ศูนย์ข่าวศรีราชา-กระทรวงคมนาคมจัดเวิร์กชอปสร้างความเข้าใจสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งปี 56-63 ฟุ้งผลักดันพัฒนาต่อเนื่อง 72 โครงการ วงเงิน กว่า 1.9 ล้านล้านบาท ระบุลงทุนโครงการพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยารวม 35,743 ล้านบาท เชื่อมโครงข่ายท่าเรือน้ำลึกทวายของประเทศพม่ากับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย แสดงความพร้อมรับเปิดประชาคมอาเซียน
วันนี้ (15 ต.ค.) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี นายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมในการสัมมนา-เสวนาโครงการ “ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชน ต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563” เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจ และสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อแผนการลงทุน
นายสุรเชษฐ์ เผยว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายบต่อรัฐสภาในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่ได้จัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นกรอบในการเตรียมความพร้อมการดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์วางรากฐานสร้างอนาคตประเทศไทยในระยะยาว รับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยมีแผนครอบคลุมการขนส่งทั้งหมด เพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจอีก 10-15 ปีข้างหน้า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นสร้างการตระหนักรู้สู่สาธารณชน
สำหรับกรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ปีงบประมาณ พ.ศ.2556-2563 ได้บรรจุโครงการที่จะมีผลผลักดันการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย สาขาขนส่งทางถนนรวม 31 โครงการ วงเงินรวมกว่า 6.4 แสนล้านบาท (ร้อยละ 33.91 ของเงินลงทุนรวม) สาขาขนส่งทางรางรวม 33 โครงการ วงเงินกว่า 1.1 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 60.84 ของเงินลงทุนรวม) สาขาขนส่งทางน้ำรวม 5 โครงการ วงเงินกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 3.32 ของเงินลงทุนรวม) และสาขาขนส่งทางอากาศรวม 3 โครงการ วงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 1.93 ของเงินลงทุนรวม)
ทั้งนี้ รายละเอียดโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 35,743 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการต่อเชื่อมจากทางพิเศษบูรพาวิถี ด่านชลบุรี ก่อสร้างเป็นทางพิเศษยกระดับ 6 ช่องจราจร มุ่งไปทางทิศใต้แนวเกาะกลางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 และเบี่ยงสู่แนวเกาะกลางทางเลี่ยงเมืองชลบุรี (ทางหลวงหมายเลข 3)
จากนั้นเบี่ยงมาทางทิศใต้ ผ่านอำเภอศรีราชา นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จากนั้นแนวเส้นมุ่งไปทางทิศใต้ผ่านอำเภอบางละมุง จุดสิ้นสุดบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 บริเวณพัทยาใต้ รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นเส้นทางโครงค่ายคมนาคมเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายของประเทศพม่า และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสม
นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่หวังจะสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ขอให้สาธารณชนมองเป็นภาพรวมว่า ประเทศได้ผลประโยชน์ และไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นในท้องถิ่น ถือเป็นการลงทุนเพื่อลดต้นทุน เพราะเมื่อระบบลอจิสติกส์ หรือระบบคมนาคมขนส่งมีศักยภาพแล้วก็จะลดความสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิง เป็นการลดต้นทุนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ในส่วนของตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเผยความคืบหน้าถึงรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง (โครงการ Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย) ซึ่งขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 216 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรี และพัทยาระยะทาง 51 กิโลเมตร และเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด 38 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในการพิจารณาดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม คงประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ถึงจะได้คณะทำงานด้วยเช่นกัน