xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึก “กระทรวงหมอ” สาวไส้ สุดท้ายตบจูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แตกจนยากประสาน รอยร้าวในกระทรวงหมอ ระหว่างฝ่ายเจ้ากระทรวง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ กับกลุ่มแพทย์ชนบทดูเหมือนจะยิ่งบานปลาย ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลงให้กัน พูดกันไปคนละทาง ยิ่งพูดก็เหมือนยิ่งแฉ สาวไส้กันจนเครื่องในล้นทะลัก

เรื่องของเรื่องก็เกิดจากการที่ทางฝ่าย รมว.สาธารณสุข ไปแตะเรื่องค่าตอบแทนแบบเหมาจ่าย ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทย้ำนักย้ำหนาว่าเป็นเครื่องมือที่ดึงแพทย์ให้อยู่ในชนบท ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยมีการลดค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายลง และหันไปใช้การจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Performance) ร่วมด้วยหรือแบบผสมผสานนั่นเอง

ที่ผ่านมา ชมรมแพทย์ชนบทได้พยายามคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด มีการงัดข้อมูลขึ้นมาพูดกันว่าทำให้แพทย์ในชนบทลาออก เพราะรับไม่ได้กับการจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มมากขึ้นทนที่จะลดดลงอย่างที่ รมว.สาธารณสุข อ้าง

แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายแพทย์ชนบทเดินเกมพลาดที่ตั้งธงว่าจะไม่มีการหารือหรือเจรจาใดๆ กับ นพ.ประดิษฐ์อีก ได้แต่มาส่งเสียงกันอยู่ข้างกระทรวงบ้าง ข้างทำเนียบรัฐบาลบ้าง สุดท้ายเรื่องนี้ก็ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปอย่างฉลุย ทำเอาเหล่าแพทย์ชนบทต้องรีบกลับไปตั้งหลักใหม่ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี

ประกอบกับมีเรื่องของการตั้งสอบ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในขณะนั้นด้วย ซึ่งบทสรุปก็นำไปสู่การปลดหรือการเลิกจ้าง นพ.วิทิต จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มแพทย์ชนบทนำมาใช้โจมตี รมว.สาธารณสุข ว่าไม่มีความชอบธรรม ใส่ร้ายป้ายสี อภ.จนเสียภาพลักษณ์ ทำร้ายหมอดีๆ อย่าง นพ.วิทิต

ที่สำคัญยิ่งทำศึกนานก็ยิ่งมีข้อมูลออกมาทำลายฝ่ายตรงข้ามเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่น สั่งให้เพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่ม นโยบายการร่วมจ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพฯ การจัดซื้อเครื่องตรวจเบาหวานให้ อสม. การย้ายสำนักงาน สปสช.จากศูนย์ราชการมายัง สธ. การรวบอำนาจ การโอนเงิน 75 ล้านบาทจาก อภ.ไปให้ สปสช. และอีกสารพัดเรื่องที่ขุดออกมา จน นพ.ประดิษฐ ถึงกับเอ่ยปากว่า มีอยู่เพียงปากเดียวคงสู้ไม่ไหว

นอกจากนี้ ยังมีตัวละครอีกหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่ออกมาสนับสนุน สธ.บ้าง แพทย์ชนบทบ้าง คัดค้านบ้างกันอีนุงตุงนังไปหมด ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ

คราวนี้ความแตกแยกในกระทรวงฯก็ยิ่งทวีคูณ โดยกลุ่มแพทย์ชนบทและพรรคพวกที่สนับสนุนในนามเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพยืนยันว่าจะต้องปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ แต่ นพ.ประดิษฐ ก็ยังคงนั่งยันว่าจะไม่ลุกจากเก้าอี้ เพราะตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด

จนหวิดที่จะมีการก่อม็อบบริเวณหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปแล้วรอบหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายทางเครือข่ายฯก็ถูกนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่อมเสียอยู่หมัดว่าอย่าก่อม็อบ แต่ควรมาคุยเจรจากันมากกว่าเพื่อหาข้อยุติในส่วนที่ขัดแย้งต่างๆ จึงเป็นที่มาของการเวิร์กชอป 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายเครือข่ายฯ ฝ่าย สธ. และฝ่ายตัวแทนนายกฯ ในวันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้าในวันที่ 4 มิ.ย. ก็ได้มีการหารือนอกรอบไปแล้วที่โรงแรมรามาการ์เดนส์

ผลจากการหารือนอกรอบ ก็พบว่า ต่างฝ่ายต่างก็ยังไม่ยอมลงให้แก่กัน ไม่มีใครถอย สู้ยิบตาต่อไปในแนวทางปฏิบัติของตัวเอง แม้จะมีบางเรื่องที่พอจะตกลงกันได้ เช่น การยังไม่นำระบบร่วมจ่ายมาใช้ การตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบผลการพิจารณาปลด นพ.วิทิต ออกจากตำแหน่ง เป็นต้น

แต่อีกหลายๆ เรื่องก็ยังคงต้องรอผลสรุปของการเจรจา ซึ่งกลุ่มเครือข่ายฯก็ตั้งธงเอาไว้เหมือนเดิมว่าไม่เชื่อในสิ่งที่ รมว.สาธารณสุขพูด โดยเฉพาะการยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซง สปสช. จนถึงขนาด นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทต้องล้วงเอาหลวงปู่ทวดรุ่นผงตะไบทองออกมาให้ รมว.สาธารณสุข สาบานกันเลยทีเดียว

ไม่ว่าอย่างไรในการเวิร์กชอป นพ.เกรียงศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สุดท้ายผลของการเจรจาต้องเป็นที่น่าพอใจของกลุ่มแพทย์ชนบท ทั้งในแง่ของสาระข้อเสนอและตัวบุคคล ก็คือการปลด นพ.ประดิษฐ เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เตรียมที่จะยกม็อบหมอชนบทไปพร้อมอยู่ที่หน้าบ้านนายกฯปู ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อได้เลยว่าแพทย์ชนบทไม่มีทางสมหวัง เพราะ นพ.ประดิษฐ ก็เป็นคนสายตรงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สำคัญเรื่อง P4P ก็ผ่าน ครม.มาแล้วด้วย การจะให้นายกฯและครม.กลืนน้ำลายตัวเอง ยกเลิก P4P นำระบบเหมาจ่ายกลับมาใช้เพียงอย่างเดียวคงยาก ที่สำคัญหากเป็นเช่นนั้นจริง นพ.ประดิษฐ คงไม่มีหน้านั่งอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป เพราะเท่ากับว่า ครม.ยอมรับว่านโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อประชาชนจริง

นี่เท่ากับว่าการมานั่งร่วมโต๊ะเวิร์กชอปกันก็เป็นเพียงการแสดงปาหี่เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วเจรจาก็เหมือนไม่ได้เจรจา เพราะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม แต่ละฝ่ายยังถือทิฐิของตัวเอง ไม่ลงให้กัน อย่างเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ยังยอมรับเองเลยว่า นพ.ประดิษฐ หมดความชอบธรรม อย่างไรก็ไม่เอา นพ.ประดิษฐ คนที่ไม่ไหว้ไม่มองหน้ากันอยู่ดีๆ จะให้มานั่งเจรจาดีๆกัน จูบปากกันคงเป็นไปได้ยาก แต่การเวิร์กชอปก็ต้องเดินหน้าต่อ อย่างน้อยก็เพื่อหาทางลงเรื่องอื่นที่มันสวยงามขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเวิร์กชอปในวันที่ 6 มิ.ย. หลายฝ่ายคาดหมายล่วงหน้าว่า ต่างฝ่ายต่างคงย้ำจุดยืนของตัวเองเช่นเดิม แต่นาทีสุดท้าย กลายเป็นว่า นายสุรนันท์ สามารถกล่อมให้กลุ่มแพทย์ชนบทยอมรับP4P จนได้ ส่วนกรณีหมอประดิษฐ นั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาหนักหนาสาหัสคราวนี้ ดูเหมือนที่จะยังมีหนึ่งคนที่พัวพันกับเรื่องนี้ด้วย แต่ยังคงลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหาเช่นเคย ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายกฯปู น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายหนีคดี ที่แม้จะทำตัวเป็นกาวใจให้ด้วยการจัดเวิร์กชอป 3 ฝ่าย แต่นายกฯก็ไม่ได้ลงมาทำหน้าที่เจรจาด้วยตัวเอง กลับให้เลขาธิการนายกฯลงมาทำหน้าที่แทน แต่โชคดีที่ว่ากาวใจของนายกฯปูเหนียวไม่พอ เพราะเรื่องที่ทำท่าว่าจะบานปลายสุดท้ายกลับตบจูบ เดินหน้า P4P ต่อเสียอย่างนั้น แต่ก็ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป ทั้งการทำหลักเกณฑ์ P4P ให้สอดคล้องกับบริบท มาตรการเยียวยา เป็นต้น ซึ่งหากเป็นตัวนายกฯเองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้ออกมาในอีหรอบหรือไม่

อย่างว่าเรื่องหมอๆ คงยากเกินไปสำหรับนายกฯปู เพราะดูเหมือนว่าพี่ชายจากแดนไกลของนายกฯ จะเน้นใส่โปรแกรมการตอบคำถามแต่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่รวมเรื่องของวงการสาธารณสุขเข้าไป ก็เลยนิ่งเงียบ ใบ้รับประทาน ทำอะไรไม่ได้ ประชาชนตาดำๆ คงได้แต่ตีความเอาเองว่า พอดีพี่ชายไม่ได้เคร่งเรื่องสาธารณสุข เห็นว่าเรื่องจำนำข้าวและกู้เงินให้คนไทยเป็นหนี้สำคัญกว่า !!

ทีมข่าวคุณภาพชีวิต .... รายงาน



กำลังโหลดความคิดเห็น