xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รุกฆาตถอดถอนครม.ปู ดับกระสันดันทุรัง งาบงบน้ำ 3.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ออกอาการทุรนทุรายอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รัฐบาลกลับมาทำประชาพิจารณ์และดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 และมาตรา 67 ก่อนเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้าน ซึ่งรวบรัดประมูลก่อสร้างและผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว

นายปลอดประสพ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ดูเหมือนจะอาการหนักกว่าใครอื่น ไม่ใช่แค่เสียหน้าจากที่ลั่นวาจาสามหาวดูหมิ่นดูแคลนภาคประชาชนที่ออกมาท้วงติง กบอ.อย่าลุแก่อำนาจให้รับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเสียก่อน ว่าเป็นพวกทำตัวเป็นเศษขยะ และหนักหนาถึงด่ากราดเป็น “เหี้ย” จนกระทั่งภาคประชาชนต้องหันไปพึ่งศาลปกครองเพื่อหยุดยั้งความบ้าอำนาจของนายปลอดประสพและนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเมื่อเจอศาลสั่งให้กลับมานับหนึ่งใหม่ นายปลอดประสพ ถึงกับอึ้ง แต่ก็ไม่วายเอาสีข้างเข้าถู แถข้างๆ คูๆ ดันทุรังจะไปต่อให้ได้

นายปลอดประสพ ลำพองถึงขนาดว่า แม้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งให้จัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงและศึกษาผลกระทบจากโครงการ ก็มีผลเพียงแค่ต้องชะลอการดำเนินขั้นตอนต่างๆ ของโครงการลงชั่วคราวและมีความล่าช้าจากแผนเล็กน้อย โดยกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น

นั่นเท่ากับเป็นการยืนยันชัดเจนเช่นเดิมว่าจะเซ็นสัญญากับเอกชนในเดือน ก.ย.นี้ตามกำหนดการเดิมไม่เปลี่ยนแปลงใน 8 โมดูล เพราะนายปลอดประสพ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามคำสั่งศาลที่สั่งให้ทำประชาพิจารณ์การสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment - EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment - HIA) เป็นการดำเนินการตามรายละเอียดของสัญญาที่อยู่ในข้อกำหนดตามขั้นตอนการศึกษาอยู่แล้ว

ส่วนโมดูลที่นายปลอดประสพ มองว่าอาจจะมีความล่าช้าออกไปบ้างคือ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ( A1 ) ที่พบว่ามี 4 เขื่อนจาก 18 เขื่อนต้องใช้เวลาอีก 2 ปีในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สัญญาในส่วนนี้จึงต้องแบ่งออกเป็น 2 ชุด คือชุดสัญญาที่สำรวจและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 14 เขื่อน และชุดสัญญาที่ต้องทำ HIA จำนวน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยมความจุ 500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่น้ำยมตอนบน ความจุ 166 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่แจ่ม ความจุ 174.674 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแม่วงก์ความจุ 257.55 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่โครงการฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุด และใช้งบประมาณมากที่สุดนั้น นายปลอดประสพ บอกเลยว่า ไม่ต้องทำอีไอเอและเอชไอเอ เพราะเป็นประเภทโครงการที่ไม่ได้ระบุไว้ในโครงการที่มีผลกระทบร้ายแรงตามมาตรา 67 วรรคสอง

ไม่ใช่แค่นายปลอดประสพ เท่านั้น ที่ไม่ได้สนใจฟังคำสั่งศาล แต่ตะแบงตีความข้างๆ คูๆ ดันทุรังเดินหน้าโครงการต่อไปให้ได้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.กระทรวงการคลัง ก็มีพฤติกรรมจะกู้ให้ได้เช่นเดียวกัน เพราะคล้อยหลังจากศาลมีคำสั่งในวันที่ 27 มิ.ย. 56 ไม่กี่ชั่วโมง ในวันเดียวกันนั้น นายกิตติรัตน์ ได้สั่งให้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ ทันที

เรื่องนี้ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลด้านหนี้สินและรายจ่าย ผู้ซึ่งคงอยากจะได้ดิบได้ดีเหมือนรุ่นพี่ๆ ที่รับใช้ตระกูลชินวัตร จึงไม่รอช้ารีบสนองนโยบายทันที เพราะเห็นตัวอย่างแล้วไม่ว่าจะเป็น นางเบญจา หลุยเจริญ ที่ช่วยให้พี่น้องลูกหลานชินวัตรประหยัดเงินไม่ต้องเสียภาษีนับหมื่นล้านบาทสมัยเป็นข้าราชการอยู่กรมสรรพากร จนเธอได้ดีมีโอกาสนั่งในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งแถมไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกนับไม่ถ้วน จนกระทั่งล่าสุดได้รับปูนบำเหน็จรางวัลเป็นรัฐมนตรีในครม.ยิ่งลักษณ์ 5 หรืออย่างนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ที่ช่วยเป่าคดีให้ตระกูลชินวัตร จนได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในครม.ชุดนี้เช่นกัน

นายพงษ์ภาณุ ได้ออกมายืนยันว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 56 ขณะที่ใครๆ พากันลุ้นคดีที่ศาลปกครองนั้น ตนเองได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินเพื่อกู้วงเงิน 3.2 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทเรียบร้อย และถึงแม้ว่าคำสั่งศาลปกครองจะให้รัฐบาลกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้เสียก่อนก็ไม่เกี่ยวกันเพราะถือว่าการเซ็นสัญญาเงินกู้เป็นคนละส่วนกับการดำเนินของโครงการ

แถมบอกด้วยว่า การเซ็นสัญญาเงินกู้ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายให้รัฐบาลต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยเงินกู้ หากไม่มีการเบิกใช้เงินกู้ โดยสัญญาที่ทำไว้จะต้องกู้เงินดังกล่าวให้หมดภายใน 6 ปี และจะต้องใช้หนี้ภายใน 4 ปี หลังจากที่มีการเบิกกู้ในแต่ละก้อน การกู้มีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง บวก 1.8% ต่อปี

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำนั้น มีการกู้เงินทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 3.44 แสนล้านบาท โดยก่อนหน้ามีการกู้ไปแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท การเซ็นสัญญาล่าสุด 3.2 แสนล้านบาท ถือเป็นวงเงินกู้ที่มากที่สุดที่มีการเซ็นสัญญาเงินกู้มา และเป็นการทำตาม พ.ร.ก.ที่ต้องมีการเซ็นสัญญาเงินกู้ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 56จะว่าไปแล้ว การดำเนินการของนายปลอดประสพ สุรัสวดี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั้น หากไม่มีไฟเขียวจากผู้นำสูงสุดของประเทศ และผู้มีบารมีนอกกฎหมายแห่งดูไบ ไหนเลยจะกล้าบ้าบิ่นขนาดนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือผู้อยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันอย่างเป็นทางการ โดยยืนยันให้เดินหน้าโครงการต่อหลังจากได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ สั่งให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโมดูลใด หรือเรื่องใดที่ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของคำสั่งศาลปกครองให้เดินหน้าต่อได้ทันที เมื่อนายกรัฐมนตรี มีท่าทีเช่นนี้ นายปลอดประสพ จึงขานรับทันทีว่าน่าจะเดินหน้าได้เกือบทั้งหมดของโครงการ

คงไม่ผิดนักหากจะสงสัยในพฤติกรรมเช่นนี้ว่า ลุแก่อำนาจกันทั้งนายหญิงและลูกน้อง

การท้าทายคำสั่งศาลปกครองของรัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมารุมกระหน่ำ เริ่มจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โจทก์เดิมที่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ได้เข้ายื่นคำร้อง (เพิ่มเติม) ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมกับกล่าวโทษ (เพิ่มเติม) ให้ไต่สวนเอาผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง และนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ลงนามในสัญญาเงินกู้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯ ได้ยื่นเรื่องเอาผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพวกมาแล้ว

เหตุผลก็คือ การกระทำของบุคคลทั้งสองเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 165 โดยชัดแจ้ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีคำพิพากษาอันเป็นคำสั่งของศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของหน่วยงานผู้บังคับบัญชาของทั้งสองเกี่ยวกับการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 57 และมาตรา 67 ในโครงการบริหารจัดการน้ำ

การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาระทางการเงินของประเทศ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาต่อไปโดยจะให้เวลา ป.ป.ช.ไต่สวน 49 วัน หากไม่ดำเนินการไม่เสร็จจะยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งคณะทำงานผู้ไต่สวนอิสระมาไต่สวนเรื่องดังกล่าวแทน ป.ป.ช.

เหตุที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ต้องขีดเส้น 49 วัน เพราะเป็นที่รู้กันว่า ป.ป.ช.นั้นเปรียบเสมือน “หลุมดำ” ใส่อะไรลงไปแทบจะเรียกได้ว่าดูดกลืนหายไปหมด กว่าจะไต่สวน ชี้มูลความผิดใช้เวลานานมากจนเกิดความเสียหายไปแล้ว

นอกจากการเดินเกมรุกฆาตจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ทางพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งช่วงนี้จับเรื่องอะไรก็ดูเหมือนจะมือขึ้น ทั้งเรื่องจำนำข้าวหรือเรื่องจัดการน้ำ ก็ฉวยจังหวะตีเหล็กกำลังร้อนเข้าชื่อยื่นถอดถอน “ครม.ยิ่งลักษณ์ 2” เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา

งานนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 132 คน ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 271 ที่ระบุว่ากรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการส่อทุจริตและกระทำผิดกฎหมาย ก็สามารถยื่นถอดถอนได้ทั้งคณะ เข้ายื่นต่อนายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา โดยระบุการกระทำผิดต่อกฎหมาย 5 ฉบับ

ประกอบด้วย 1.ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67, 2.ผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7, 3.ผิดพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, 4.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ 5.ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลังจากนี้ นายนิคม จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ประมาณวันที่ 16 ก.ค. 56

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง นั้น ระบุว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้...

และมาตรา 103/8 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย...

“หน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี...”

นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ชี้ว่า โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไม่เพียงแต่ไม่ทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 และ 57 เท่านั้น แต่ยังผิดในประเด็นสำคัญอย่างยิ่งตรงที่เป็นการดำเนินและอนุมัติโครงการโดยไม่มีการประกาศราคากลางอีกด้วย และเรื่องนี้รัฐบาลก็รู้ดี เพราะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเคยทำหนังสือหารือมายังกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 56 ว่าสามารถยกเว้นการประกาศราคากลางได้หรือไม่

คำตอบกลับจากกระทรวงการคลัง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กรมบัญชีกลาง ในช่วงปลายเดือนเม.ย.56 ชัดเจนว่า “กรณีนี้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ไม่อาจพิจารณายกเว้นในประเด็นดังกล่าวได้...” นี่คือจุดตาย!

นายคำนูน ยังเปิดข้อมูลให้ทราบกันโดยทั่วไปด้วยว่า ข้าราชการที่ลงนามในหนังสือตอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือ คุณสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจรายจ่ายและหนี้สิน (กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ในขณะนั้น

จากนั้นไม่กี่วัน คุณสุภา ปิยะจิตติ ก็ถูกปลัดกระทรวงการคลัง สับเปลี่ยนหน้าที่ไม่ให้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจรายจ่ายและหนี้สิน เอารองปลัดกระทรวงการคลังอีกท่านหนึ่งคือ คุณพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เข้ามารับผิดชอบแทน และเป็นคุณพงศ์ภาณุ คนเดียวกับที่ลงนามในสัญญากู้เงิน 3.4 แสนล้านบาทในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 27 มิ.ย. 56 หลังศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยไม่กี่ชั่วโมง

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็รู้ดี เพราะในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คณะกรรมการที่รับผิดชอบโครงการนี้ ได้เข้าพบปะหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงรายละเอียด ข้อดีและข้อที่ไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 103/7 นี้ได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็มีข้อเสนอแนะเป็นหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนพ.ค. 56 ถึงแนวทางในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับโครงการนี้โดยตรง ในเอกสารเสนอแนะ ป.ป.ช.ก็ได้พูดเรื่องมาตรา 103/7 นี้ไว้ด้วย และได้พูดชัดเจนว่าประกาศของคณะกรรมการโครงการนี้ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ไม่ถือเป็นประกาศราคากลางตามความหมายของมาตรา 103/7

“แปลว่า ป.ป.ช.รู้ว่ามีการทำผิดกฎหมายที่ตนรักษาการอยู่เกิดขึ้นตำตาแล้ว ก็ต้องถาม ป.ป.ช.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมถามในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อได้มีการพิจารณาศึกษาเรื่องนี้แล้ว ก็ขอถามในที่สาธารณะตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง” นายคำนูน ทิ้งปมให้สาธารณะจับตาป.ป.ช.จะเอาจริงแค่ไหน

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งภาคประชาชน นักวิชาการ สมาคมวิชาชีพ และกลุ่มเอ็นจีโอ ก็ออกโรงขย่มซ้ำ โดยสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่ท้วงติงการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมาโดยตลอดว่า จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายเพราะไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายและทางวิศวกรรม ไม่มีการศึกษาโครงการให้ชัดเจนก่อนลงมือทำ การคิดไปทำไปสร้างไป จะสร้างปัญหาเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแต่รัฐบาลก็ไม่เคยฟัง มาคราวนี้ นายสุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำ วสท. ออกมาโต้นายปลอดประสพ ที่ระบุโมดูลเอ 5 โครงการจัดทำทางผันน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ ไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ เพราะในกฎหมายลูกไม่ได้เขียนไว้ว่า โครงการฟลัดเวย์ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นตัวที่น่าห่วงมากที่สุดในทางวิศวกรรม เพราะเป็นการผันน้ำข้ามลุ่ม

ทั้งนี้ ฟลัดเวย์เป็นเรื่องที่กระทบต่อระบบน้ำ ระบบสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ในภาพรวม และผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งการศึกษาอย่างเป็นระบบในโครงการนี้ยังไม่มีความชัดเจน แม้แต่แนวเส้นทางผันน้ำหลากที่ยังไม่ได้กำหนด แต่กลับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และภายใต้ระยะเวลาเพียง 5 ปีไม่มีทางทำได้แน่ เพราะถ้าตามแผนที่วางไว้ระยะทาง 300 กิโลเมตรนั้น จะต้องผ่านกี่ชุมชน กี่หมู่บ้านที่ต้องเจรจาอพยพและค่าเวนคืน ตัวเลขตรงนี้ได้คิดไว้หรือไม่และจะกลายเป็นภาระผูกพันทางการเงินกับรัฐ

"ผมคิดว่าในเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้วอยากจะขอร้องให้นายปลอดประสพ ลดฐิติ เพราะไม่ใช่การเสียหน้า อะไรที่กระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วต้องกลับมาดำเนินการก่อน การทักท้วงของวสท.ที่ผ่านมาเน้นย้ำการปฏิบัติตามขั้นตอนทางวิศวกรรม เพราะแม้แต่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ยังต้องศึกษาความเหมาะสมในทางเทคนิคก่อนดำเนินงาน ซึ่งในระยะต่อมาต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย หลังจากมีการออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมในปี 2535 ขณะที่นับแต่ในอดีตตั้งแต่ปี 2500-2540 กรมชลประทานเคยสร้างเขื่อนมาแล้วนับหมื่นแห่ง ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กยังต้องศึกษาทางสิ่งแวดล้อม" นายสุวัฒนา ระบุ

ยังมีเสียงเรียกร้องให้นายปลอดประสพ เปิดโลกทัศน์ศึกษาหาความรู้ให้มากจากนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการนํ้าแบบบูรณาการ ที่ขอให้นายปลอดประสพ กลับไปอ่านประกาศกฎกระทรวง ทส.วันที่ 24 เม.ย.2550 เรื่องโครงการที่ต้องทำรายงานอีไอเอระบุชัดเจนว่าโมดูลเอ 5 ที่ทำการผันน้ำข้ามลุ่มอยู่ในอีไอเอประเภทที่ 34 ส่วนการประตูกั้นแม่น้ำสายหลักระบุในประเภทที่ 35

ไม่ใช่แค่การทำอีไอเอรายโครงการเท่านั้น นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังชี้ว่า ในการจัดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามหลักการควรประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งถือเป็นกระบวนการวิเคราะห์เชิงระบบเพื่อการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อเจอกระแสต่อต้านกดดันจากทุกสารทิศ นางสาวยิ่งลักษณ์ ถึงกับออกอาการร้อนรน และในที่สุดก็ใช้วิธีสยบกระแสค้านเหมือนกับโครงการจำนำข้าว คือ โยนเผือกร้อนไปให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้รัฐบาลรับฟังความเห็นประชาชนก่อนดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ

เหมือนกับที่นางสาวยิ่งลักษณ์ โยนเรื่องจำนำข้าวให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาตกแต่งตัวเลขขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวจากข้อสงสัยว่าขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาท ให้เหลือแค่ 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉไฉไปว่ายังไม่ได้ปิดบัญชีในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 จึงยังไม่รู้ขาดทุนในส่วนนี้อีกเท่าไหร่กันแน่

เช่นเดียวกัน นายพงศ์เทพ มือกฎหมายระดับมือพระกาฬของพรรคเพื่อไทย ย่อมมีลีลาเหนือชั้นกว่านายปลอดประสพ และนายกิตติรัตน์ งานแรกสุดคือ การเตะถ่วงเรื่องนี้ออกไป หลบกระแสที่กำลังมาแรงเพราะพวกดันไปใส่ฟืนสุมไฟไม่หยุด ดังนั้นแทนที่จะรีบเคลียร์ปมร้อน นายพงศ์เทพ กลับทอดเวลาประชุมนัดแรกเป็นวันที่ 8 ก.ค. 56 และแสดงท่าทีชิวๆ ไม่ได้หนักใจอะไรเลย

โดยในเบื้องต้นนายพงศ์เทพ เห็นว่า ทุกอย่างกฎหมายมีบอกไว้ว่าโครงการไหนต้องทำ EIA หรือ HIA อย่างนั้นก็ต้องทำ แต่ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ก็ไม่ต้องทำ ส่วนสัญญาเงินกู้จะขอดูด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ ที่มีเวลากำหนดไว้ 30 วัน จะขอดูคำพิพากษาทั้งหมดก่อนจะช่วยให้คำแนะนำ ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนครม.ทั้งคณะ ก็ว่ากันไปไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว ลีลาพลิ้วเหนือชั้นหรือมาแบบเหนือเฆมก็คงไม่สามารถช่วยอะไรได้ หากรัฐบาลยังขืนดันทุรังจะเดินหน้าต่อให้ได้โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เพราะทุกวันนี้สังคมมีเครื่องมือในการจัดการกับรัฐบาลให้พังเร็วทันตาหากยังดื้อดึงไม่ฟังเสียงของประชาชน


กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ปลอดประสพ สุรัสวดี
กำลังโหลดความคิดเห็น