ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ก่อน ตี 3 วัน ที่6 ก.ค. เกิดเหตุไฟไหม้ ที่สถานีตำรวจภูธรไทรน้อย จ.นนทบุรี ทำให้ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่เสียชีวิต 4 คน อ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนโรงพักทั้งหมด 5 นาย คือ ร้อยเวรสอบสวน ผู้ช่วยร้อยเวรสอบสวน เจ้าหน้าที่สิบเวร เจ้าหน้าที่ประจำวันและเจ้าหน้าที่วิทยุ ซึ่งทั้งหมดให้การว่าขณะเกิดเหตุได้พยายามเข้าให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาแล้ว แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยังห้องขัง เพื่อจะช่วยผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมอยู่ พบว่ามีเปลวไฟและควันไฟพวยพุ่งออกมาจากประตูอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเข้าไปเปิดประตูห้องขังได้
มีการสอบสวน ถึงขั้น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ต้องเดินทางไปดูด้วยตาตัวเอง
เช้าวันที่ 9 ก.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นำวาระเพื่อพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เสนอคณะรัฐมนตรี
เรื่อง "ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) 396 แห่ง" เป็นดำเนินการโครงการ "ก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 โครงการ" วงเงินรวม 7,592,019,204 บาท
ทั้งนี้ ในรายละเอียด สตช.ระบุว่าได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงรายการและเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน จากเดิมโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) 396 แห่ง ภายในวงเงิน 6,672 พันล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552-2557 เป็นการดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 โครงการ วงเงินรวม 7,592,019,204 บาท (เป็นวงเงินรวมกับที่จ่ายให้ผู้รับจ้างรายเดิมไปแล้ว 1,504,679,204)
โดยดำเนินการในลักษณะแยกสัญญาเป็นรายการ เป็นเงิน 6,087,340,000 บาท ดังนี้ 1. อาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน)ก่อสร้างต่อเนื่อง (จากเดิมที่ดำเนินการแล้วบางส่วน) 221 หลัง วงเงิน 2,410,750,000 บาท 2. อาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) ก่อสร้างต่อเนื่อง(จากเดิมที่ดำเนินการแล้วบางส่วน) 57 หลัง วงเงิน 1,378,290,000 บาท โดยดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2554 -2558 และ 3. อาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) ก่อสร้างใหม่ทั้งหลัง 118 หลัง วงเงิน 2,298,300,000 บาท โดยดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2556-2558
นอกจากนี้ สตช.ยังรายงานด้วยว่า สำหรับเรื่องเดิม ในการดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) 396 แห่งนั้น ทาง สตช.ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง ในวงเงิน 5,848 ล้านบาท ตามสัญญาเลขที่ ยธ.13/2554 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2554 กำหนดทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 450 วัน แต่เนื่องจาก บริษัท พีซีซีฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาจ้าง จึงเป็นเหตุให้ สตช.บอกเลิกสัญญาจ้าง
โดย สตช.ได้สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดแต่ละจังหวัด ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการดังกล่าว สำรวจการก่อสร้างของอาคารแต่ละหลัง มีข้อสรุปดังนี้
1. อาคารที่ทำการสถานีตำรวจที่ก่อสร้างใหม่ทั้งหลังมี 118 หลัง และ 2.อาคารที่ทำการสถานีตำรวจที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากเดิมที่ดำเนินการแล้วบางส่วน 278 หลัง โดย สตช.ได้ตรวจสอบงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2552-2556 พบว่า สตช.ได้รับจัดสรรทั้งสิ้น 4,260,356,100 บาท หักเงินที่เบิกจ่ายให้ผู้รับจ้างไปแล้ว 1,488,879,578 บาท รวมทั้งเงินค่างานที่อยู่ระหว่างการเบิกจ่ายเงินค่างวดงานอีก 16 งวด เป็นเงิน 15,430,692 บาท และจำนวนเงินที่ไม่ได้บันทึกในระบบ PO เนื่องจาก จำนวนเงินไม่เพียงพอกับงวดงาน 368,934 บาท คงเหลือเงิน 2,755,676,896บาท
ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ทาง สตช.จึงขอเปลี่ยนแปลงและขอขยายเวลา กันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีงบประมาณ ดังนี้ 1. เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ 2552 วงเงิน 92,092,604 บาท 2.เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ 2553 วงเงิน 175 ,343,885 บาท 3.เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ 2554 วงเงิน 1,915,049,575 บาท 4. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 573,190,832 บาท รวม 2,755,676,896 บาท ไปจนถึงวันที่ 30 กย. 2557 เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ(ทดแทน) 396 โครงการ นอกจากนี้ ทาง สตช.ได้ขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2558 มาจากวงเงินค่าก่อสร้างใหม่ 3,331,663,104 บาท (6,087,340,000 บาท-2,755,676,896 บาท)
นอกจากนี้ ทาง สตช.ได้ให้ตำรวจภูธรแต่ละจังหวัด ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการนี้ เตรียมดำเนินการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกว่าด้วยพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.)และคณะกรรมการว่าด้วยพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.)กำหนด
ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อสตช.ได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้ว ควรดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคารและเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมและดูแลรักษาด้วย
เย็นวันเดียวกัน มีผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า
“นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าเพื่อความรอบคอบ รวมทั้งเพื่อประหยัดงบประมาณและรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด ขอให้สตช.ไปจัดทำรายละเอียดประกอบการพิจารณา และส่งกลับมาให้ครม.พิจารณาเข้ามาอีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่าขอให้สตช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทบทวนว่างบประมาณเดิมที่ได้จ่ายให้กับบริษัทพีซีซี ได้มีการก่อสร้างอะไรไปแล้วบ้าง จำนวนเงินที่จ่ายไปได้รับงานในส่วนที่เหมาะสมหรือไม่”
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังต้องการให้ทบทวนด้วยว่า เมื่อมีการติดตามค่าเสียหายและค่าชดใช้จากบริษัทพีซีซีแล้ว จะทำให้รัฐได้เงินกลับคืนมาเท่าใด และเมื่อนำมาคำนวณกับวงเงินก่อสร้างทั้งหมดแล้วจะทำให้มีวงเงินเหลือจากการก่อสร้างเท่าใด และนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระมัดระวังเรื่องของการจัดทำรายละเอียดให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยจะต้องมีการแสดงเหตุผลประกอบอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลไปกลั่นแกล้งหรือไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมครม.จึงได้มีความเห็นให้สตช.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และกรมโยธาธิการ ร่วมกันพิจารณารายละเอียดประกอบโครงการนี้ และนำส่งกลับมาให้ครม.ได้พิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่การประชุม ครม.ในวันนั้น มีการถามไถ่ลงลึกถึงความเป็นมาของโครงการที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงความจำเป็น และการเพิ่มงบประมาณที่ในใช้ในการดำเนินการครั้งนี้ ประมาณ 900 กว่าล้านบาท
ซึ่ง พล.ต.อ.ประชา ในฐานะกำกับดูแล สตช.ชี้แจงว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก ค่า F ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มเป็น 300 บาท และค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ในโครงการดังกล่าวเปลี่ยนแปลงจาก 396 แห่ง เป็น 396 โครงการ เพื่อต้องการให้เกิดความโปร่งใส ด้วยการแยกโครงการเป็นแต่ละจังหวัด และในโครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้าง เพียง 1 แห่ง เท่านั้น
โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ ก็ย้ำว่า โครงการนี้เรื่องเดิมยังอยู่ระหว่างการฟ้องทางคดีแพ่ง อยู่ที่ชั้นศาลและยังไม่รู้ว่าจะได้รับการคืนเงินหรือไม่
แต่โดยสรุป ครม.ก็ให้เดินหน้าต่อ เพราะตำรวจไม่มีที่ทำงานและรอการก่อสร้างอยู่ แต่เนื่องจากเรื่องเดิม โครงการฯนี้ เริ่มในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรต้องทำรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ใช้งบไปเท่าไร เหลือเท่าไร มีการโกงหรือไม่ และได้ดำเนินการไปเท่าไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะงบที่มีการเบิกใช้ไปแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท ต้องแจงออกมาให้ชัดเจน
เช้าวันที่ 10 ก.ค.นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว
ถามว่า เมื่อไหร่จะไปตรวจโรงพักร้าง 396 แห่ง?
ใจความระบุว่า ผมเห็น ผบ.ตร. ไปตรวจ "โรงพักไทรน้อย" จ.นนทบุรี ที่ผู้ต้องขัง 4 คน ข้อหาเบาๆ "เมาแล้วขับ" ถูกไฟคลอกตายคาห้องขัง เป็นที่น่าเวทนาต่อครอบครัว และผู้พบเห็น
ตำรวจเผ่นหนี "เอาตัวรอด" ทิ้งผู้ต้องขังไว้ข้างใน อันที่จริง ปกติต้องมีตำรวจเฝ้าหน้าห้องขัง หากเกิดเรื่องร้ายแรงอย่างไฟไหม้โรงพัก ยังมีเวลาไขเอาตัวผู้ต้องขังออกมาข้างนอกได้ ขนาดบนโรงพักแท้ๆยังดูแลความปลอดภัยไม่ได้ นับประสาอะไรจะไปดูแลบ้านเรือนประชาชน
ตอนนี้ ผบ.ตร. ไปตรวจเพื่อประโยชน์อันใดเล่า? ยกเว้นให้สื่อถ่ายภาพออกข่าว
ทำไมท่าน ผบ.ตร. ไม่ลองไปทำข่าวกับโครงการโรงพัก 396 แห่ง ที่มีแต่เสาตอม่อ? ให้เห็นว่าเอาใจใส่ ไปตรวจสอบดูว่ามีที่ไหนสร้างเสร็จบ้าง? ลูกน้องท่านอยู่อย่างไร? ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน? เหตุใดผู้รับผิดชอบโครงการถึงปล่อยปละให้เกิดความเสียหายมากมายขนาดนี้? แล้วทำไมผู้รับผิดชอบถึงยังคงอยู่ในตำแหน่ง? จะแก้ไขปัญหาอย่างไร? ไปสร้างขวัญและกำลังใจกับลูกน้องของท่านบ้าง โรงพัก 396 แห่ง เหนือ ใต้ ออกตก มีหมดทั่วประเทศ
เผื่อว่ารัฐบาลจะ "เห็นใจ" ให้เงินท่านพันล้านไปแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ขอเอาดื้อๆ แต่รายงานไม่ส่ง แบบที่ ครม. ตีกลับให้ท่านทำรายงานชี้แจง
ใจผมคิด นี่คง "เตี๊ยม" กันแล้ว เพราะถ้าเมื่อท่านขอไปพันล้าน แล้ว ครม. อนุมัติให้ดื้อๆง่ายๆ คงจะถูกตำหนิ ติฉินนินทา เลยให้ทำรายงานส่งเป็นขั้นเป็นตอนถึงจะอนุมัติให้ อย่างนี้มันดูดีกว่า
ผมว่าท่าน ผบ.ตร. น่าจะไปตรวจเพื่อ "ทำข่าว" เรื่องนี้ ถึงจะดูเหมือนเป็นการ "สร้างภาพ" แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร
ขณะที่เรื่องการสอบสวนคดี 396 โรงพัก ยังค้างอยู่ที่ ดีเอสไอ ตั้งแต่ อธิบดีดีเอสไอปีนเกียวกับ ผบ.ตร. รวมทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ดูเรื่องโรงพักฉาว! คนแรกก็ถูกเด้งจากรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว.