xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์”ลาออก! ศาลรธน. กมธ.วุฒิรับลูกแดงเตะตัดขา “ปปช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป และได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทราบแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปยังนายวสันต์ ถึงกระแสข่าวว่าจะลาออก นายวสันต์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีนะ ถึงเวลาก็รู้เองแหละ อย่าเดาเลย แล้วผมนะถ้าจะออกกลับไปนอนบ้านเลย ไม่ใช่ออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังเป็นตุลาการไม่ใช่นะ ไปเลย”
ทั้งนี้มีกระแสข่าวเกิดขึ้นตลอดทั้งวานนี้ ( 16 ก.ค.) ว่า นายวสันต์ ได้ลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อสอบถามไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่น ๆ ก็ไม่รับโทรศัพท์ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ระบุเพียงว่าให้สอบถามจากนายวสันต์เอง และยังไม่พบว่ามีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ว่ามีตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่างลง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การลาออกของวสันต์ เป็นไปตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับคณะตุลาการเมื่อครั้งได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญว่าจะดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 1ปีเศษ หากจัดวางระบบต่างๆ ในเรื่องของการจัดการคดีที่คั่งค้างให้คลี่คลายและเบาลงแล้ว ก็จะลาออก โดยในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานายวสันต์ก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะตุลาการทราบแล้วครั้งหนึ่งว่าภารกิจที่ตั้งใจไว้เสร็จสิ้นแล้ว และจะลาออกตามที่ได้ให้สัญญาไว้ แต่เนื่องจากขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และมีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะนายวสันต์ ในกรณีการจัดทำคำวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป ซึ่งผู้ชุมนุมต้องการให้ลาออก ยุติปฏิบัติหน้าที่ ตุลาการฯส่วนใหญ่จึงเห็นว่าหากนายวสันต์ลาออกขณะนั้นก็จะทำให้สังคม หรือผู้ชุมนุมกลุ่มกวป.เข้าใจว่าเพราะทนการกดดันไม่ไหว รวมทั้งทัดทานไม่อยากให้นายวสันต์ลาออก อยากให้ดำรงตำแหน่งตุลาการและเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อไป จึงทำให้นายวสันต์ดำรงตำแหน่งต่อมาจนมีการยื่นหนังสือลาออกดังกล่าว
สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เข้าดำรงเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 มีวาระการดำรงตำแหน่งรวม 9 ปี โดยนายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อนายชัชลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมคณะตุลาการเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 54 มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกนายวสันต์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวสันต์ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 ต.ค. 54 ซึ่งหากนายวสันต์ลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ทางประธานวุฒิสภาก็จะต้องจัดให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง โดยจะต้องเป็นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ( 3) เนื่องจากนายวสันต์ได้รับสรรหามาจากสายดังกล่าว
ส่วนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลือ 8 คน ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาคดีต่างๆ ได้โดยหากการลาออกของนายวสันต์มีผลในวันที่ 1 ส.ค.จริง การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 ก.ค.นี้จะถือว่าเป็นนัดประชุมสุดท้ายที่นายวสันต์จะเข้าร่วมเป็นองค์คณะ
นายวสันต์ เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือแจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผลเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ เหตุผลที่ลาออก เนื่องจากก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 26 ต.ค.54 ตนได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการฯว่า จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปีหรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วตนจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เห็นว่าในขณะนั้นมีการกลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการโจมตีการทำงานของคณะตุลาการฯ ไม่อยากให้เป็นประเด็นทางการเมือง จึงเลื่อนการส่งหนังสือลาออกมาเป็นวันที่ 1 ส.ค. เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งก็เสร็จสิ้นภารกิจที่ตั้งใจไว้ อย่างไรก็ตามการลาออกจากตำแหน่งไม่ใช่เป็นการลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในวันที่ 17 ก.ค. ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงให้ทราบในรายละเอียดอีกครั้ง
วันเดียวกันนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในวันที่17 ก.ค. ทางกมธ.จะได้ทำหนังสือถึง 3 หน่วยงาน ตั้งแต่องค์การเภสัชกรรม บริษัทต่างๆที่นายภักดี โพธิศิริ เคยเป็นกรรมการอยู่ รวมถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของกมธ.ว่า นายภักดี โพธิศิริ มีสถานะกรรมการป.ป.ช.โดยชอบหรือไม่ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต. พ.ศ. 2542 ขณะที่การลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1153/1 จะมีผลต่อเมื่อยื่นใบลาออกต่อบริษัทโดยมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท และจะแจ้งการลาออกต่อนายทะเบียนด้วยก็ได้ ดังนั้นเราไม่สามารถส่งบุคคลอื่นลาออกแทนได้ อีกทั้งการที่นายภักดีเคยให้ข่าวว่า ได้ลาออกกับองค์การเภสัชกรรมแล้วนั้น ก็ไม่ถือเป็นบริษัทตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ทางกมธ.จะได้เชิญนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการมาร่วมชี้แจง ในวันที่ 31ส.ค. นี้ และจะได้ตรวจสอบเรื่องนี้ว่าจะเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ป.ป.ช.หรือไม่ต่อไป เพราะประเด็นดังกล่าวเคยมีการร้องต่อประธานวุฒิสภาผ่านไปยังป.ป.ช.ขอให้ถอดถอนมาแล้ว แต่คดีก็ยังล่าช้าอยู่
นายจิตติพจน์ กล่าวยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการรับลูกเกมฝ่ายใด เพราะแม้แต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อนสมาชิกส.ว.เอง กว่า20 คน นำโดย นายประสงค์ ตันมณีวัฒนาส.ว.สรรหา ก็ได้ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาขอให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ที่มีการพิจารณาบางคดีล่าช้า จนเกิดความเสียหายและวิปวุฒิสภาก็มติให้กมธ.ของตนได้ตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน โดยการพิจารณาก็ได้ข้อสรุปว่าการทำหน้าที่ของป.ป.ช.มีความล่าช้าจริงเนื่องจากลงมาดูแลคดีตั้งแต่ผู้บริหารและข้าราชการ ระดับ ซี8 ขึ้นไป ทำให้บุคลากรป.ป.ช.จึงมีไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบ โดยทางกมธ.อยู่ระหว่างร่วมกันหาทางออกแก่หน่วยงานว่า น่าจะมีวิธีการดำเนินงานแบบป.ป.ช.ประเทศอินโดนีเซียหรือไม่ ที่ดูแลคดีเฉพาะผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงเท่านั้นและมียอดความเสียหายต่อเงินจำนวนมากๆ จะทำงานได้เต็มที่กว่า
ทั้งนี้ภายหลัง จากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น