xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งร้อยสามทับเจ็ด!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

“ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้...

“ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย...

“หน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี...”


3 ย่อหน้าข้างต้นคัดมาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554

ย่อหน้าแรกมาจากมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง

ย่อหน้าที่สองและสามมาจากมาตรา 103/8 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

โครงการสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่มีต้นตอมาจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวนเท่ากันเมื่อต้นปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 นั้นนอกจากไม่ได้ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67 ตามที่ศาลปกครองกลางท่านมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาแล้ว ยังผิดในประเด็นสำคัญอย่างยิ่งตรงที่เป็นการดำเนินและอนุมัติโครงการโดยไม่มีการประกาศราคากลางอีกด้วย

ถือเป็นการทำผิดกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการประกาศราคากลางนี้เป็นกฎหมายใหม่ เพิ่งบังคับใช้เมื่อปี 2554 นี้เอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการภาครัฐ รัฐบาลชุดนี้ก็รู้ดีครับ เพราะนอกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดียวกันจะเป็นผู้พิจารณาและอนุมัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรานี้และมาตราอื่นที่เชื่อมโยงแล้ว หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็มีการเร่งรัดจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลออกมาตรการสั่งการให้หน่วยราชการทั่วประเทศปฏิบัติตาม

มีการหารือระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งก็คือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
สุดท้ายได้มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนี้ที่เรียกว่า “การปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556

และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยราชการทั่วประเทศเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

คณะกรรมการและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทก็ไม่ใช่ไม่รู้นะครับ รู้ชัดเจน และรู้ด้วยว่าลักษณะการดำเนินโครงการนี้ที่เป็นการคิดไปสร้างไป เวลาจะเปิดประมูลก็เป็นเพียงประมูลแนวคิดก่อน ไม่มีแบบโดยละเอียด หรือภาษาวิชาการเรียกว่าเป็นการทำแบบ design-build with guaranteed maximum price ซึ่งเห็นว่าจะเหมาะกับลักษณะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องการให้เชื่อมต่อกัน

แต่ไม่สามารถประกาศราคากลางได้!

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเคยทำหนังสือหารือมายังกระทรวงการคลังแล้วเมื่อต้นวันที่ 2 เมษายน 2556 ว่าสามารถยกเว้นการประกาศราคากลางได้หรือไม่ คำตอบกลับจากกระทรวงการคลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กรมบัญชีกลาง ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2556 ชัดเจนครับ

“กรณีนี้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ไม่อาจพิจารณายกเว้นในประเด็นดังกล่าวได้...”

นี่คือจุดตาย!

ทราบว่าข้าราชการที่ลงนามในหนังสือตอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปคือคุณสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจรายจ่ายและหนี้สิน (กำกับดูแลกรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ในขณะนั้น

จากนั้นไม่กี่วันคุณสุภา ปิยะจิตติก็ถูกปลัดกระทรวงการคลังสับเปลี่ยนหน้าที่ไม่ให้เป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจรายจ่ายและหนี้สิน เอารองปลัดกระทรวงการคลังอีกท่านหนึ่งคือคุณพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์เข้ามารับผิดชอบแทน

เป็นคุณพงศ์ภาณุ เศวตรุนทร์คนเดียวกับที่ลงนามในสัญญากู้เงินส่วนที่เหลือประมาณ 3.4 แสนล้านบาทในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556 หลังศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยไม่กี่ชั่วโมง

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็รู้ดีครับ เพราะในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คณะกรรมการที่รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ก็ได้เข้าพบปะหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงรายละเอียด ข้อดี และข้อที่ไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 103/7 นี้ได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็ได้มีข้อเสนอแนะเป็นหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ถึงแนวทางในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับโครงการนี้โดยตรง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับเดียวกันนี้มาตรา 19 (11) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้ทำบ่อยนัก เท่าที่เห็นก็มีทำในโครงการนี้ และโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร

ในเอกสารเสนอแนะ ป.ป.ช.ก็ได้พูดเรื่องมาตรา 103/7 นี้ไว้ด้วย

และได้พูดชัดเจนว่าประกาศของคณะกรรมการโครงการนี้ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ไม่ถือเป็นประกาศราคากลางตามความหมายของมาตรา 103/7

แปลว่า ป.ป.ช.รู้ว่ามีการทำผิดกฎหมายที่ตนรักษาการอยู่เกิดขึ้นตำตาแล้ว!


ก็ต้องถาม ป.ป.ช.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ผมถามในคณะกรรมาธิการวุฒิสภาเมื่อได้มีการพิจารณาศึกษาเรื่องนี้แล้ว ก็ขอถามในที่สาธารณะตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง

ตัวย่อขององค์กรอิสระแห่งนี้มี ป. 2 ตัว ป.ตัวหลังย่อมาจาก “ปราบปราม...” แน่นอนว่า ป.ตัวแรกย่อมาจาก...

“ป้องกัน...”

แม้ยังไม่มีการทุจริต แต่การฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการทุจริตนี่ก็ผิดกฎหมาย

และป.ป.ช.ไม่ได้เป็นองค์กรที่ต้องรอให้มีผู้มายื่นคำร้องก่อนจึงจะดำเนินการไต่สวนได้ ป.ป.ช.สามารถเล็งเห็นเองได้ รัฐธรรมนูญมาตรา 275 วรรคห้าก็รองรับไว้ชัดเจน หรือในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ ป.ป.ช.รักษาการอยู่เองก็มีอยู่หลายมาตราที่ระบุไว้ อย่างน้อยก็มาตรา 88 มาตราหนึ่งละ

“เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับคำกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 88 หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้คณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการตามหมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง”

​หวังว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป!
กำลังโหลดความคิดเห็น