xs
xsm
sm
md
lg

เสนอไทยตั้ง “ศูนย์กำจัดคราบน้ำมัน” ทำงานเต็มเวลาเหมือนสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพการปฏิบัติงานกำจัดคราบน้ำมันที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด (เอเอฟพี)
ตัวแทนจาก ปตท.เผยน้ำมันรั่วในอ่าวไทยหนนี้ให้บทเรียนว่ามีความพร้อมและอุปกรณ์กำจัดคราบน้ำมันบางอย่างน้อยไป ไทยน่าจะมีศูนย์กำจัดคราบน้ำมันที่มีผู้เชี่ยชาญทำงานเต็มเวลาเหมือนสิงคโปร์ ส่วน ดร.ธรณ์ชี้เป็นบทเรียนกระตุ้นว่าหากเกิดปัญหาที่อื่นเราจะมีความพร้อมรับมือหรือไม่ ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษบอกผู้ที่เก็บกู้คราบน้ำมันต้องตรวจร่างกายเพื่อหาการปนเปื้อนของสารพิษด้วย

รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายพัลลภ มังกรชัย กรรมการบริหารสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน และผู้จัดการส่วนคุณภาพความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม วายปฏิบัติการตัดหาและคลัง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันเสวนาเรื่อง "บทเรียน...กู้วิกฤตน้ำมันรั่วในทะเล" เมื่อวันที่ 5 ส.ค.56 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในส่วนของ ดร.ธรณ์กล่าวถึงกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า เป็นบทเรียนให้เรากลับมาพิจารณาว่า หากเกิดกรณีน้ำมันรั่วในพื้นที่อื่นเราจะมีความพร้อมในการรับมือหรือไม่ มีขั้นตอนที่ชัดเจนในการรับมืออย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ซึ่งต้องเปิดเผยและให้สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบได้ เช่น อ้างว่ามีทุ่นกันน้ำมันยาว 500 เมตรก็ต้องเปิดโกดังให้สื่อมวลชนเข้าไปดูได้ว่ามีอยู่จริง เป็นต้น

“เราต้องการความมั่นใจว่ามีการเตรียมพร้อม ถึงอุปกรณ์ในการป้องกันคราบน้ำมันจะแพง แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผลเสียจะแพงกว่าเยอะ” ดร.ธรณ์กล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างการดำเนินคดีอุบัติเหตุน้ำมันรั่วในต่างประเทศว่า เคยมีคดีที่ยาวนานที่สุด 14 ปี ส่วนที่ดำเนินคดีปเนระยะเวลาสั้นๆ 3-4 ปีก็มีเช่นกัน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดก็มีหนังสืออ้างอิงให้ดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ดร.ธรณ์พร้อมคณะได้ลงพื้นที่มีคราบน้ำมันรั่วเพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีการเก็บตัวอย่างน้ำและตัวอย่างอื่นๆ มาตรวจ ซึ่งเขากล่าวว่าการเก็บตัวอย่างหลังเกิดเหตุอย่างละเอียดนี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะไม่เช่นนั้นหากอีก 2-3 ปีข้างหน้าชาวประมงร้องเรียนว่าปลาหายไป ก็จะไม่สามารถตอบได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และในการเก็บข้อมูลครั้งแรกต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดที่สุด เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาเก็บย้อนข้อมูลได้
เจ้าหน้าที่ใช้กระดาษสำหรับซับคราบน้ำมันกำจัดคราบน้ำมันตามชายหาด (เอเอฟพี)
ด้าน นายวิเชียรกล่าวว่า จำเป็นต้องสำรวจสภาพแวดล้อมก่อนที่จะประเมินความเสียหายได้ และตอนนี้ได้คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ซึ่งออกปฏิบัติงานแล้ว และมีการเก็บตัวอย่างน้ำรอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง ทั้งหมดทุกอ่าว โดยมีการตรวจสอบหาโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือพีเอเอช (PAHs) สารตั้งตั้นก่อมะเร็งจากปิโครเคมี เป็นต้น

นายวิเชียรกล่าวว่าคณะทำงานจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและสำรวจเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ นิเวศชายหาด แนวปะการัง แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ หญ้าทะเล ปลาชายเลนและสัตว์ต่างๆ และจะใช้เวลาในการสำรวจเป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการฟื้นฟูที่จะเข้าไปสำรวจความเสียหายต่อประชาชนและสังคมด้วย

สำหรับสารเคมีสำหรับสลายคราบน้ำมันที่ใช้ในครั้งนี้คือ “ซิลิคกอนเอ็นเอส” (SlickgoneNS) ซึ่งนายวิเชียรระบุว่า สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเมื่อใช้ในพื้นที่ทะเลลึกกว่า 10 เมตร โดยสารมีจะทำให้คราบน้ำมันแตกตัวและลอยอยู่ที่ความลึกประมาณ 5-6 เมตร ดังนั้น การใช้ในทะเลที่ลึกน้อยกว่า 10 เมตร จึงต้องขออนุญาต เนื่องจากน้ำมันที่แตกตัวเหล่านั้นอาจลงไปคลุมปะการังและทำให้ปะการังตายได้ หรือจมสู่พื้นทะเลซึ่งจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ มีการอนุญาตใช้สารดังกล่าวไป 5,000 ลิตร แต่มีการใช้จริงไป 32,000 ลิตร โดย นายพัลลภอธิบายว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็เหมือนการออกรบที่ไม่สามารถของอนุญาตบรรจุกระสุนและขออนุญาตยิงได้ แต่ต้องปฏิบัติงานไปตามสถานการณ์ โดยจะได้ทำเรื่องขออนุญาตย้อนหลัง สอดคล้องกับที่นายวิเชียรชี้แจงว่าสามารถทำได้

บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวนายวัลลภกล่าวว่า ในส่วนของ ปตท.นั้นการตอบสนองต่อเหตุการ์ณก็นับว่าเร็วพอสมควร ซึ่งนอกจากศูนย์ปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันที่ศรีราชา จ.ชลบุรี และ จ.สงขลา ตอนนี้ก็มีศูนย์ที่ จ.ระยองแล้ว แต่ก็มีอุปกรณ์บางอย่างที่น้อยไป เช่น แผ่นดูดคราบน้ำมัน ที่ใช้สำหรับดูดซับน้ำมันตามชายฝั่งก่อนที่จะนำไปบีบเอาน้ำมันออก เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายวัลลภได้เสนอว่า แม้ไทยพร้อมด้วยประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะได้รับการอบรมความรู้ระดับสากลในการกำจัดคราบน้ำมัน แต่ไทยควรจะมีมืออาชีพที่ทำงานด้านกำจัดคราบน้ำมันอย่างเต็มเวลา ซึ่งในแถบอาเซียนมีศูนย์ใหญ่ๆ อยู่ที่สิงคโปร์ที่มีศูนย์ปฏิบัติงานระดับโลกและทำงานเต็มเวลา เมื่อมีเหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ๆ ก็เข้าไปช่วยเหลือแล้วรับค่าตอบแทน หรือที่อินโดนีเซียซึ่งมีศูนย์กำจัดคราบน้ำมัน 5 ศูนย์
รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ซ้าย) นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง (ที่ 2 ขวา) และ นายพัลลภ มังกรชัย (ขวา)






กำลังโหลดความคิดเห็น