“ส.ว.คำนูณ” ย้ำถามจุดยืน ปชป.หนุนร่างนิรโทษกรรมฉบับ “แม่น้องเกด” ปล่อยคนผิด ม.112 พร้อมมือเผาศาลากลาง แต่ไม่รวมคดีพันธมิตรฯ ชุมนุมสนามบิน ชี้ปรับมาจากร่างนิติราษฎร์ มุ่งครอบคลุมคดีหมิ่นเบื้องสูงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อเวลา 10.07 น.วันนี้ (18 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหาได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน ย้ำถามถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด คนเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการชุมนุมปี 2553 ว่า 3 ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับแม่น้องเกด มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญที่พูดไปแล้วคือ 1. นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในมาตรา 3 (3) และ 2. นิรโทษกรรมแก่ผู้วางเพลิงสถานที่ราชการ อยู่ในมาตรา 3 (4) วรรคสอง
“อีก 1 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับพี่น้องที่ร่วมชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิที่ยังไม่ได้พูดถึงคืิอ... 3. ไม่นิรโทษมวลชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในตอนท้ายมาตรา 3 (3) เรื่องพันธะกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ” นายคำนูณระบุ
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ร่างฯ นี้ปรับมาจากร่างฯ ของคณะนิติราษฎร์ เพียงแต่ตัดเนื้อหาว่าด้วยคณะกรรมการฯ (คณะกรรมการแก้ไขความขัดแย้ง) ออกไป และปรับข้อความที่มุ่งให้ครอบคลุมมาตรา 112 ให้ชัดเจนขึ้น จึงขอถามย้ำจุดยืนอย่างเป็นทางการของพรรคประชาธิปัตย์ให้ชัดเจนอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโปรดตอบ
ทั้งนี้ กลุ่มญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค. 53 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อขอให้รัฐบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549” หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
ต่อมาวานนี้ (17 ก.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะมีความสอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ คนทำผิดกฎหมายอาญา มีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน คือ เป็นเรื่องลหุโทษ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาจะได้รับการนิรโทษกรรม ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้งหมดที่อยู่ในสภา ทั้งร่างของนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ร่างของวิปรัฐบาล และอีก 4 ร่างที่ยังค้างอยู่ แล้วหันมาเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม นายคำนูณกล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี เมื่อคืนวันที่ 17 ก.ค.ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนางพะเยาว์ อัคฮาด เป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ สุดซอยของฝั่งมวลชนแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นปช.สายอุดมการณ์ เขียนออกมาดูเหมือนดี มีการจำแนกความผิด เอาเฉพาะมวลชนที่มีความผิดลหุโทษ ไม่รวมแกนนำ ไม่รวม พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ต้องตั้งคำถามว่า ร่างฉบับนี้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย โดยปรากฏในมาตรา 3 (3) แม้ไม่ได้เขียนตรงๆ แต่เขียนว่า “บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ในเขตท้องที่หรือพื้นที่ตาม มาตรา 3 (2) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งมิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 (1) หรือมาตรา 3 (2) ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ความผิดมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ความผิด ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฉะนั้น มาตรา 3 (3) นิรโทษกรรมผู้ที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อีกจุดที่ต้องตั้งคำถาม คือ มาตรา 3 (4) วรรค 2 เขียนว่า “การกระทำใดๆ ของประชาชนทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” แปลว่าวางเพลิงศาลากลางที่เป็นของราชการได้รับนิรโทษฯ แต่เผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่เป็นของเอกชนไม่ได้นิรโทษฯ