อหาดทรายชายหาดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ปรากฏการณ์ของคราบน้ำตาที่ไร้ค่าของคนเล็กคนน้อย ก็ต้องซุกอยู่ใต้คราบน้ำมันเสมอ เพราะมูลค่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง”
อ่าวพร้าวในอดีตที่สวยสดใส
ชาวเน็ตยกกรณีอย่างรัฐฟ้องร้องบริษัททำน้ำมันรั่ว

ส่วนในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตมีการพูดถึงกรณีนี้กันอย่างกว้างขวาง และส่วนหนึ่งมีแนวคิดเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตีในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพราะทำให้เกิดผลกระทบมากมายหลายด้าน ซึ่งเคยมีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ทั้งในสหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลกลางฟ้องร้อง บีพี บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ และบริษัทน้ำมันรายอื่นๆ อีก 8 แห่ง กรณีแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 จนเกิดน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก โดยทางฝ่ายรัฐเป็นผู้ชนะ และบริษัทบีพี ยินยอมชำระค่าปรับจำนวน 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.39 แสนล้านบาท) ให้แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นค่าปรับที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ส่วนในประเทศจีน รัฐบาลก็มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก ซีนุก บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลจีน และคู่หุ้นส่วนบริษัทธุรกิจน้ำมันข้ามชาติอเมริกัน ConocoPhillips กรณีเหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะบ่อน้ำมันในอ่าวปั๋วไห่ มณฑลซานตง เมื่อเดือนมิถุนายน 2554

ระบุรัฐปกปิดข้อมูล

สำหรับในเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทน้ำมันนั้น นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทาง ปตท. และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ปกปิดข้อมูล โดยอ้างว่าแก้ไขสถานการณ์ได้แล้ว แต่อันที่จริงนั้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่มีการระดมความคิดในการแก้สถานการณ์อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดเหตุบานปลาย โดยอยากเรียกร้องบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นต้นเหตุรับผิดชอบทุกกรณี

ทางสมาคมประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับ ปตท. และถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังปกปิด เหมือนกรณีเหมืองคริตตี้ที่กาญจนบุรี ประชาชนจะฟ้องข้าราชการในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเคยพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องชดเชยความเสียหายให้กับประชาชน และตนจะเป็นทนายความให้กับสมาคมประมงพื้นบ้าน และเครือข่ายประชาชน เพื่อฟ้อง ปตท. ต่อศาลปกครองและศาลแพ่งต่อไป ทั้งนี้หากรัฐบาลมีความจริงใจต้องตั้งกองทุนขึ้นมาชดเชยความเสียหายที่จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูหลายปี
เร่งกำจัดคราบน้ำมัน
กรีนพีซจี้รัฐทบทวนนโยบายพลังงาน

ขณะที่ทางกรีนพีซได้ออกมาจี้รัฐให้ทบทวนนโยบายพลังงานและยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้บริษัท พีทีที โกลบอลฯ และบริษัทแม่คือ ปตท. แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทยในช่วง 30 ปีนี้ ปตท. ควรออกมารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยวของไทย” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

นอกจากนี้กรีนพีซยังเรียกร้องให้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แสดงความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน

ลั่นรัฐไม่ฟ้อง ส.ต่อต้านโลกร้อนลุยเอง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง รัฐจะต้องเรียกค่าเสียหายทางทรัพยากรแทนประชาชนกรณีน้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยว่า คราบน้ำมันดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์ทะเล กระทบต่ออาชีพของชาวประมง กระทบต่อระบบการท่องเที่ยว เพราะคราบน้ำมันจะถูกคลื่นซัดมาถึงชายหาดพื้นที่ท่องเที่ยวได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชัดแจ้ง ฯลฯ

ดังนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต้องเป็นธุระในการดำเนินการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไป ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติจากบริษัท พีทีทีฯ แทนประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยทันที ตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยทันที พร้อมกับนำเงินดังกล่าวจัดตั้งกองทุนดูแล ชดเชย อาชีพของชาวประมง และอาชีพต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดังกล่าว

หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ละเว้น เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบดังกล่าว ในการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้น รวมทั้งการร้องเอาผิดทางวินัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นเพิกเฉยต่อเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น