xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต. ร่วมหารือคมนาคมเร่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. ร่วมหารือคมนาคม เร่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาค ด้วยการออกหลักเกณฑ์การจัดตั้ง และจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และยังเป็นการพัฒนาสินค้าทางการเงินเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนด้วย

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อผลักดันให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้ทันสมัย รองรับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาค โดย ก.ล.ต. สนับสนุนให้มีการเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญเร่งด่วน เพื่อเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่น การสร้างมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงชายฝั่งทะเลตะวันตก โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ผ่านกาญจนบุรี ไปยังนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เป็นต้น และโดยที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของอาเซียน รวมทั้งจีน และอินเดียต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์การจัดตั้ง และจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และยังเป็นการพัฒนาสินค้าทางการเงินเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนด้วย การร่วมหารือในวันนี้ ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้ง และจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถรองรับทั้งการลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนโดยกองทุนเข้าไปถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในบริษัทที่มีการลงทุน หรือมีรายได้หลักจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งทางราง ทางพิเศษ ไฟฟ้า น้ำประปา สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือกระบบบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งระบบป้องกันภัยธรรมชาติ และมีมูลค่าการลงทุนในแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และกรณีที่เป็นกิจการประเภทไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และยังสามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (greenfield project) ได้ โดยกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นกองทุนปิด ซึ่งมีเงินทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท และนโยบายการกระจายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนทั่วไปชัดเจน และนำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหารือร่วมกับ ก.ล.ต. เป็นประโยชน์มาก หลายประเด็นมีความกระจ่างมากขึ้น การที่ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อว่าจะทำให้ตลาดทุนไทยมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ไม่น้อย ทั้งยังช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐบาล และหนี้สาธารณะของประเทศได้ในอีกทางหนึ่ง จากนี้ไปจะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องในระดับปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

นายวรพล กล่าวต่อว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงคมนาคมเห็นความสำคัญของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของตลาดทุนที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยยังมีความจำเป็นมาก ไม่เพียงแต่เพื่อการพัฒนาในประเทศเท่านั้น แต่มีส่วนสำคัญในการช่วยรองรับการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเข้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคด้วย สามารถทำให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลาง logistic ของภูมิภาคได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น