แพทย์ชนบทประณาม "หมอประดิษฐ" ปลุกม็อบมาเชียร์ตนเอง ให้ข้อมูลเท็จกล่อมนายกฯ ว่าคนส่วนใหญ่เอา P4P ทั้งที่ไม่ใช่ ยันรัฐบาลต้องรับ 16 ข้อเสนอทั้งหมด รวมทั้งปลด รมว.สธ.จากตำแหน่ง ขู่ไม่รับเจอม็อบหน้าบ้านนายกฯ 20 มิ.ย. แฉเตรียมย้าย สปสช.มาตั้งสำนักงานในพื้นที่ สธ.
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้แถลงข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย ก่อนเริ่มการหารือนอกรอบระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ขอประณาม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่โยงประเด็นความขัดแย้งเป็นเรื่องการเมือง ด้วยการปลุกม็อบมาเชียร์ตนเองที่ทำเนียบรัฐบาล และเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จต่อนายกฯว่า มีส่วนน้อยที่ไม่ดำเนินการเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance :P4P) ทั้งที่ชมรมแพทย์ชนบทสำรวจพบว่า โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เกือบ 100% ไม่ดำเนินการเรื่องนี้
"รัฐบาลจะต้องรับข้อเสนอของเครือข่ายฯทั้ง 16 ข้อทั้งหมด ไม่มีการพิจารณาแยกส่วน หากรับทุกข้อยกเว้นเรื่องปลด นพ.ประดิษฐ จากตำแหน่ง คงต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าต้องรับข้อเสนอทั้งหมด เพราะทั้ง 16 ข้อไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องที่ นพ.ประดิษฐเป็นฝ่ายกระทำทั้งสิ้น ไม่ใช่ระบบทำ หากการหารือในวันที่ 6 มิ.ย. ไม่ประสบผลสำเร็จ วันที่ 20 มิ.ย. จะมีการชุมนุมหน้าบ้านนายกฯแน่นอน" ประธานชมรมฯ กล่าว
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนมี 5 ข้อ ได้แก่ 1.คงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 2.ปรุบปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เป็นธรรม คือตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานใน รพช. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงกลุ่มงานบริหารและการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 3.ตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนในการพิจารณาทบทวนพื้นที่ทั้งหมดโดยเร็ว 4.ยกเลิกการบังคับทำ P4P ใน รพช. และ 5.ตัดต้นตอปัญหาคือให้ นพ.ประดิษฐ พ้นตำแหน่งทันที
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนปัญหาที่เห็นชัดเจนต่อจาก อภ. คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยล่าสุดในการประชุมแนวทางจัดสรรงบประมาณขาลงประจำปี 2557 มีการบรรจุพิจารณาข้อเสนองบประมาณการออกแบบ สปสช.แห่งใหม่จำนวน 3.4 ล้านบาท โดยมีข่าววงในว่า มีแนวโน้มต้องการให้ย้าย สปสช. จากปัจจุบันตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการฯ ให้มาอยู่ภายในพื้นที่ สธ. จ.นนทบุรี ซึ่งแนวคิดนี้ต้องการจะทำตั้งแต่ปี 2555 โดยให้อิงแบบอาคารเหมือนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แต่ขณะนี้เกิดกระแสต่อต้านภายในองค์กร ทำให้เรื่องเงียบไป ปรากฎว่ามีการฟื้นแนวคิดนี้ใหม่ และตั้งงบประมาณการออกแบบไว้เรียบร้อย เหลือเพียงการประกาศเพื่อทำเรื่องในการคัดสรรและว่าจ้างบริษัทออกแบบเท่านั้น
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คือ 1.ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่ายและยกเลิกการเก็บ 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ 2.การจัดหาบริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ สปสช.เท่านั้น ส่วน สธ.มีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของ สธ.เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการต้องยกเลิก 3.ยุติการแทรกแซงการบริหารงานของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหาบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี 4.คืนความเป็นธรรมและเยียวยานพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผอ.อภ. และ 5.ตัดต้นตอของปัญหาโดยให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นพ.ประดิษฐพ้นจากตำแหน่งรมว.สธ.ทันที
นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อภ. กล่าวว่า ข้อเสนอของสหภาพฯ อภ. ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้องไม่แปรรูป อภ.คงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว 2.ให้ยุติการใช้เงินสะสมของ อภ.โดยมิชอบ เช่น สั่งให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาท สร้างศูนย์ความเป็นเลิศของ สธ. 3.ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ โดยมิชอบ 4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการ อภ.ดำเนินคดีกับกลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือน อภ. 5.ให้บอร์ด อภ.ชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ และ 6.ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือให้ปลด นพ.ประดิษฐ พ้นจากตำแหน่งทันที
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดกันในสปสช. ถึงประเด็นการย้ายสำนักงานฯ โดยอยู่ระหว่างการรวมตัวกันเพื่อออกมาคัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากมองว่าการตั้งงบฯออกแบบ 3.4 ล้านบาท น่าคิดว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการหารือกันภายในองค์กรก่อน หรือถามความคิดเห็นคนที่ทำงานเลย ทำให้เกิดคำถามและเชื่อว่า การย้ายสำนักงานฯ ก็เพื่อต้องการรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้อยู่ภายใต้กระทรวงฯ หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมขัดกับหลักการทำงานด้านหลักประกันสุขภาพฯ ที่ยึดความเป็นอิสระ ลดความเหลื่อมล้ำในการใช้บริการทุกกลุ่ม