xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ควายแดง”หยุดไล่ศาล แต่แผนล้มตุลาการยังไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายห่มเหลืองร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ หน้ารัฐสภา ก่อนสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2556
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คนเสื้อแดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.)ยุติการชุมนุมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่สามารถระดมคนมาได้ถึง 1 แสนคนตามราคาคุย โดยมีผู้ร่วมชุมนุมเพียงประมาณ 2 พันคนเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ยุทธการล้มอำนาจตุลาการของ นช.ทักษิณ ชินวัตร จะยุติลงไปด้วย

การยุติชุมนุมของ กวป.เป็นเพราะความผิดพลาดในทางยุทธวิธีเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ใหญ่ยังคงเดิม นั่นคือต้องล้มตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ให้ได้ โทษฐานที่เป็นอุปสรรคการกลับสู่อำนาจและผลประโยชน์ของ นช.ทักษิณ

ก่อนหน้านั้น นช.ทักษิณได้เปิดทุกแนวรบเพื่อล้มศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ ทั้งสั่งให้ลิ่วล้อในสภาปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่รับวินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 68 และให้เดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อไป

ขณะเดียวกันในด้านงานมวลชนก็ให้กลุ่ม กวป.ออกมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญภายในศูนย์ราชการเพื่อกดดันให้คณะตุลาการทั้งหมดยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยประกาศว่าหากตุลาการไม่ตอบสนองก็จะยกระดับการชุมนุมขึ้นไปเรื่อยๆ

หลังจากปักหลักชุมนุมภายในศูนย์ราชการมาราว 2 สัปดาห์ กระแสตอบรับจากสังคมกลับเป็นไปในทางลบมากกว่า จากท่าทีของผู้ชุมนุมที่ออกมาในลักษณะข่มขู่คุกคาม ส่อเค้าจะใช้ความรุนแรง

ขณะที่แกนนำการชุมนุมส่วนใหญ่ก็เป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนที่ไม่มีประสบการณ์การนำมวลชนมาก่อน จึงไม่สามารถเรียกระดมกำลังคนได้จำนวนมากพอ และส่อเค้าจะเกิดความวุ่นวายอยู่เรื่อยๆ

นั่นเป็นสาเหตุให้นายใหญ่สั่งถอย เพราะหากชุมนุมยืดเยื้อมีแต่จะนำความเสื่อมเสียมาให้รัฐบาลน้องสาว แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนขึ้นมาอีก

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม กวป.เอง ก่อนจะยุติการชุมนุม ก็ได้ยื่นรายชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อประกอบคำร้องถอดถอนตุลการรัฐธรรมนูญต่อประธานวุฒิสภา โดยประกาศว่าจะให้เวลาวุฒิสภา 15 วันตรวจสอบและยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ แต่หากสภา วุฒิสภา และ ป.ป.ช. เตะถ่วงไม่ดำเนินการใดๆ ก็จะไปชุมนุมกดดันที่หน้ารัฐสภา

นอกจากนี้ ในวันรุ่งขึ้น (9 พ.ค.) กลุ่มแกนนำพร้อมทนายความยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 3 คน คือนายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทรจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รับคำร้องของนางสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาที่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประกอบกฎหมายอาญา มาตรา 113 และมาตรา 157 ในข้อหากระทำการไม่เป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ระบุให้บุคคลหรือพรรคการเมืองที่ทราบการกระทำ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่เป็นกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง จึงสามารถที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นการที่ตุลาการ 3 คน รับคำร้อง ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและละเมิด มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องอำนาจบริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ

นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกและสะท้อนถึงนิสัยเอาแต่ได้ของคนเสื้อแดง เพราะประกาศอยู่ปาวๆ ว่าไม่ยอมรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่กลับยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องที่จะทำให้พวกตนเองได้ประโยชน์

ในวันเดียวกัน กลุ่ม กวป.ยังได้เดินทางไปที่ สน.ทุ่งสองห้องแจ้งความดำเนินคดีต่อ 3 ตุลาการในข้อหาร่วมกันก่อการกบฏ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งประกาศว่า ทางเครือข่าย กวป.จะเดินสายแจ้งความต่อ 3 ตุลาการที่สถานีตำรวจทั่วประเทศ พร้อมส่งแบบฟอร์มหนังสือแจ้งความให้แกนนำในต่างจังหวัดนำไปแจ้งความในจังหวัดของตัวเอง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยกันแจ้งความให้ได้ 1 ล้านคนเท่ากับการล่ารายชื่อถอดถอนตุลาการที่จะยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพิ่มเติม

ขณะที่การกระบวนทางรัฐสภาเพื่อตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เสียงข้างมากของกรรมาธิการได้โหวตให้คงตามร่างเดิม คือให้ประชาชนใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยยื่นร้องต่ออัยการสูงสุดเท่านั้น จากเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ด้วย

เพียงแต่มีข้อความเพิ่มเติมเข้ามา นั่นคือ เมื่ออัยการสูงสุดรับเรื่องมาแล้วให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิเสนอเรื่องเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้โดยตรง ซึ่งต้องยื่นภายใน 30 วันนับแต่ครบกำหนดเวลาที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบ

ดูเหมือนว่านี่เป็นการยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อเปิดทางให้ประชาชนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ด้วย หากมีข้อสงสัยว่าอัยการสูงสุดจะถ่วงเรื่อง

แต่อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดมักวินิจฉัยไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อ นช.ทักษิณเสมอ ราวกับว่าเป็นอัยการของระบอบทักษิณไปแล้ว

ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มีผู้ร้องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในวาระ 3 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อปี 2555 แล้วก็ปรากฏว่า อัยการสูงสุดวินิจฉัยเองเสร็จสรรพว่าไม่ขัด และไม่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การเพิ่มกำหนดเวลา 30 วันเข้ามา จึงไม่น่าจะเป็นการประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามของระบอบทักษิณแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญคือในเมื่อกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว. 312 คนในเครือข่ายระบอบทักษิณยังคงปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 68 ย่อมสะท้อนว่า ระบอบทักษิณยังคงทำสงครามชิงขอบเขตอำนาจกับศาลต่อไป หลังจากที่ยึดอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไว้ในมือแล้ว

การออกแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลเป็นการปฏิเสธรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่ากำลังตั้งตนเป็นอริกับกฎหมาย ฝืนคำปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งของ ส.ส.-ส.ว.และรัฐมนตรีประโยคสุดท้ายระบุว่าจะรักษาไว้และปฏิบัตติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ฉะนั้นการปฏิเสธอำนาจศาลเท่ากับว่าขัดต่อคำปฏิญาณของตัวเอง และขัดรัฐธรรมนูญด้วย

เห็นได้ว่า นช.ทักษิณยังคงสั่งไม่ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า ศาลยังคงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องต่อไปได้ และเมื่อผู้ถูกร้องไม่เข้าชี้แจง ผลการวินิจฉัยออกมาย่อมมีโอกาสที่จะเป็นโทษต่อผู้ถูกร้อง

โดยหวังผลว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลฯ ออกมา ก็จะนำไปบิดเบือนขยายความปลุกปั่นมวลชนเสื้อแดงของเขาต่อไปว่าศาลฯ มัดมือชก และใส่ร้ายศาลต่างๆ นานา

ทั้งนี้ หากมองในภาพรวม ศาลและองค์กรอิสระหลายแห่ง ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังคงเป็นก้างขวางคอของ นช.ทักษิณ จึงต้องหาทางจัดการกับองค์กรเหล่านี้ เพื่อรวบอำนาจศาลให้ได้

ไม่เว้นแม้แต่ศาลอาญาที่อยู่ในข่ายถูกทำลายความน่าเชื่อถือ นั่นเพราะหลายคดีที่ตัดสินออกมาไม่เป็นประโยชน์ต่อระบอบทักษิณ

วิธีการทำลายศาลทั้งระบบ มีทั้งการใช้กระบวนการทางบริหารตัดการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ใช้กลไกสภาแก้ไขกฎหมายเพื่อลดอำนาจศาล และการปลุกระดมมวลชนขึ้นมาข่มขู่กดดัน



กำลังโหลดความคิดเห็น