xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันรั่วพ่นพิษ คนหวั่นภัยสุขภาพ เกิดโรคกลัวปลา ระแวงหอย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรียกว่าพ่นพิษไปทั่ว และยังคงไม่จบลงง่าย ๆ กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลที่ จ.ระยอง นอกจากจะกระทบระบบนิเวศที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูแล้ว อีกหนึ่งกระแสมาแรง คงจะหนีไม่พ้นเรื่องภัยสุขภาพที่คนจำนวนไม่น้อย เริ่มหวั่นวิตก และเกิดอาการกลัวปลา ระแวงหอยจากภาคตะวันออก ส่งผลกระทบถึงแหล่งอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยว ล่าสุดมีรายงานว่า ร้านที่เคยมีคนรอกิน ตอนนี้เงียบเหงามาก..

เหตุผลหนึ่งอาจมาจากข้อมูลเรื่องน้ำมันดิบ ซึ่งประกอบด้วยสารต่างๆ หลายร้อยชนิด บางชนิดมีพิษและอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ รวมไปถึงการใช้สารเคมีในปริมาณมากเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ทำให้หลายคนคาดการณ์กันว่า อาจมีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือในสัตว์ทะเลได้

ไม่แปลกที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเล จึงเป็นเรื่องชวนกังวลปนสงสัยที่ประชาชนและสื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ และถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเสียที โดยเฉพาะสารเคมีทีใช้ในการกำจัดคราบน้ำมัน รวมไปถึงมาตรการควบคุมป้องกันที่เข้มงวด

ไขข้อสงสัย ภัยอาหารทะเล

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลที่จ.ระยอง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ โรคกลัวปลา ระแวงหอยของประชาชน ยิ่งมีข่าวลือแพร่สะพัดในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจากคนที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้รู้ แนะให้งดหอยทุกชนิด และอาหารทะเลจากภาคตะวันออกอย่างน้อย 6 เดือน โดยเฉพาะหอยที่เป็นสัตว์หน้าดิน ควรเว้นไปเลย 1 ปี พร้อมแนะให้ตุนน้ำปลาไว้บริโภคเพียงพอ 2 ปี เนื่องจากน้ำปลาต้องผ่านการหมักนาน 12-18 เดือน ก็ยิ่งทำให้คนในพื้นที่ และคนทั่วไปเกิดอาการหวั่นวิตก และตื่นตูมกับเรื่องดังกล่าว

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ ได้สอบถามไปยัง รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คำตอบว่า ไม่จำเป็นต้องงดอาหารทะเลจากภาคตะวันออกทั้งหมด โดยแถบชลบุรี จันทบุรีน่าจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่รู้แหล่งที่มาของอาหารทะเลก็ไม่ควรบริโภค อีกทั้งกรมประมงก็มีระบบติดตามและประเมินความปลอดภัยอยู่แล้ว

ส่วนกรณีการตุนน้ำปลานั้น ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำชี้แจงว่า ในขั้นตอนผลิตน้ำปลามีการตรวจสอบตามมาตรฐานขององค์การอาหารละยา (อย.) อยู่แล้ว และมีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานของโรงงาน หากมีสารพิษเกินมาตรฐานยอมไม่ผ่านการตรวจจาก อย.อยู่แล้ว และไม่ต้องตุนน้ำปลาถึง 2 ปี

ต่อกรณีเดียวกันนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อีกคน โดยให้ความมั่นใจว่า

...ตามที่มีข่าวว่า อาจารย์จากมหิดลให้ข่าวว่า อย่ากินหอยจากภาคตะวันออก ผมมีความคิดเห็นบอกเพื่อนธรณ์ดังนี้ครับ

1. อาจารย์ท่านนั้นคือผู้ใด เหตุใดจึงไม่แสดงตัว ผมมีเพื่อนฝูงอยู่ ม.มหิดลหลายคน สอบถามก็ไม่ทราบว่าใครพูด

2. ในความคิดเห็นของผม คนที่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จะไม่พูดอะไรที่มีความสำคัญต่อสังคมโดยไม่เปิดเผยตัวเป็นอันขาด

3. หอยกรองอาหารจากน้ำ ใช่ หากมีคราบน้ำมันในบริเวณนั้น หอยอาจกรองเข้าไป ก็ใช่ ทว่า น้ำมันอยู่ที่บ้านเพ เกี่ยวข้องอะไรกับสถานที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออก ผมจึงยืนยันอย่างชัดเจนว่า หอยที่ศรีราชากินได้ ทีบางแสนอ่างศิลาก็กินได้ อร่อยด้วย หรือแม้กระทั่งหอยจันทบุรี ตราด หรือที่ใดก็ตามที่ภาพถ่ายดาวเทียมไม่ได้โชว์ว่า คราบน้ำมันลอยไปถึงที่นั่น ย่อมกินได้เสมอ

4. หอยที่บ้านเพกินได้ไหม เรื่องนั้นต้องสอบถามจากกรมประมงเพื่อข้อมูลที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นผมตอนนี้ ยังไม่มีประกาศใด ผมดมแล้วไม่มีกลิ่นน้ำมัน มองซ้ายขวาแล้วมีคนเลี้ยง ผมกินครับ

5. สำหรับข่าวว่าจงไปซื้อน้ำปลามาตุนซะ เพราะปลากะตักที่ใช้ทำน้ำปลา อาจปนเปื้อนคราบน้ำมัน ผมยืนยันว่าแม้น้ำปลาระยองจะมีชื่อ แต่ปลาที่ได้มาไม่ได้มาจากแถวนั้น โดยเฉพาะอ่าวบ้านเพอันเป็นที่ตื้น ผมจะไม่บ้าจี้ไปซื้อน้ำปลาเพื่อมากักตุนเป็นอันขาด

6. ประเด็นใด ๆ ก็ตามต่อจากนี้ เช่น อย่าใช้แชมพูเพราะมีส่วนสกัดจากสาหร่ายทะเล อย่าใส่เกลือเพราะอาจมีการปนเปื้อน ฯลฯ ไม่ควรจะอยู่ในข้อสงสัยต่อไป คราบน้ำมันแม้ไม่ดี แต่ไม่ใช่สารกัมมันตภาพรังสี หากเรายังยินดีใช้มาร์กตเต้าหู้จากญี่ปุ่น (น่ากลัวเนอะ) เหตุใดเราจึงไม่กล้ากินน้ำปลาไทย

เพราะฉะนั้น อย่าตื่นตระหนก สอบถามความชัดเจนให้แน่นอน หากสอบจากใครไม่ได้ ขอเชิญถามไถ่มา หากตอบได้ ยินดีเสมอครับ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งความเห็นจาก ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาบอกในประเด็นเดียวกันว่า น้ำมันที่รั่วไม่ได้เยอะมาก ต่างจากกรณีอ่าวเม็กซิโก การงดอาหารทะเลและตุนน้ำปลาถึง 2 ปีก็เป็นเรื่องที่ตระหนกเกินไป ผลกระทบไม่น่าจะเป็นวงกว้างขนาดนั้น น่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยวมากกว่าที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการทำประมงนั้นเขาออกไปกลางทะเลไกลชายฝั่งอยู่แล้ว

"ตอนนี้หน่วยงานราชการ ทั้งกรมควบคุมมลพิษ และกรมประมงกำลังตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเล อยากให้รอผลตรวจจากทางราชการที่เพิ่งเก็บตัวอย่างไปตรวจดีกว่า คงรออีกไม่กี่วัน น่าจะได้ทราบกัน" อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็น

สอดรับกับข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับจาก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งระบุว่า เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ เพิ่งจะผ่านมาได้เพียงไม่เกิน 1 อาทิตย์ จึงยังไม่มีข้อมูลผลการตรวจสอบระดับสารเคมีที่อาจเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์ทะเลจากหน่วยงานภาครัฐออกมาให้ประชาชนทราบ

เปิดกรณีศึกษาน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยดังกล่าว ได้มีข้อมูลการตรวจหาระดับสารพิษในสิ่งแวดล้อมและในสัตว์ทะเลภายหลังจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบ ซึ่งเกิดขึ้นที่ต่างประเทศในอดีต โดยคาดว่าจะเป็นข้อมูลที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาสุขภาพและอาจช่วยลดความสับสนหรือความกังวลได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่อ่าวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 และสิ้นสุดวันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้น มีน้ำมันดิบรั่วไหลสู่ทะเลประมาณ 800 ล้านลิตร มีการประกาศห้ามจับสัตว์น้ำเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายในบริเวณที่พบคราบน้ำมันและบริเวณใกล้เคียงหลังจากเกิดเหตุไม่กี่วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเริ่มสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลา กุ้ง ปู และหอยนางรม ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ บริเวณใกล้เคียงและบริเวณเฝ้าระวัง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2553 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 จำนวนมากกว่า 8,000 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์หาสารจากน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันที่อาจตกค้างหรือสะสมอยู่ในสัตว์ทะเล

นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งออกเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารตกค้างเช่นเดียวกัน ในน้ำมันดิบมีสารเคมีต่างๆ หลายร้อยชนิด สารที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจคือสารในกลุ่ม โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ "พี เอ เอช" (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAH) เนื่องจากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าสารกลุ่ม พี เอ เอช นี้มีพิษก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอด รวมทั้งสามารถตกค้างและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเลและในร่างกายมนุษย์ได้เป็นระยะเวลานาน จึงสามารถใช้ระดับสาร พี เอ เอช เป็นตัวบ่งชี้ว่าสัตว์ทะเลที่จับได้ในบริเวณนั้นมีความปลอดภัย สามารถนำไปบริโภคได้หรือไม่

ภาพเมื่อครั้งเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบีพี ยักษ์ใหญ่น้ำมันอังกฤษ ระเบิดจนทำให้น้ำมันรั่วไหลสู่อ่าวเม็กซิโกเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยทั่วไปแล้ว สัตว์ทะเลที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีสารกลุ่ม พี เอ เอช สะสม ได้แก่ กุ้ง ปู และหอยนางรม เนื่องจากสัตว์จำพวกนี้มีความสามารถในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายด้อยกว่าสัตว์ที่เป็นอาหารทะเลชนิดอื่น นอกจากนี้ ยังมีการวัดหาปริมาณธาตุโลหะหลายชนิดที่มาจากน้ำมันดิบและวัดหาปริมาณสารตกค้างจากน้ำยาเคมีที่ใช้ขจัดคราบน้ำมัน เพื่อใช้ชี้วัดความปลอดภัยของอาหารทะเลด้วย

ผลการสำรวจหาสารตกค้าง พบว่า ภายหลังจากน้ำมันดิบรั่วไหล จะตรวจพบสารในกลุ่ม พี เอ เอช สูงขึ้นในสัตว์ทะเลแทบทุกชนิด โดยพบในระดับที่แตกต่างกันไป เช่น ในปลาแซลมอน พบระดับสารกลุ่ม พี เอ เอช สูงขึ้นกว่าระดับปกติ 2 เท่า ส่วนในหอยเชลล์ พบระดับสารในกลุ่ม พี เอ เอช สูงขึ้นกว่าระดับปกติถึง 100 เท่า แต่โดยเฉลี่ยสำหรับตัวอย่างสัตว์ทะเลที่นำมาตรวจทั้งหมด พบระดับสารกลุ่ม พี เอ เอช สูงขึ้นกว่าระดับปกติ 2-17 เท่า โดยเฉพาะสัตว์ที่จับมาจากบริเวณที่มีคราบน้ำมัน ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ส่วนระยะเวลาที่ระดับสารกลุ่ม พี เอ เอช ลดลงสู่ระดับปกติในสัตว์ทะเลแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน เช่น ปลา กุ้งและปู ใช้เวลา 2-4 เดือน ส่วนสัตว์จำพวกหอย ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ระดับสารพิษนี้จึงจะลดลงสู่ระดับปกติ

ส่วนธาตุโลหะนั้น นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบ แมงกานีส สารหนู โคบอลต์ โครเมียม ซีลีเนียม ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และธาตุอื่นๆ สะสมในสัตว์ทะเลในปริมาณสูงกว่าปกติ โดยพบว่าหอยนางรมมีธาตุโลหะตกค้างอยู่มากที่สุด ยิ่งหอยมีขนาดใหญ่ก็จะยิ่งพบธาตุโลหะตกค้างสูงและพบว่ามีธาตุโลหะตกค้างนานกว่า 10 เดือน นอกจากนี้ยังตรวจพบสาร ไดออกทิล โซเดียม ซัลโฟซัคซิเนต หรือ "ดี โอ เอส เอส" (Dioctyl Sodium Sulfosuccinate; DOSS) ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของน้ำยาขจัดคราบน้ำมันตกค้างในสิ่งแวดล้อมนานกว่า 2 เดือน แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าตรวจพบการสะสมของสารนี้ในสัตว์ทะเลหรือไม่

จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้บทเรียนว่า หากมีการประกาศห้ามจับสัตว์ทะเลเพื่อบริโภคหรือจำหน่าย ในบริเวณที่ตรวจพบคราบน้ำมันและบริเวณใกล้เคียงทันทีที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล จนกว่าสารตกค้างชนิดต่างๆ มีระดับลดลงสู่ระดับปกติ รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จะช่วยลดความกังวลและช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเลมากขึ้น

เลือกอาหารทะเลอย่างไร กินได้-ไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ยังไม่มีรายงานการตรวจวัดสารตกค้างในสัตว์ทะเลอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐ ทางศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ได้แนะนำให้ประชาชนใส่ใจกับการเลือกซื้อ เลือกรับประทานสัตว์ทะเล โดยหากซื้อสัตว์ทะเลสด ควรสังเกตดูเปลือกและผิวหนัง รวมทั้งดมกลิ่นว่ามีคราบลักษณะคล้ายน้ำมันเกาะอยู่หรือมีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ หากตรวจดูแล้วแต่ยังไม่แน่ใจ อาจเทียบสีและกลิ่นของสัตว์ทะเลกับร้านขายที่อยู่ข้างเคียงก่อนตัดสินใจซื้อ

เมื่อรับประทาน ควรสังเกตกลิ่น รส และเนื้อสัมผัส หากพบว่าผิดปกติก็ไม่ควรรับประทาน หากเกิดอาการผิดปกติภายหลังจากการรับประทานอาหารทะเลที่ต้องสงสัย ควรรีบพบแพทย์ทันทีและแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อตรวจหาสารพิษในกระแสเลือดได้อย่างถูกต้อง ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวซึ่งกินเวลาหลายปีนั้น คงต้องใช้การใส่ใจดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิดและพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ทางด้าน วิมล จันทโรทัย อธิบดีกรมประมง ก็ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านสื่อว่า แม้จะมีคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อรับน้ำมันของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ตกตะกอนอยู่ภายในทะเล และบางส่วนถูกน้ำทะเลซัดเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง แต่ประชาชนยังไม่ต้องตื่นตระหนก หยุดบริโภคสัตว์ทะเล อาหารทะเล เพราะตามปกติ หากเกิดความผิดปกติกับท้องทะเล สัตว์ทะเล โดยเฉพาะปลาจะว่ายออกกลางทะเล เพื่อเอาชีวิตรอด แต่เพื่อความไม่ประมาท ประชาชนควรดมกลิ่นก่อนซื้อบริโภค เพราะหากเป็นปลา หรือสัตว์ทะเลที่ได้รับคราบน้ำมันจะมีกลิ่นน้ำมัน แม้จะนำไปปรุงอาหารแล้วกลิ่นก็ยังคงอยู่

ส่วนปลาที่ลอยซากตายบริเวณชายหาดอ่าวพร้าวนั้น คาดว่าจะเป็นปลาทะเลที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง ว่ายช้า คราบน้ำมันอาจไปติดตามเหงือก ทำให้ปลาหายใจไม่ออก ขณะเดียวกันคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเลหนาแน่น จะปิดการส่องแสงอาทิตย์ลงสู่ใต้น้ำทะเล ไม่สามารถสร้างอาหารตามธรรมชาติได้

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เกิดเหตุวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมประมงได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลในบริเวณที่เกิดเหตุมาตรวจ พบว่าคุณภาพของน้ำทะเลยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และพืชทะเล แต่หลังคราบน้ำมัน ถูกพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ด ด้านอ่าวพร้าว และมีแนวโน้มว่าจะพัดขึ้นชายฝั่ง จ.ระยอง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปเฝ้าระวังบริเวณอ่าวเพ เพราะมีกลุ่มชาวประมง และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังจำนวนมาก หากคราบน้ำมันพัดไปถึงจะส่งผลกระทบอย่างมาก

ถึงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ที่กำจัดคราบน้ำมันใช้สารชนิดใดและมีความเป็นพิษหรือไม่ แต่จากข้อมูลของศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เมื่อน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล น้ำมันจะลอยแยกชั้นปกคลุมผิวน้ำ ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถขึ้นมาหายใจหรือหากินได้ตามปกติ รวมทั้งบดบังแสงสว่างทำให้พืชน้ำบริเวณชายหาดไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ดังนั้นจึงมีการนำสารที่มีฤทธิ์ทำให้น้ำมันสามารถละลายในน้ำได้มาใช้ในการสลายคราบน้ำมัน

เมื่อน้ำมันดิบละลายไปกับน้ำทะเล สารพิษบางส่วนในน้ำมันดิบระเหยเป็นไอสู่บรรยากาศ สารพิษที่เหลือจะละลายไปกับน้ำทะเลและยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศ โดยสารเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายทะเลจำนวนมากหลายชนิดรวมทั้งชนิดที่มีพิษด้วย

นอกจากนั้น ยังมีสารโลหะหนักและสารอีกบางส่วนจากน้ำมันดิบตกลงสู่พื้นทะเลและเกิดการสะสมอยู่ในบริเวณนั้น โดยปกติแผ่นหินพื้นทะเลมีบทบาทในระบบนิเวศ ช่วยในการดูดซับสารหนูที่กระจายอยู่ในทะเล แต่เมื่อมีสารจากการสลายคราบน้ำมันดิบตกลงไปเคลือบบนแผ่นหินพื้นทะเล สารเหล่านี้อาจรบกวนการดูดซับสารหนูจากทะเลสู่แผ่นหิน ทำให้มีการสะสมสารหนูในสัตว์ทะเลสูงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่บริโภคอาหารทะเลในท้ายที่สุด

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



สภาพอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อ 1 ส.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น