หลังจากเกิดวิกฤติน้ำมันรั่วไหลบริเวณชายฝั่งเกาะเสม็ด จ.ระยอง โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวพร้าว ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุดพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติทางทะเล และห้ามไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่จนกว่าการกำจัดคราบน้ำมันจะเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า “ระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในตอนนี้ ได้แก่ ระบบนิเวศชายหาดของอ่าวพร้าว ยาว 600 เมตร คราบน้ำมันจะจับตามตัวสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ปูลม หอย ยังทำให้สัตว์ทะเลที่ฝังอยู่ในทรายไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ง่ายๆ คือ หายใจไม่ออก และระบบนิเวศที่ได้รับผลต่อไปคือแนวปะการังและหาดหินที่อยู่รอบบริเวณนี้”
นอกจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว พื้นที่ชายฝั่งในแถบ จ.ระยอง นั้นยังเป็นพื้นที่ที่มีการทำการประมงชายฝั่งจำนวนมาก โดยมีทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะกุ้งทะเล และยังมีการทำการประมงชายฝั่งโดยเรือเล็ก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน
นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จังหวัดระยอง ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ชาวประมงเริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้นแล้ว โดยมีชาวประมงที่ออกเรือลากอวนกลับเข้ามายังฝั่ง ได้รับความเสียหายจากคราบน้ำมันที่เกาะอยู่ตามอวน จนต้องทิ้งอวนไปเพราะไม่สามารถใช้งานได้อีก
และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหากควบคุมคราบน้ำมันไม่อยู่ กระแสลมอาจจะพัดคราบน้ำมันไปจนถึงเกาะกุฎี เกาะมันนอก และเกาะมันใน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เต่าทะเล จะได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ตอนนี้ได้ประสานกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่นำเรือออกไปทะเลช่วยบันทึกภาพคราบน้ำมันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป แต่ก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯ และชาวบ้านได้ไปแจ้งความร้องทุกที่ สภ.เมืองระยอง เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว
ด้านชาวประมงที่นำเรืออกจากฝั่งบ้านปากคลองแกลง ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ได้แจ้งข้อมูลว่า พบเห็นคราบน้ำมันบนผิวน้ำเป็นบริเวณกว้าง และยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ จึงต้องรีบนำเรือกลับเข้าฝั่ง
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว โดยเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (30 ก.ค.56) ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังกำจัดคราบน้ำมันที่บริเวณอ่าวพร้าว ได้พบสัตว์ทะเลขึ้นมาตายเกยตื้นริมหาด โดยการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นเป็นปลาหางเหลืองและหอยขาวจำนวนมาก และได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำไปตรวจพิสูจน์อย่างละเอียด
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกคำเตือนเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว โดยมีการดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนจากการสูดกลิ่นหรือสัมผัสคราบน้ำมันโดยตรง และเฝ้าระวังการปนเปื้อนในอาหาร โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดชลบุรี ดำเนินการเฝ้าระวังการปนเปื้อนอาหารทะเล เช่น ปลา ปู หอย โดยเก็บตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการปนเปื้อนสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่ว รวมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเล อย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน
ในเบื้องต้นทางกระทรวงฯ ได้รับรายงานว่า มีผู้ป่วยเป็นชาวบ้านอ่าวพร้าวมารับบริการจำนวน 4 ราย มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ ซึ่ง นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และมีโอกาสสัมผัสกับสารปนเปื้อน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้กู้ภัย กู้สถานการณ์ ที่อาจสัมผัสกับสารปนเปื้อนโดยตรงทั้งทางการหายใจ และทางผิวหนัง 2.กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดการปนเปื้อน และ 3.กลุ่มประชาชนผู้บริโภคทั่วไป จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ทำหน้าที่กู้ภัย ควรป้องกันตนเอง โดยสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ หน้ากากอนามัยป้องกันการสูดกลิ่นเข้าสู่ระบบหายใจ สวมชุดป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการรับสัมผัสกับสารเคมี ส่วนในกลุ่มผู้ที่อาศัยในบริเวณที่เกิดการปนเปื้อน ขอให้หลีกเลี่ยงเข้าไปในบริเวณที่ปนเปื้อน หากมีคราบเปื้อนที่ผิวหนัง ควรล้างทำความสะอาด รวมถึงให้ดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่ปนเปื้อนน้ำมันด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com