xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” ยื่นลาออกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผล 1 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
“วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผล 1 ส.ค.นี้ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาล รธน.เจ้าตัวเผยทำตามสัญญาอยู่จนกว่าจะเสร็จภารกิจ เผยจะลาออกตั้งแต่ 2 พ.ค.แต่แก๊งวิทยุเสื้อแดงป่วน ไม่อยากเป็นประเด็นการเมือง

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป และได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทราบแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปยังนายวสันต์ ถึงกระแสข่าวว่าจะลาออก นายวสันต์ กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่มีนะ ถึงเวลาก็รู้เองแหละ อย่าเดาเลย แล้วผมนะถ้าจะออกกลับไปนอนบ้านเลย ไม่ใช่ออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นตุลาการไม่ใช่นะ ไปเลย”

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวเกิดขึ้นตลอดทั้งวันว่า นายวสันต์ ได้ลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อสอบถามไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นๆ ก็ไม่รับโทรศัพท์ ขณะที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ระบุเพียงว่าให้สอบถามจากนายวสันต์เอง และยังไม่พบว่ามีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ว่ามีตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่างลง

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง นายวสันต์ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เหตุผลที่ลาออก เนื่องจากก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค.2554 ตนได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี หรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วตนจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค.เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งก็เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ตามการลาออกจากตำแหน่งไม่ใช่เป็นการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในวันที่ 17 ก.ค.ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงให้ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การลาออกของนายวสันต์ เป็นไปตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับคณะตุลาการฯเมื่อครั้งได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 1 ปีเศษ หากจัดวางระบบต่างๆ ในเรื่องของการจัดการคดีที่คั่งค้างให้คลี่คลายและเบาลงแล้ว ก็จะลาออก โดยในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายวสันต์ ก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการฯให้ทราบแล้วครั้งหนึ่งว่า ภารกิจที่ตั้งใจไว้เสร็จสิ้นแล้ว และจะลาออกตามที่ได้ให้สัญญาไว้

แต่เนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และมีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ นายวสันต์ ในกรณีการจัดทำคำวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป ซึ่งผู้ชุมนุมต้องการให้ลาออก ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ตุลาการฯ ส่วนใหญ่จึงเห็นว่า หากนายวสันต์ลาออกขณะนั้น ก็จะทำให้สังคม หรือผู้ชุมนุมกลุ่ม กวป.เข้าใจว่าเพราะทนการกดดันไม่ไหว รวมทั้งทัดทานไม่อยากให้นายวสันต์ลาออก อยากให้ดำรงตำแหน่งตุลาการฯ และเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จึงทำให้นายวสันต์ดำรงตำแหน่งต่อมา จนมีการยื่นหนังสือลาออกดังกล่าว

สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เข้าดำรงเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2551 มีวาระการดำรงตำแหน่งรวม 9 ปี โดย นายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อนายชัชลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมคณะตุลาการฯเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2554 มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกนายวสันต์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค.2554 ซึ่งหากนายวสันต์ลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ ทางประธานวุฒิสภาก็จะต้องจัดให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210(3) เนื่องจากนายวสันต์ได้รับการสรรหามาจากสายดังกล่าว

ส่วนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เหลืออีก 8 คน ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีต่างๆ ได้ โดยหากการลาออกของนายวสันต์ มีผลในวันที่ 1 ส.ค.จริง การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ จะถือว่าเป็นนัดประชุมสุดท้ายที่นายวสันต์จะเข้าร่วมเป็นองค์คณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น