xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลสีดำ ทำคนกลัว-หมดศรัทธา! เมื่อ ปตท.เปิดความตายสู่ทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นประเด็นใหญ่ที่มีการพูดถึงในวงกว้าง ทั้งเรื่องผลกระทบ และความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบ กรณีเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วกลางทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากครั้งนี้มีปริมาณน้ำมันรั่วประมาณ 50,000 ลิตร หรือประมาณ 316 บาร์เรล (ประมาณ 50-70 ตันลิตร) ถือว่าอยู่ในระดับการรั่วไหลที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระดับ (Tier) ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั่วอ่าวพร้าว

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ความตื่นตัวจากสื่อกระแสหลักแล้ว ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ตื่นตัวในเรื่องนี้มากด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการโพสต์ และการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดการคราบน้ำมันที่ลุกลามบานปลายจนต้องประกาศให้อ่าวดังกล่าวเป็นพื้นที่พิบัติทางทะเล ล่าสุดมีรายงานว่า คราบน้ำมันดังกล่าวยังได้ลอยไปถึงชายฝั่งบ้านเพ และบ้านปากคลองแกลงแล้ว

"ทะเลสีดำ" สวรรค์ล่มที่อ่าวพร้าว

ภาพทะเลที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมันรั่วไหลจนกลายเป็นภาพที่ใครหลายคนตั้งชื่อว่า "ทะเลสีดำ" ตามสื่อต่าง ๆ เป็นภาพที่ดูน่ากลัว และน่าเป็นห่วง จากหาดทรายที่เคยขาวสะอาด กลายเป็นสีดำสนิท กลิ่นน้ำมันคลุ้งไปทั่วเกาะ กระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง

สำหรับการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก หากค้นข้อมูล และย้อนกลับไปดู พบว่า ระหว่างปี 2540-2553 เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วในไทยมาแล้วถึง 9 ครั้งใหญ่ ๆ ด้วยกัน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งที่ 10 นี้ ถือว่าอยู่ในการรั่วไหลระดับ 2 (ไหลมากกว่า 20 - 1,000) ตันลิตร) จากทั้งหมด 3 ระดับ

เห็นได้จาก เว็บไซต์ฐานความรู้ทางทะเล ที่ระบุว่า จากสถิติกรมเจ้าท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2553 พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณมาก (20,000 ลิตรขึ้นไป) ทั้งสิ้น 9 ครั้ง พบเกิดในทะเลและชายฝั่งท่าเทียบเรือ ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ

โดยทั่วไปวิธีการเก็บกู้ที่ใช้ในกรณีน้ำมันรั่วทั่วไป มีหลายวิธีด้วยกันคือ การกักและเก็บ โดยใช้ทุ่นน้ำมัน จำกัดขอบเขตการแพร่กระจายของน้ำมันให้มีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น จึงใช้เครื่องเก็บน้ำมัน (Skimmer) เก็บคราบน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้วัสดุดูดซับคราบน้ำมันอื่นๆ เช่น ลำไม่ไผ่ มัดฟางข้าว เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันบนผิวน้ำได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น การใช้สารเคมีที่ทำให้น้ำมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ หรือสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่ผลิตจากจุลินทรีย์บางชนิด สารเคมีที่นำมาใช้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ และต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรใช้วิธีนี้เมื่อขจัดคราบน้ำมันไม่ได้ผลหรือไม่ทันการณ์

หรือถ้าเลวร้ายที่สุดคือ การเผา ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้ได้ก่อนที่คราบน้ำมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมี และคราบน้ำมันต้องมีความหนาตั้งแต่ 3 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยเริ่มจากล้อมคราบน้ำมันด้วยทุ่นกักเก็บชนิดพิเศษที่ทนไฟได้ดี เช่น Ceramic type boom และเริ่มทำการเผา ซึ่งการขจัดคราบน้ำมันด้วยวิธีดังกล่าวนี้ต้องทำด้วยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษและมีการวางแผนเป็นอย่างดี

แต่ในกรณีนี้ ทางบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อเมื่อหลายวันก่อนว่า ได้ให้เครื่องบินขจัดคราบน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์บินฉีดพ่นสารเคมีควบคู่กับการใช้เรือพ่นน้ำยาและยืนยันว่า สารเคมีที่ใช้สามารถย่อยสลายน้ำมันไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล

เรื่องนี้ ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ได้เขียนบทความ "น้ำมันรั่ว...จบแค่นี้จริงหรือ" ไว้ในเซกชันข่าวสิ่งแวดล้อม บนเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว พร้อมกับตั้งคำถามชวนคิดตามมาว่า "เราเชื่อคำพูดของผู้ประกอบการที่ไม่เปิดเผยขั้นตอนวิธีการและรายชื่อของสารเคมีที่ใช้ได้แค่ไหน" โดยเธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพต่อว่า

"กรณีน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่อ่าวเม็กซิโกและน้ำมันมหาศาลเคลื่อนสู่ชายฝั่งสหรัฐอเมริกาเมื่อ 3 ปีก่อน แม้จะเป็นหายนะน้ำมันรั่วที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก แต่ก็ทำให้เกิดผลพลอยได้คือการเปิดหูเปิดตาชาวโลก ครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้สารสลายคราบน้ำมัน (dispersant) ฉีดลงไปใต้ท้องทะเล ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าสารเคมีที่ใช้จะเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ซึ่งเท่ากับแก้ปัญหาจุดหนึ่งแต่ก่อปัญหาใหม่ขึ้น

หากยังนึกภาพไม่ออกว่าสารสลายคราบน้ำมันจะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไร ให้นึกภาพการปล่อยน้ำซักผ้าหรือน้ำยาล้างจานที่เข้มข้นจำนวนมหาศาลลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะเป็นสารลดแรงตึงผิวเหมือนกัน

กรณีนี้นักวิทยาศาสตร์เจ้าของเทคโนโลยีตอบว่า เป็นเรื่องจริงที่โดยหลักการปลอดภัยไว้ก่อน ต้องระมัดระวังการแพร่กระจายของสารเคมีชนิดนี้ในฤดูปลาวางไข่ แต่สิ่งสำคัญกว่าก็คือสารเคมีชนิดใหม่นี้มีพิษน้อยกว่าน้ำมัน

แต่งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Pollution ฉบับกุมภาพันธ์ 2556 กลับให้ผลตรงกันข้าม จากการทดสอบความเป็นพิษของแบคทีเรียที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำในทะเลพบว่า การใช้สารสลายคราบน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกมีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลมากกว่าสารพิษจากน้ำมันถึง 52 เท่า"

ดังนั้น เจ้าของบทความท่านนี้ จึงเสนอแนะด้วยความเป็นห่วง อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลในการเก็บกู้ แผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และที่ขาดไม่ได้คือมาตรการควบคุมป้องกันที่เข้มงวด ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันเมืองไทยเพิ่มขึ้นและมีการนำเข้าถึงร้อยละ 90 ซึ่งขนส่งมาทางเรือ เมื่อเป็นเช่นนี้ คงถึงเวลาแล้วที่ต้องงัดเอาร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน ที่ดำเนินการโดยสถาบันพระปกเกล้าเมื่อ 2 ปีที่แล้วมาผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายควบคุมอย่างจริงจังเสียที

นี่คือวิกฤตศรัทธา ปตท.

กรณีที่เกิดขึ้น หากดูจากกระแสสังคมแล้ว หลายฝ่ายเริ่มไม่มีใครเชื่อมั่นในถ้อยแถลงของปตท.อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะปฏิกิริยาต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ หลังจากทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้นำเสนอสกู๊ปข่าว พลิกลิ้น! น้ำมันรั่ว 'ปตท.' บอกไม่เป็นไร..ยังไงก็ 'เอา (ไม่) อยู่' เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ออกไป มีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้อย่างแพร่หลาย และหลากหลาย แม้ผู้ประกอบการน้ำมันรายใหญ่ดังกล่าวจะออกมายอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม

"ปตท.ในฐานะเจ้าของบริษัทต้นเหตุ นอกจากจะไม่ยอมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังจะมีการปกปิดข้อมูลน้ำมันที่รั่วอีก ดีแต่ขูดรีดคนไทย"

"ทุกวันนี้เข้าปั๊มปตท. เพื่อแวะไปปัสสาวะกับไปอุจจาระ แต่ไม่เคยเติมน้ำมันและไม่ซื้อของในปั๊มมันทั้งสิ้น"

"น้ำมัน 50-70 ตัน ลอยเกลื่อนเต็มทะเลแบบนี้ ไม่น่าจะเกิดจากการรั่วนะ จนถึงวันนี้แล้วมีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงบ้าง สอบสวนและแจ้งให้ประชาชนรับทราบหรือยัง ปตท.?"

"ปตท. มีแต่สร้างภาพ ทั้งๆที่จริงแล้วไม่เคยคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเจ้าของทรัพยากรไม่เคยใส่ใจอะไรมากมายกับสิ่งแวดล้อมไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเชิงลบอะไรให้คนไทยรู้ไม่เคยเปิดโอกาสให้ใครได้แข่งขันอย่างเสรีแต่ ปตท. เคยเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐมาก่อน แต่ตอนนี้ ปตท.เป็นของใคร"

ไม่แปลกที่นักวิชาการในแวดวงนักเขียนอิสระท่านหนึ่งจะออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยความอนาถใจว่า "เห็นการทำงานแบบปตท.แล้วสรุปได้ว่า ปตท.ย่อมาจาก-เปิดความตายสู่ท้องทะเล"

นอกจากนี้ พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษให้กลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุด้วยว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่บริษัทระดับโลกไม่มีแผนฉุกเฉินรับมือยามเกิดวิกฤต ส่วนที่บริษัทพีทีทีฯ มั่นใจแก้ปัญหาได้ในเร็ววันก็ไม่เป็นจริง เพราะยังมีคราบน้ำมันดิบในอ่าวพร้าวจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทั้งการประมงและระบบห่วงโซ่อาหารในพื้นที่

จวกนักเล่าข่าวชื่อดัง ช่วยกลบความจริง

ไม่เพียงแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงผู้ประกอบการน้ำมันรายใหญ่แล้ว ยังมีชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งพยายามตั้งคำถามไปถึงจรรณาบรรณในการรายงานความจริงในฐานะสื่อมวลชนของนักเล่าข่าวชื่อดังช่องหนึ่ง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือการช่วย ปตท.กลบเกลื่อนความจริง แทนที่จะยืนอยู่บนหลักการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่

ประเด็นนี้ถูกจุดให้มีการพูดถึง และถกเถียงในโลกออนไลน์ โดย เพจสายตรงภาคสนาม ซึ่งเปิดขึ้นด้วยการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวภาคสนามจากหลากหลายสังกัด (ข้อมูลล่าสุดมีคนเข้ามากดไลท์จำนวน 123,225 ไลท์) ได้โพสต์พาดหัวข่าว "ชาวเน็ต ข้องใจ จรรยาบรรณ สรยุทธน้ำมันรั่วทะเลดำ แต่รายงานจุดน้ำใส" พร้อมข้อความดังต่อไปนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในโลกออนไลน์ มีการแชร์ภาพนักเล่าข่าวชื่อดังรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กับพิธีกรคู่ ระหว่างการรายงานข่าวน้ำมันรั่วไหลเข้าอ่าวพร้าว โดยตั้งข้อสังเกตถึงสถานที่รายงานว่าไม่ใช่ "อ่าวพร้าว" ซึ่งเป็นพื้นที่จริงที่ได้รับผลกระทบน้ำมันซัดเข้าชายหาดจนกลายเป็นทะเลดำ เนื่องจากฉากหลังในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นหาดทรายสวยน้ำทะเลใส

ทั้งนี้ยังมีชาวเน็ตบางรายนำภาพของนายสรยุทธไปเปรียบเทียบกับการรายงานข่าวน้ำมันรั่วไหลของเนชั่นทีวีซึ่งปรากฏภาพที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยภาพที่เนชั่นทีวีนำเสนอนั้นยังพบว่ามีคราบน้ำมันสีดำลอยอยู่เหนื้อพื้นน้ำทะเล ทำให้ชาวเน็ตพากันตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในการรายงานความจริงในฐานะสื่อมวลชนของนายสรยุทธ และตั้งข้อสังเกตว่าตั้งใจที่จะช่วย ปตท.กลบเกลื่อนความจริง แทนที่จะยืนอยู่บนหลักการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่

ทั้งนี้สำนักข่าวอิศราเคยทำการสำรวจงบประมาณประชาสัมพันธ์ของบริษัท ปตท.พบว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ได้ทำสัญญาจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ทางโทรทัศน์ในรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" และรายการ "เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์" กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด 16,560,000 บาท

นักเล่าข่าวชื่อดังคนดังกล่าว ยังตกเป็นข่าวอื้อฉาวโกงฆ่าโฆษณา อสมท. กว่า 138 ล้านบาท โดย ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดและอยู่ระหว่างการส่งให้อัยการพิจารณาเพื่อดำเนินคดีอาญา ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้นายสรยุทธพักการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนจนกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ จนถึงขนาดมีบริษัทเอกชนขู่ถอนโฆษณา แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นและนายสรยุทธไม่ได้สนใจแรงกดดันดังกล่าว ยังคงเล่าข่าวออกหน้าจอทุกวัน

อย่างไรก็ตาม นายสรยุทธได้ฟ้องศาลปกครอง ขอให้ อสมท.จ่ายเงินค่าส่วนลดทางการค้า 49 ล้านบาท โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้เสนอต่อองค์คณะตุลาการเจ้าของคดีว่า อสมท.ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับบริษัทไร่ส้ม แต่ในคดีนี้ยังไม่มีการกำหนดวันนัดอ่านคำพิพากษาแต่อย่างใด เป็นเพียงความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเท่านั้น

เมื่อมาดูปฏิกิริยาต่าง ๆ ของคนในโลกออนไลน์ พบว่า มีหลากหลายเสียงปะปนกันไป บ้างก็เห็นด้วยกับเพจดังกล่าว บ้างก็ไม่เห็นด้วย และบอกว่า เพจนี้อคติเกินไป

"นานาจิตตังกับแต่ละความคิดเห็น แต่ทุกคนควรรับความจริงไม่ใช่บิดเบือน เหมือนที่บอกว่าให้คอร์รัปชันได้ ถ้าประเทศได้ประโยชน์ แล้วไงสุดท้ายประเทศชาติได้อะไร ถ้าน้ำมันรั่วก็ต้องรับ เพื่อแก้ไขไม่ใช่โกหก แล้วถ้าต่างชาติเข้ามาเที่ยวแล้วพบความจริงจะยิ่งเสียหายมากไปอีก อย่าเอาปัญหาซุกใต้พรม ขอร้องล่ะ"

"มันมองได้ 2 มุมนะครับในเรื่องนี้ แต่ถ้าคุณสรยุทธนำเสนอแต่ในมุมน้ำมันรั่วอย่างเดียว การท่องเที่ยวตรงนั้นที่ว่าใกล้ตายคงตายสนิท การเสนอว่ายังมีอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบ คนยังพอที่จะเห็นว่ายังมีอีกมุมที่เราสามารถไปเที่ยวกันได้ ผู้ประกอบการที่นั่นคงจะพอหายใจหายคอกันได้"

"เวลาเขาเสนอข่าวอ่าวพร้าวที่เป็นทะเลสีดำ ก็ดูกันบ้างสิ ไม่ดูกันบ้างหรือเมื่อวานก็ยังมีเลย วันนี้เขาเอาน้ำใส ๆ มาให้ดูกันบ้างแล้วมันผิดด้วยหรือ เพจนี้มันไม่มีสมองหรือไง ไม่ได้เข้าข้างใคร แต่เชื่อในความจริงที่ตัวเองกำลังดูกำลังมองอยู่และสิ่งที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้"

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู นักเล่าข่าวคนดังก็ได้เปิดใจถึงเรื่องนี้โดยบอกว่า การที่ชาวเน็ตได้วิพากษ์วิจารณ์ตนแบบนั้นถือเป็นการใจร้ายมาก พร้อมยืนยันว่าตนได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดรวมถึงเนื้อหาที่ออกอากาศไปส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บกู้น้ำมันที่รั่วออกมาทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว คงไม่ใช่เวลามานั่งทะเลาะกัน แต่สิ่งที่ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ประกอบการน้ำมันรายใหญ่เจ้าของปัญหา ควรทำก็คือ การเก็บกู้น้ำมันรั่ว แผนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมาตรการควบคุมป้องกันที่เข้มงวด

ส่วนน้ำมันที่ถูกกำจัด ทรายที่เปื้อนน้ำมันที่ตักออกจากชายหาด รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่เปื้อนคราบน้ำมัน คงต้องตามกันต่อไปว่า มีการเอาไปทิ้งกันที่ไหน มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือชาวบ้านแถวนั้นอย่างไร ซึ่งคาดว่าต้องเป็นสถานที่ที่มีพื้นที่ใหญ่มาก ๆ ถึงจะรองรับขยะน้ำมันอย่างน้อย 50,000 ลิตรได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





ภาพข่าวจากนสพ.โพสต์ทูเดย์
ภาพจากเพจสายตรงภาคสนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น