ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตามคำบอกเล่าของอธิบดีกรมการค้าภายใน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ฤดูการผลิต 2556/57 นั้น ระบุว่า ราคารับจำนำ (ซื้อขาด) จะลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท
เธอบอกว่า กระทรวงการคลัง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันการปรับลดราคารับจำนำจาก 15,000 บาทต่อตัน มาอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน ในความชื้น 15% และจำกัดปริมาณรับจำนำครอบครัวละ 400,000 บาท เพราะต้องรักษาวินัยการคลังที่รัฐบาลจะให้ขาดทุนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ต่อปี
ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ยังรับจำนำที่ตันละ 20,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 18,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 16,000 บาท และข้าวเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท, เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท เช่นเดิม
เธอบอกอีกว่า ในวันที่ 29 กรกฎาคม จะหารือกับตัวแทนชาวนาอีกรอบว่า รับได้หรือไม่ กับตัวเลข 12,000 บาทต่อตัน และแม้ความชื้นส่วนใหญ่ที่ชาวนาขายข้าวนั้นอยู่ที่ 25% หรือคิดเป็นเงิน 10,250 บาทต่อตัน ก็ถือว่ายังคุ้มทุน เพราะหลายหน่วยงานประเมินต้นทุนชาวนาอยู่ที่ 6,000 บาทต่อตันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้เตรียมมาตรการเสริม เพื่อจูงใจให้เกษตรกรยอมรับ ได้แก่ มาตรการลดต้นทุนเกษตรกร เช่น กระทรวงมหาดไทย อาจพิจารณาลดค่าเช่าที่นา หรือ ธ.ก.ส. อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยลง ซึ่งมาตรการต่างๆ จะทำให้ต้นทุนเกษตรกรลดลงประมาณ 1,000 บาทต่อตัน
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือสมาคมโรงสีปรับลดค่าสีแปรสภาพข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเหลือตันละ 400 บาท จากเดิมตันละ 500 บาท
โดยก่อนหน้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/ 57 มาระดับหนึ่งแล้วว่า จะต้องลดราคารับจำนำ (ซื้อขาด) เพราะมีปัญหาด้านภาระงบประมาณ
“ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า สมควรปรับปรุงโครงการรับจำนำในปี 2556/57 ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการคลังของรัฐบาล ที่กระทรวงการคลังมีแผนที่จะจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 เนื่องจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/ 55 และนาปรัง ปี 2555 มีผลขาดทุนมากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันราคาข้าวไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และการทุ่มตลาดข้าวของอินเดียและเวียดนาม”
แนวทางทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/ 57นั้น ได้แก่
1. ด้านราคารับจำนำ มีแนวทางการปรับลดราคารับจำนำคือ 1) ใช้ราคาต้นทุนการผลิต บวก กำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับ ประมาณ 25% เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการแทรกแซงตลาด 2) ใช้ราคารับจำนำเดิมปรับลดลง 15-20 % 3) ใช้ราคานำตลาด 10 %
ซึ่งจะทำให้ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% มีราคาประมาณตันละ 12,000-13,000 บาท
2. ด้านปริมาณรับจำนำ การกำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการไว้เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เช่น กำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการปี 2556/ 57 (ทั้งนาปี บวก นาปรัง ) ไม่เกิน 17 ล้านตันข้าวเปลือก จำกัดปริมาณรับจำนำของเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน เป็นต้น
3. ด้านวงเงินที่รับจำนำของเกษตรกรแต่ละราย โดยจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร ไม่เกิน 300,000- 500,000 บาท/ครัวเรือน
4. ด้านระยะเวลารับจำนำ โดยกำหนดระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 -2557 และข้าวเปลือกนาปรัง ระหว่างเดือนมี.ค -ก.ค.57
ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อมูลและศึกษาทางเลือกข้างต้นพร้อมทั้งการกำหนดเงื่อนไขประกอบ เพื่อจำกัดวงเงิน ภาระค่าใช้จ่าย และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินวงเงินปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแนว่ทางการจัดทำงบประมาณสมดุลของประเทศตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง
นั่นหมายความว่า ภาระขาดทุนจำนวนมากกำลังทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลโป่งพอง จนยากที่จะควบคุม
ตัวเลขขาดทุนทั้งหมดกว่า 2 แสนล้านบาท จากเงินที่ใช้ไปกว่า 6 แสนล้านบาท ได้สร้างปัญหาทางการคลังมหาศาล
ประเด็นสำคัญเงินที่ขาดทุนไม่ได้ตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง
“ผู้ใกล้ชิดนักการเมือง”และ “นักการเมืองตัวพ่อ” ต่างหากที่รับทรัพย์มหาศาล
ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมวุฒิสภา ที่มีนายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวนั้น
ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)บอกกับที่ประชุมว่า “จากการทำการวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบความผิดปกติในโครงการ 8 ประเด็น คือ
1. ในรายงานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 มีข้าวสารที่ไม่ลงบัญชี 2.9 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของทีดีอาร์ไอ
2. มีการนำข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเปลือกมาทำเป็นข้าวนึ่ง คือ เอาข้าวมานึ่งก่อนสี เพื่อให้ยางในข้าวมีความเหนียวและมีราคาสูงขึ้น
3. นำข้าวคุณภาพดีไปขาย และลักลอบนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้าน 9 แสนตันมาใส่ไว้ในโกดังแทน
4. การที่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2555 รัฐบาลได้ขายข้าวแบบจีทูจี 1.46 ล้านตัน โดยทำสัญญา 6 ประเทศนั้น จากข้อมูลผู้ส่งออกพบว่าไม่มีการขายตามอ้าง โดยทีดีอาร์ไอ พบว่าไทยมีการขายข้าวไปเพียง 8.8 แสนตัน
5.กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้เกิดการขาดทุน แต่ไม่เคยเปิดเผยราคาและจำนวนที่ขาดทุน โดยพบว่า การขายข้าวในฤดูนาปรังขายข้าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดถึง 53% และมีการขายข้าวให้พ่อค้าเพื่อกินส่วนต่าง
6. การขายข้าวถุงราคาถูก รัฐบาลไม่ได้ตรวจสอบเอกชนที่ทำข้าวถุงตามโครงการร้านถูกใจว่าเป็นไปตามสัญญาว่าจ้างหรือไม่
7. มีการขายข้าวใหม่ในราคาข้าวเก่า โดยสลับบัญชีข้าวในโกดัง
8. มีบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติมาลงทุนส่งออกข้าวไทย ชนะการประมูลขายข้าวให้อิรัก 6 ครั้ง จำนวน 3 แสนตันโดยประมูลชนะบริษัทของไทย ซึ่งน่าสังเกตว่าเหตุใดบริษัทดังกล่าวจึงขายข้าวได้ในราคาถูกกว่าบริษัทของไทย
นั่นหมายความว่า ขบวนการที่หากินกับข้าวทำทุกอย่างเพื่อให้ตลาดข้าวของประเทศพังพินาศ ทั้งการทำให้ข้าวหายไป ลักลอบนำเข้าข้าวจากเพื่อนบ้าน จนทำให้ขายข้าวไม่ได้ ถ้าจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดถึง 53% ฯลฯ
โค-ตะ-ระ เลว แห่งสยามประเทศเลยทีเดียว
แล้วอย่าง“ผีดูไบ”จะกลับประเทศได้อีกหรือ ???