xs
xsm
sm
md
lg

อะไรคือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จัดการกับอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยกล่าวสุนทรพจน์ที่ประเทศอังกฤษ ในหัวข้อ “ 2013 : The Year of Opportunity in Thailand” มีตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลจะดำเนินการกับอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย เพราะความมั่นคงทางการเมืองเป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมการปรองดองบนพื้นฐานนิติรัฐ และการเจรจาระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ข้อขัดแย้งทางการเมืองจะต้องแก้ปัญหาในรัฐสภา ไม่ใช่การประท้วงบนถนนและมีความรุนแรง”

ข้อความที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว มี 3 ประโยคซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะสะท้อนกรอบวิธีคิดและการวิเคราะห์ของกลุ่มที่ทรงอำนาจในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เริ่มจากประโยคแรก

“รัฐบาลจะดำเนินการกับอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย เพราะความมั่นคงทางการเมืองเป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เชื่อว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีอำนาจบางประการที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ ผลที่ตามมาคือทำให้ขาดฐานที่แข็งแกร่งของการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ


กล่าวอีกนัยหนึ่ง การลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สิ่งใดที่ขัดขวางการลงทุนและการเติบโตเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเข้าไปดำเนินการขจัดออกไป

กลุ่มที่มีศักยภาพในการลงทุนคงไม่ใช่สามัญชนคนไทยทั่วๆไปเป็นแน่ แต่เป็นกลุ่มตระกูลหรือบริษัทที่มีทุนหรือสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ทั้งเป็นทุนต่างชาติ เช่น บริษัทน้ำมันเชฟรอน และทุนใน ประเทศไทยซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่ม แน่นอนว่า “ตระกูลชินวัตร” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนใหญ่นั้นด้วย ดังนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประโยคนี้ก็คือ “ความมั่นคงทางการเมืองจะเป็นฐานอันแข็งแกร่งของการลงทุนของตระกูลชินวัตรและเครือข่าย” นั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในประโยคนี้ ก็คือวลีที่ว่า “อำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตย” ซึ่งรัฐบาลมองว่า มีอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยดำรงอยู่ในประเทศไทย คำถามคือว่า “อำนาจ” ที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไร บุคคลใดหรือกลุ่มใดที่ใช้อำนาจนั้น

ผมคิดว่าอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยภายใต้กรอบวิธีคิดและโลกทัศน์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงเป็นอำนาจที่ทำให้รัฐบาลเกิดสั่นคลอน ไร้เสถียรภาพ และล่มสลาย ลักษณะอำนาจที่ว่านี้ ประการแรกรัฐบาลน่าจะหมายถึง คือ “การรัฐประหาร” ถัดมาคงหมายถึง “การวิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล” และยังหมายถึง “การชุมนุมทางการเมือง” ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล อีกด้วย

กรณีรัฐประหาร บุคคลหรือกลุ่มที่รัฐบาลระบุว่าเป็นอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตย หมายถึงกลุ่มของพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ใช่หรือไม่ เพราะพลเอก สนธิ เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และต้นเหตุที่ทำให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นเจ้าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาต้องโทษจำคุก และไม่มีแผ่นดินอยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาบทบาทของพลเอกสนธิ ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่ารัฐบาลคงไม่ได้หมายถึงพลเอกสนธิ เป็นแน่ เพราะบุคคลผู้นี้ได้กลายเป็นผู้ทำงานรับใช้รัฐบาลและ นช. ทักษิณ ไปแล้ว

เช่นนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะหมายถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในปัจจุบัน เพราะในการทำรัฐประหารให้ผู้ที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารและประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ. ทบ. แต่เมื่อพิจารณาบทบาทและการแสดงออกของ พลเอกประยุทธ ซึ่งปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่คิดทำรัฐประหาร บวกกับการที่เขาติดตามใกล้ชิดสนิทสนมกับนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตย รัฐบาลคงไม่ได้หมายถึงพลเอกประยุทธ เป็นแน่

เมื่อไม่ใช่ ผบ. ทบ. แล้วตกลงเป็นใครกันแน่ที่รัฐบาลคิดว่าเป็นผู้มีอำนาจในการต่อต้านประชาธิปไตย ครั้นจะบอกว่าเป็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีก็คงไม่ใช่ เพราะท่านไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆอันจะสั่งการกองทัพและทหารได้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ยังเป็นปริศนาอยู่ก็คือ ใครหรือกลุ่มใดกันแน่ที่อยู่ในใจของรัฐบาล บุคคลปริศนานั้นจะเป็นใครก็ตามแต่รัฐบาลคงเชื่อว่า บุคคลผู้นั้นคงมีอำนาจบารมีมากมหาศาลแม้ว่าไม่ได้ดำรงตำแหน่งทหาร ก็สามารถสั่งการทหารให้ออกมารัฐประหารได้

แต่สำหรับบุคคลที่ไม่เป็นปริศนาและมีอำนาจหน้าที่เป็นทางการ มีศักยภาพและมีบารมีมากพอประมาณต่อทหาร ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ เท่าที่เห็นในระยะปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์หญิงงามในการจัดการคนเหล่านั้น โดยตัวแทนรัฐบาลอาศัยรูปลักษณ์ที่ดูเสมือนว่าสวยงามเป็นธงนำเพื่อไปกำหัวใจบุคคลนั้น ให้เกิดความใกล้ชิดกับรัฐบาล เราจึงเห็นขุนทหารใหญ่เดินตามนายกรัฐมนตรีอยู่หลายครั้งหลายครา และการใช้มารยาที่ดูเหมือนจะอ่อนหวาน อ่อนน้อม ทำทีเป็นก้มหัว ค้อมตัว ประจบเอาใจแก่บางคนที่รัฐบาลคิดว่ามีบารมี เพื่อให้เกิดความรู้สึกเอ็นดูขึ้นมา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลใช้คู่ขนานไปด้วย คือ การสร้างความเข้มแข็งแก่กองกำลังมวลชนแดง โดยอาศัยงบประมาณแผ่นดิน สนับสนุนโครงการอบรม การจัดตั้งโรงเรียนการเมืองเพื่อาล้างสมองเพาะเมล็ดพันธุ์ความเชื่อที่งมงายในกลุ่มมวลชนแดงในหลากหลายพื้นที่ รัฐบาลเตรียมมวลชนเหล่านี้ไว้เพื่อจะใช้คนพวกนี้ต่อสู้และพลีชีพ หรือใช้คนพวกนี้ให้ไปตายแทนตัวเองอีกครั้งหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น

นอกจากการรัฐประหารแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลโดยนักวิชาการ สื่อมวลชนและประชาชน ก็ถูกรัฐบาลมองว่าเป็นอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยเหมือนกัน รัฐบาลจึงออกมาตอบโต้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการใช้สื่อของรัฐโจมตี การใช้อำนาจรัฐ โดยให้หน่วยงานราชการคุกคามทางกฎหมาย และการใช้มวลชนเสื้อแดงออกไปข่มขู่คุกคาม

ดังนั้นการนำความจริงเกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐบาลออกมาเปิดเผยแก่สาธารณะชน แม้จะทำให้รู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทำให้รัฐบาลเกิดความหวาดวิตกมากนัก เพราะรัฐบาลคิดว่าตนเองมีเครื่องมือที่จะทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์หวาดกลัวจนต้องหยุดวิจารณ์ไปเอง

อีกทั้งการมีสื่อสารมวลชนอยู่ในมือจำนวนมหาศาลทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อทางอินเตอร์เน็ต และหนังสือพิมพ์ ก็ทำให้รัฐบาลสามารถบิดเบือนข้อมูล สร้างเรื่องเล่า ปั้นความเท็จ เกี่ยวกับความสำเร็จในการทำงานของรัฐบาลอย่างไรก็ได้

มวลชนเสื้อแดงผู้ซึ่งชมชอบรัฐบาลเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็พร้อมที่เชื่ออย่างงมงายและลุ่มหลงกับมายาภาพในสิ่งที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อและสร้างขึ้นมา เมื่อมวลชนเสื้อแดงยังนิยมและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรรัฐบาลก็ไม่วิตกมากนัก

แต่ในขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็นอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งสร้างความหวาดวิตกแก่รัฐบาลเป็นอย่างมาก คือ การชุมนุมทางการเมืองขององค์การพิทักษ์สยาม รัฐบาลจึงพยายามอย่างสิ้นหวังในการจัดการเพื่อบั่นทอนและหยุดยั้งไม่ให้เกิดการชุมนุมขึ้นมา ทั้งการใช้อำนาจรัฐคุกคามแกนนำโดยตั้งข้อหาเป็นกบฏ การใช้มวลชนเสื้อแดงออกมาคุกคาม การใช้บุคคลในรัฐบาลออกมาข่มขู่ว่าจะมีมือที่สามโยนระเบิดใส่ในที่ชุมนุมบ้าง จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ้าง การใช้สมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาโจมตีและใส่ร้ายป้ายสีองค์การพิทักษ์สยามเป็นรายวันบ้าง การใช้ ผบ.ตร.ออกมาสร้างข่าวเรื่องกลุ่มทุนให้เงิน 6,000 ล้านบาทเพื่อล้มรัฐบาลบ้าง รวมทั้งการใช้ ผบ. ทบ. ออกมาปรามและข่มขู่การลงโทษทางวินัยแก่ทหารที่จะเข้าร่วมการชุมนุม

และสำหรับสิ่งที่เป็นนวัตกรรมของรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามก็คือ “การสร้างสิทธิบัตรความรุนแรง” ขึ้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวประโยคหนึ่งซ้ำซากบ่อยครั้งมากคือ “ข้อขัดแย้งทางการเมืองจะต้องแก้ปัญหาในรัฐสภา ไม่ใช่การประท้วงบนถนนและมีความรุนแรง”

ประโยคนี้แสดงให้เห็นถึง การที่รัฐบาลจดสิทธิบัตรของการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนและการใช้ความรุนแรงไว้สำหรับตนเองและเหล่าสาก เพราะการชุมนุมบนท้องถนนและใช้ความรุนแรงนั้นเป็นวิธีการเฉพาะตัวของสาวกลัทธิแดงอันเป็นมวลชนที่รัฐบาลสร้างขึ้นมา ส่วนประชาชนกลุ่มอื่นๆที่เคยชุมนุมทางการเมืองไม่ปรากฏว่าใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด


สิทธิบัตรความรุนแรง หมายถึง กระบวนการหรือวิธีการประท้วงโดยการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น การก่อการร้าย การเผาทำลายล้าง และการเข่นฆ่าสังหาร เช่น การที่เสื้อแดงจัดขี่จักรยานยนต์และจัดขบวนแห่รอบกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวกรุงเทพมหานคร การเผาและระเบิดทำลายทรัพย์สินของรัฐและประชาชนซึ่งเกิดจากการลงมือของเสื้อแดง และการใช้โจรก่อการร้ายเสื้อดำใช้อาวุธสงครามยิงทำร้ายและเข่นฆ่าทหารและประชาชนในการชุมนุมของเสื้อแดงปี 2553 รวมทั้งการข่มขู่ว่าจะระเบิดรถบรรทุกก๊าซในใจกลางกรุงเทพมหานครโดยสาวกเสื้อแดงในการชุมนุมเสื้อแดง ปี 2552 วิธีการเหล่านี้นอกจากพวกเสื้อแดงแล้ว ประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ชุมนุมทางการเมืองไม่เคยใช้มาก่อน

ดังนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์จึงต้องย้ำนัก ย้ำหนา เพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนกลุ่มอื่นลอกเลียนแบบและใช้ความรุนแรง อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลและสาวกเสื้อแดงได้จดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว

การจัดการกับอำนาจที่ต่อต้านประชาธิปไตยของรัฐบาล จึงมียุทธศาสตร์ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าอำนาจนั้นมีลักษณะอย่างไร และกลุ่มหรือบุคคลใดที่กำลังจะใช้อำนาจนั้น เช่น การใช้ยุทธศาสตร์นางงาม การใช้ยุทธศาสตร์แห่งความหวาดกลัว การใช้ยุทธศาสตร์แห่งความเท็จ และล่าสุด รัฐบาลได้สร้างยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรแห่งความรุนแรงขึ้นมา โดยหวังจะสงวนไว้ให้มวลชนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนรัฐบาลเป็นผู้ใช้แต่เพียงกลุ่มเดียว ส่วนกลุ่มอื่นห้ามใช้วิธีการนี้อย่างเด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น