ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือลาออกแล้ว โดยลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย
โดยมีผลเป็นทางการ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้
นายวสันต์ ให้เหตุผลถึงการลาออกว่า ก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค.54 ได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯ ว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี เพื่อจัดระเบียบโครงสร้างของสำนักงาน และงานคดีต่างๆ ให้เรียบร้อย ก็จะเปิดโอกาสให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน ซึ่งขณะนี้ภารกิจที่ได้ตั้งใจไว้ก็บรรลุตามเป้าหมายแล้ว
โดยงานด้านคดี ซึ่งแต่เดิมในช่วงต้นปี 55 มีคดีค้างอยู่ 123 คดี ก็ได้พิจารณษเสร็จสิ้นไปแล้ว 109 คดี เหลือค้างการพิจารณาเพียง 30 คดีเท่านั้น ส่วนงานด้านปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ฌป็นที่น่าพอใจ เช่น ให้มีระเบียบศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการจัดการงานคดี เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการงานคดีให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กร ให้ประชาชนมีความเข้าใจ การทำความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ เป็นต้น
ยืนยันไม่ได้ถูกบีบ หรือมีแรงกดดันทางการเมือง จนทำให้ต้องลาออก เพราะปกติการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่แล้ว
นายวสันต์ บอกว่า ที่จริงจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่บังเอิญขณะนั้นมี กลุ่มเสื้อแดง ในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ จึงไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง เลยเลื่อนการส่งหนังสือลาออก มาเป็นวันที่ 1 ส.ค.
หลังจากวันที่ 1 ส.ค. วันที่ไร้ วสันต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเหลือนั่งทำงานด้วยกัน 8 ท่าน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร, นายสุพจน์ ไข่มุกด์, นายเฉลิมพล เอกอุรุ, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายบุญส่ง กุลบุปผา,นายชัช ชลวร, และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ในจำนวนนี้ นายจรูญ อินทจาร เป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด จึงคาดว่า จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมของคณะตุลาการฯ จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่มาแทน
สำหรับขั้นตอนสรรหานั้น จะมีคณะกรรมการสรรหา 5 ท่าน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่จะเลือกมา 1 คน โดยคณะกรรมการสรรหา จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน โดยจะเปิดรับสมัครบุคคลที่เสนอตัวมาเป็นตุลาการฯ ภายใน 7 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการสรรหา จะมอบหมายให้เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติ จากนั้นจะเปิดประชุม พิจารณาเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งใช้ระยะเวลา 30 วัน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ตามมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะเสนอที่ประชุมสภา เพื่อลงมติเห็นชอบ โดยเป็นการลงคะแนนลับ ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับความเห็นชอบ
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับเลือก จะต้องประชุมกับตุลาการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ 8 ท่าน เพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเลือกเสร็จ ประธานวุฒิสภา จะนำรายชื่อกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
สำหรับเรื่องร้อนๆ ทางการเมือง ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้ว ยังมีเรื่องที่คาดว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาในอนาคต อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม รวมทั้งโครงการจำนำข้าว
ทุกเรื่องร้อนพอที่จะละลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้