xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความละอายของประธานบอร์ดธปท.??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายถึงสาเหตุที่ ธปท. ส่งหนังสือชี้แจงบทบาทและหน้าที่ของธปท.ว่า

“เนื่องจากระยะที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับธปท.ถึงประเด็นทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงอาจเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ อาจสร้างความกังวลและสับสนให้กับประชาชนในวงกว้างได้ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนนั้นยอมรับว่าในภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ปกติ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป และญี่ปุ่น มีปัญหา ทำให้เงินไหลเข้ามาจนทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่า และเร็วเกินไป แต่เท่าที่ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงเวลานี้ ไม่น่าจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้”

นั่นหมายความว่า คำพูดแบบผายลมของ “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการ ธปท. ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเท็จจริง ข้อมูลและทฤษฎีทางการเงิน แต่อย่างใด

เขายังตอกย้ำข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติว่า “อัตราดอกเบี้ยเป็น 1 ในเครื่องมือที่ทางธปท.ใช้กำกับดูแลเงินทุนไหลเข้าออก และเป็นบทบาทวางดุลยภาพในประเทศ ซึ่งการประชุมในรอบนี้ จะใช้ข้อมูลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกมาประเมิน หากเศรษฐกิจไม่ร้อนแรง เข้าสู่ปกติไม่มีความเสี่ยงของเสถียรภาพ ดอกเบี้ยอาจผ่อนได้บ้าง”

นอกจากนี้ ภาวะเงินบาทขณะนี้อาจมีการทรงตัวดีขึ้น แต่เป็นเพียงภาพชั่วคราว สถานการณ์เช่นนี้ยังไม่สามารถวางใจได้ ตราบในที่เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ยังมีปัญหา โอกาสตลาดเงินจะมีความผันผวนยังมีมาก ทางธปท.ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และเตรียมเครื่องมือไว้ใช้ในยามจำเป็น

ดร.ประสาร ตอกย้ำจุดยืนการทำหน้าที่ ผู้ว่าฯธปท.ว่า "คนที่มาเป็นผู้ว่าการ ธปท. มาแล้วก็ต้องไป แต่ความน่าเชื่อถือขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการของ ธปท.ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ใช้นโยบายการเงินของไทยเป็นแบบอย่าง ดังนั้น อย่าทำอะไรที่ทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น เพราะจะต้องเดินหน้าต่อ อย่าถอยหลังและเข้าไปต่อคิวใหม่ในเวทีโลก"

นั่นหมายความว่า ความศรัทธาของธปท. ต้องดำรงอยู่ต่อไป

แตกต่างอย่างขาวกับดำ กับนักการเมืองในคราบ ประธานคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งอยู่ในสภาพหมดราคาค่างวดในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ไปนานแล้ว

ดร.วีรพงษ์ เปิดทำเนียบรัฐบาลแถลงข่าวโจมตีบ้านตัวเอง เพราะไม่พอใจการทำงานของ ธปท.

ที่สำคัญพนักงาน ธปท. ก็รังเกียจ วีรพงษ์ พอสมควร

เขาอยากให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ปลด ผู้ว่าฯธปท.

และถ้าเป็นไปได้ ก็แต่งตั้ง “วีรพงษ์” เป็นผู้ว่าฯธปท. เสียเลย แล้วจะทำให้สามารถบังคับควบคุมธปท.ได้ง่าย

วีรพงษ์ ยังวิจารณ์แบบนักการเมืองว่า "ในคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่บางคนก็ดูแล้วไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคอย่างแท้จริง”

ทั้งๆ ที่ความรู้ของวีรพงษ์ ในปัจจุบันล้าสมัยไปหลายสิบปีแล้ว

ที่สำคัญ วีรพงษ์ ยังฝันเปียกกลางวัน แถลงข่าวไปว่า

“รู้สึกหนักใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง รมว.การคลัง และผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้พบว่า ธปท.ขาดดุลในงบเพิ่มเป็นกว่า 8 แสนล้านบาทแล้ว จากสิ้นปี 2555 ที่อยู่ในระดับ 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจสูงไปถึง 1 ล้านล้านบาท ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ และกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะย้อนกลับไปเหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ”

แสดงว่า เขามีความเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% ในปัจจุบัน กำลังทำให้เกิด“วิกฤตเศรษฐกิจ”

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เลยงงกับทฤษฎีการเงินการเมืองแบบวีรพงษ์มาก เสมือนเขากำลังสร้าง “งานวิจัยชิ้นใหม่”จากคำพูดเพียงไม่กี่ประโยค

พฤติกรรมโยนบาปให้ ธปท. และพูดโดยไม่ใช้ความคิดบนพื้นฐานข้อมูลและทฤษฎี ..ทำให้ธปท. ต้องออกแถลงการณ์ 4 ข้อ “สั่งสอน”ประธานบอร์ด ธปท.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ธปท.ได้ออกหนังสือชี้แจง ฉบับที่ 22/2556 เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย  โดยมีเนื้อหาทั้งหมด 9 หน้า

ธปท.ชี้แจงว่า “ในระยะนี้ มีกระแสข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจของธปท. ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้ จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการทำหน้าที่ของ ธปท.อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศมากว่า 70 ปี โดยจะครอบคลุมใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. บทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระของ ธปท.

หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็น ธปท. หรือกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานอื่นใด ต่างมีจุดมุ่งหมายสูงสุดร่วมกันคือ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน ไม่สะดุดหยุดลงจากปัญหาวิกฤติเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งในทางปฏิบัติ กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้มีการประชุมหารือ และประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ว่าการ ธปท. และ รมว.การคลัง อาจมีความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันได้ โดยเฉพาะการให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจในระยะสั้นกับระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยการหารือและพิจารณาในภาพรวมว่า การดำเนินการอย่างไรจะเป็นผลดีที่สุดต่อประเทศ โดยประเทศไทยเลือกใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วยทั้งผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก พิจารณาข้อมูลรอบด้านและตัดสินนโยบายในลักษณะมองไปข้างหน้า ไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญแต่เฉพาะเสถียรภาพด้านราคาหรือเงินเฟ้อ แต่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และคำนึงถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้นด้วย

"จากผลการศึกษาและการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา 2 สะท้อนว่า การดำเนินนโยบายการเงินของไทยเป็นที่เชื่อถือและยอมรับ มีกระบวนการที่ชัดเจน มีความโปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีประสิทธิภาพในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี" หนังสือธปท. ระบุ

2. การดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทประมาณร้อยละ 4 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นผลจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่เป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยซึ่งมีปัจจัยภายในประเทศที่ดึงดูดการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 5 นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมืองและระบบสถาบันการเงินของไทยโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ในช่วงกลางเดือนเม.ย. ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดถึงประมาณร้อยละ 6.5 อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา แรงกดดันต่อค่าเงินบาทผ่อนคลายลงบ้าง

“ทั้งนี้ หากมองในระยะยาว เงินบาทที่โน้มแข็งค่าขึ้นนับตั้งแต่หลังวิกฤติการเงินไทยปี 2540 สอดคล้องกับพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับของเศรษฐกิจไทย และการแข็งค่าของเงินบาทมีส่วนช่วยให้คนไทยซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศและใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง ช่วยให้เอกชนไทยลงทุนในต่างประเทศได้ด้วยต้นทุนที่ลดลง และช่วยลดภาระหนี้ต่างประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาคและพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม แม้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก”

"จากการหารือเพื่อประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อเศรษฐกิจระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. พบว่าในกรณีเลวร้ายคือ สมมติให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมากต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ถึงแม้จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ซึ่งไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการแข็งค่าของค่าเงินจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงมากถึงขั้นวิกฤติแต่อย่างใด" หนังสือของธปท. ฉีกหน้าประธานบอร์ด ธปท.

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ กนง.ทราบโดยละเอียดอย่างต่อเนื่อง หาก กนง. ประเมินว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความผันผวนผิดปกติ จนอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่อาจจะไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ กนง.ก็พร้อมที่จะพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการเสริมเข้าดูแล รวมถึงประสาน การใช้มาตรการอื่นๆ ภายใต้อำนาจกระทรวงการคลัง โดยจะพิจารณาความเข้มของมาตรการตามความจำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์    

ธปท.ขอชี้แจงว่า สถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมในปัจจุบันแตกต่างกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 โดยสิ้นเชิง ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเช่นในอดีตมีน้อยมาก

ประการแรก การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นในปัจจุบัน แทนระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ จึงไม่มีโอกาสที่จะถูกโจมตีค่าเงินเช่นในอดีต

ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก ทำให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินลดลงไปมาก

ประการที่สาม ค่าเงินที่เคลื่อนไหวได้ตามกลไกตลาดภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกอัตโนมัติในการรักษาสมดุลของระบบเศรษฐกิจ

และประการที่สี่ การที่ทางการไม่จำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศอีกด้วย

3. การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และไม่ได้สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่มีระบบการเงินคล้ายคลึงกับไทย หมายถึงประเทศไทยมีนโยบายการเงินที่ยังเอื้อต่อการใช้จ่ายและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ ในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณความร้อนแรงอยู่บ้าง ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวสูง และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะหลังที่เร่งขึ้นมากมาอยู่ที่ร้อยละ 78 ของจีดีพี ทำให้การพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจได้ในระยะปานกลางและระยะยาว

4. การขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท.

เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามพันธกิจของธปท. ในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ แต่หากธปท. สามารถอธิบายสาเหตุของการขาดทุนให้สาธารณชนเข้าใจและยอมรับได้  จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นและประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายการเงิน อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้วางแนวทางเพื่อลดการขาดทุนดังกล่าว และปรับปรุงฐานะการเงินของ ธปท.ให้เข้มแข็งขึ้น โดยการขยายประเภทสินทรัพย์ที่นำเงินสำรองทางการไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง และขอเรียนเพิ่มเติมให้ประชาชนสบายใจได้ว่า เงินทุนที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เมตตารวบรวมบริจาคมานั้น ยังคงมีอยู่ครบถ้วนในบัญชีทุนสำรองเงินตรา

แปลไทยเป็นไทยอีกรอบก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินงานมาตลอดระยะเวลามากกว่า 70 ปี ด้วยความเชื่อถือ และศรัทธา รวมทั้งใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายรักษาดุลยภาพภายใน และภายนอกประเทศ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเจริญเติบโต และเสถียรภาพทางการเงิน

โดยไม่มีทางที่จะเกิด “วิกฤติเศรษฐกิจ”เพราะดอกเบี้ยนโยบาย 2.75%

ที่สำคัญภาระการขาดทุนที่เกิดขึ้นก็มาจากการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งหมดในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัย ดร.ประสาร ทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท.แต่อย่างใด

นั่นหมายความว่า คำพูดของวีรพงษ์ ล้วนโกหกทั้งสิ้น

แล้วยังหน้าหนา นั่งทำหน้าที่ประธานบอร์ดธปท. อีกหรือ ในเมื่อเจ้าของบ้านเขาออกปากไล่อย่างนักวิชาการแล้ว...คุณวีรพงษ์ !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น