xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก บจ.คาด ศก.ไทยโต 5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหาร บจ.ไทย คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าอยู่ที่ 4.5-5% ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย คือ การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลกระทบการดำเนินธุรกิจ 6 เดือนข้างหน้าส่วนใหญ่ตอบเรื่องขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ด้านผู้บริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ บจ.ไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศแตะ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จาก 8 เดือนออกไปแล้ว 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับทั้งปีก่อน สูงกว่าเม็ดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศมาไทย ช่วง 8 เดือนปีนี้เข้ามาเพียง 6 ล้านพันเหรียญสหรัฐ

นางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยว่า สมาคม บจ. ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้จัดทำแบบสำรวจ CEO Survey Economic Outlook ครึ่งปีแรก 2556 ซึ่งมีบริษัทที่มีการตอบแบบสอบถามจำนวน 81 บริษัท 9 อุตสาหกรรม ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โดยผลการสำรวจครั้งนี้เพื่อให้บริษัทต่างๆ นำไปปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต

ผลสำรวจพบว่า ผู้บริหาร บจ. ส่วนใหญ่ 1 ใน 3 มองว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะอยู่ที่ 4.5-5% มีเพียง 15% ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีหน้านั้น ผู้บริหาร บจ.มองว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบมากสุด อันดับแรก คือ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจยุโรป อันดับ 2 เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง อันดับ 3 เรื่องนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล อันดับ 4 เรื่องปัญหาการส่งออก อันดับ 5 คือ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ผู้บริหาร 22% มีความกังวลใจมาก โดยเพิ่มขึ้นจากอันดับ 6 ในสำรวจครั้งที่ผ่านมา รองมาเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเพิ่มขึ้นจากอันดับ 7 ในการสำรวจที่ผ่านมา ขณะความขัดแย้งทางสังคมยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 3 เช่นเดียวกับที่ผ่านมา ส่วนเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองลดความสำคัญลงจากอันดับ 1 เป็นอันดับ 4 โดยการสำรวจพบว่า บริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมดต่างมีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีถึง 41% ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และส่วนที่เหลือ 59% อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่นเดียวกับการพัฒนามักษะพนักงานทุกบริษัทที่สำรวจมีนโยบายดังกล่าว และดำเนินการไปแล้ว 40% ที่เหลือ 60% อยู่ระหว่างดำเนินการ

นางเพ็ญศรี กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ 73% คาดว่า จะมีผลบวก และอีก 17% มองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ขณะที่ 10% กังวลว่าจะมีผลกระทบด้านลบจากผลสำรวจข้างต้น ทำให้มีบริษัทเพียง 11% ที่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่ผู้ตอบ 41% มีการจัดทำแผนงานรองรับแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการ

สำหรับการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของ บจ.ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ผู้บริหาร บจ.ส่วนใหญ่ 83% ตอบว่า มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น มีเพียง 5% ที่ลดการลงทุนในปี 2556 เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเงินที่จะนำมาลงทุนนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ 74% ตอบว่า จะมาจากกำไรสะสม รองลงมา ขอสินเชื่อจากธนาคารในประเทศ เพิ่มทุน หรือระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม การออกหุ้นกู้ภายในประเทศ การเพิ่มทุนโดยการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหม่

ทั้งนี้ ผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่าค่าเงินบาทในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ 31 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐนั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่ 44% มองว่าจะมีความผันผวน ส่วนอีก 31% มองว่าจะมีการแข็งค่าขึ้น 1 บาท อีก 16% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ 5% มองว่าจะมีการอ่อนค่าลง 1 บาท และ อีก 4% มองว่าจะแข็งค่าขึ้น 2 บาท ขณะที่มองว่าความผันผวนค่าเงินบาทในปี 2556กับ ปี 2555 ผู้บริหารส่วนใหญ่ 56% นั้นมองว่า จะมีความผันผวนพอๆ กัน และ อีก 33% ตอบว่าจะมีความผันผวนมากกว่าปี 2555

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การแข็งค่าเงินบาทปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนซึ่งถือว่ามีการแข็งค่าใกล้เคียงกับภูมิภาค แต่จากการที่บจ.ไทยมีการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าการลงทุนของต่างประเทศมาไทย (FDI) แล้ว โดย 8 เดือนนี้ บจ.ไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ 8 เดือนปีนี้ เงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนไทยจำนวน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งปีก่อนอยู่ที่ 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่มากกว่า 80% นำไปลงทุนในประเทศแถบอาเซียน

ทั้งนี้ สาเหตุที่บริษัทจดทะเบียนมีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้น จากมองว่าประเทศในอาเซียนมีเศรษฐกิจเติบโตที่สูง และมีการลงทุนอีกจำนวนมาก ดังนั้น จะช่วยทำให้ลดภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการบริหารจัดการค่าเงินบาทไทย โดยส่วนตัวเชื่อว่าแนวโน้มปีหน้า บจ.จะมีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น