ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เป็นอีกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบไม่เข้าท่า เมื่อแสดงท่าทีสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่คนเสื้อแดง กลุ่มของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดืิอนพฤษภาคม 2553 ถึงขั้นบอกว่านี่เป็นคำตอบของประเทศ
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549” ซึ่งนางพะเยาว์และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 8 มาตรา นายพันธ์ศักดิ์อ้างว่า จะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทุกสี ทุกกลุ่ม จึงต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน และในวันที่ 24 ก.ค.จะไปยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จากนั้นจะเดินสายขอความสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งร่างฉบับนี้จะแยกแยะผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ได้รับประโยชน์ทุกคน ไม่ใช่แค่ประชาชน แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เกินกว่าเหตุ ส่วนที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนววร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขอถามว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่นแม้จะบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่สุดท้ายก็ไปนิรโทษกรรมให้กับแกนนำและผู้สั่งการคนอื่นด้วย
วันต่อมา (17 ก.ค.)นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงที่พรรคฯ ทันที ว่าพร้อมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ถึงขั้นบอกว่า “พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเห็นคำตอบให้กับประเทศ เพราะร่างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของพรรค” เนื่องจากไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ คนทำผิดกฎหมายอาญา มีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนคือ เป็นเรื่องลหุโทษ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่คนที่มีพฤติกรรมหรือมีเหตุอันเชื่อว่า มุ่งหมายต่อชีวิต การวางเพลิงเผาทำลายทรัพย์สิน ประทุษร้ายต่อชีวิตประชาชน และทหารจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 17 ก.ค.ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ถือเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับสุดซอยของฝั่งมวลชนแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นปช.สายอุดมการณ์ เขียนออกมาดูเหมือนดี มีการจำแนกความผิด เอาเฉพาะมวลชนที่มีความผิดลหุโทษ ไม่รวมแกนนำ ไม่รวม นช.ทักษิณ ชินวัตร
แต่ร่างฯ ฉบับนี้มีการนิรโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย โดยปรากฏในมาตรา 3 (3) แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ แต่เขียนว่า “บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา 3 (2) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 (1) หรือมาตรา 3 (2) ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ" ความผิดมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ความผิด ลักษณะ1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฉะนั้นมาตรา 3 (3) จึงให้นิรโทษกรรมผู้ที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
อีกจุดที่ต้องตั้งคำถามคือ มาตรา 3 (4) วรรค 2 เขียนว่า “การกระทำใดๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” แปลว่าวางเพลิงศาลากลางที่เป็นของราชการได้รับการนิรโทษกรรม แต่เผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่เป็นของเอกชนไม่ได้นิรโทษฯ ใช่หรือไม่
นายคำนูณยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้นิรโทษกรรมแก่คนที่เผาศาลากลาง แต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม ตามที่ระบุในตอนท้ายมาตรา 3 (3) เรื่องพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
นายคำนูณระบุอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ปรับมาจากร่างฯ ของคณะนิติราษฎร์ ที่เคยเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญ “ว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” เพียงแต่ตัดเนื้อหาว่าด้วยการตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งออกไป และปรับข้อความที่มุ่งให้ครอบคลุมคนที่กระทำผิดตามมาตรา 112 ให้ชัดเจนขึ้น
แม้ในวันต่อมา (18 ก.ค.)นายชวนนท์จะแถลงย้ำอีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้นิรโทษกรรมแก่คนที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคนที่เผาทำลายทรัพย์สินหรือสถานที่ราชการ แต่นายชวนนท์ก็ไม่ได้บอกท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่สนามบิน ซึ่งผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีนับร้อยคนในข้อหาก่อการร้าย ทั้งที่บางคนแค่ไปตีฝาหม้อประกอบดนตรีเท่านั้น
ประเด็นสำคัญคือ หากไม่ให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงผู้ที่กระทำผิดตามมาตรา 112 และคนที่เผาศาลากลางแล้ว กลุ่มแม่น้องเกดจะยอมให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าไปยุ่งด้วยหรือไม่
หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะให้มีการนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดลหุโทษ เช่น ฝ่าฝืนกฎจราจร ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่แถลง ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตัวเองแล้วเสนอเข้าสภา ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะ มี ส.ส.อยู่ในมือเพียงพอที่จะเสนอกฎหมายได้
แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับมาสนับสนุนร่างฯ ของกลุ่มนางพะเยาว์ แล้วจะขอเข้าไปแก้ในรายละเอียดทีหลัง ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่ากลุ่มคนร่างจะแก้ตามหรือไม่
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงยืนยันสนับสนุนร่างฯ นี้
อ้างว่า เพราะตอบโจทย์เรื่องปรองดองได้หมด แต่ที่เราต้องระมัดระวังก็คือปมเรื่องมาตรา 112 เรื่องเผาศาลากลางที่ต้องมีการปรับปรุง และรัฐบาล แกนนำ นปช. ต้องเลิกจับประชาชนเป็นตัวประกัน และต้องไม่โยงถึงคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมกับบอกว่า ถ้าเจ้าของร่างอยากจะคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยินดี เพราะเราคิดว่าการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มีความผิดไม่ร้ายแรงและอยู่ในกรอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็น่าจะเดินไปได้
อย่างไรก็ตาม นายคำนูณตั้งข้อสังเกตอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของกลุ่มนางพะเยาว์ ยากที่จะได้รับการพิจารณาในสภา เพราะท้ายที่สุดรัฐบาลคงใช้ร่างของนายวรชัย เหมะ หรือพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าอะไรที่รัฐบาลไม่เอาแน่ๆ เราต้องหนุน นี่เป็นการเล่นการเมืองมากไปหรือไม่ คงคิดว่ารัฐบาล พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.ก็ไม่เอาร่างฉบับนี้อยู่แล้ว เลยหนุนมันเสียเลย หวังดึงมวลชนเสื้อแดงมาเป็นเสื้อฟ้า โดยหารู้ไม่ว่า ถึงอย่างไรคนเสื้อแดงกลุ่มนี้ก็ไม่เอาประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แม้จะเจ็บปวดจาก พ.ต.ท.ทักษิณเพียงใดก็ตาม
นางพะเยาว์ อัคฮาด ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา