xs
xsm
sm
md
lg

“จารุพงศ์” เดินสายโรดโชว์โปรเจกต์ 1.9 ล้านล้าน คาดกองทุนอินฟราฯ ระดมทุนเริ่มสร้างปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คมนาคม” ลงใต้โปรโมตการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท “จารุพงศ์” ดันระดมทุนตั้งกองทุนฯ ลงทุน เผยปี 56 ชัดนำร่องโครงการไหน สั่ง กทพ.ดูแลเยียวผู้ได้รับผลกระทบเวนคืนอุโมงค์กระทู้-ป่าตอง ด้านนักวิชาการและคนภูเก็ตหวั่นทุ่มงบพัฒนาถนน-รถไฟมากขึ้นคนมาจนล้นเกาะทรัพยากรหมดไม่พอใช้ แนะวางแผนบริหารจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม กระทรวงคมนาคมได้จัดสัมมนาโครงการ “ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556-2563 ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรอบแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งรวมทั้งประเทศ 72 โครงการ วงเงินรวม 1.914 ล้านล้านบาท โดยการขนส่งทางรางสูงสุด 33 โครงการ วงเงิน 1.164 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.84% ขนส่งทางถนน 31 โครงการ วงเงินรวม 6.48 แสนล้านบาท คิดเป็น 33.91% ขนส่งทางน้ำ 5 โครงการ วงเงิน 63.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.32% และขนส่งทางอากาศ 3 โครงการ วงเงิน 36.92 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.93%

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้หารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการระดมทุนกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 1.9-2.2 ล้านบาทมาลงทุน โดยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหาแนวทางที่จะสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษี เป็นต้น เพื่อทำให้การดำเนินโครงการรวดเร็วขึ้นกว่าการพึ่งพางบประมาณมาลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งงบประมาณมีจำกัดเพราะได้รับจัดสรรเฉลี่ยปีละ 21% เท่านั้น จากที่มาตรฐานควรได้ไม่ต่ำกว่า 25% ต่อปี คาดว่ากองทุนจะได้ข้อสรุปในปี2556 โดยคลังจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเริ่มใช้ในโครงการไหน ซึ่งตามหลักจะลงทุนโครงการที่คุ้มทุนสูงสุดและคืนทุนได้เร็วก่อน

นายจารุพงศ์กล่าวว่า การสัมมนาในพื้นที่ทำให้ทราบว่าประชาชนกว่า 70% ยังไม่ทราบว่ามีแผนลงทุนโครงการต่างๆ แต่เมื่อทราบแล้วส่วนใหญ่จะเห็นด้วย โดยโครงการที่มีประชาชนคัดค้านเช่นโครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำความเข้าใจและดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเต็มที่ และต้องวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อหาทางออก รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล หากทำประชาพิจารณ์แล้วประชาชนไม่เห็นด้วยก็อาจต้องหยุดแต่ถ้าเห็นด้วยก็เดินหน้า โดยต้องพิจารณาโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยเพื่อการเชื่อมต่อของระบบคมนาคมขนส่ง

สำหรับโครงการสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ประกอบด้วย โครวการของกรมเจ้าท่า คือ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล วงเงิน 27,349 ล้านบาท โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 วงเงิน 6,167.647 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบกพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าสงขลา วงเงิน 968.655 ล้านบาท นราธิวาส วงเงิน 521.46 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี วงเงิน 988.29 ล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (Landbridge) วงเงิน 42,782 ล้านบาท โครงการศึกษาและออกแบบทางรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กม.วงเงิน 82,166 ล้านบาท โครงการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางสุราษฎร์ธาสี-พังงา-ภูเก็ต วงเงิน 118.7 ล้านบาท เป็นต้น

นายชายชาติ ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า หลักการพัฒนาถนนของ ทช. มี 3 ด้าน คือ 1. พัฒนาถนนโครงข่ายเชื่อมต่อการค้าการลงทุนและการขนส่งเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ โดยเน้นเชื่อมต่อจากทางหลวงแผ่นดินเข้าสู่สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ แหล่งอุตสาหกรรม และหมู่บ้าน เช่นก่อสร้างอุโมงค์ลอดจุดตัดทางรถไฟ จ.ภูเก็ต, ถนนเชื่อมป่าตองและหาดกะรนเป็น 4 ช่องจราจร (คืบหน้า 10%) คาดแล้วเสร็จปลายปี 56, ก่อสร้างทางยกระดับ (สะพานบก) เชื่อม 2 เทศบาล (เทศบาลอุทิศ กับเทศบาลนครภูเก็ต) ซึ่ง ครม.เห็นชอบแล้วอยู่ระหว่างเสนอขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ช่วงผ่านป่าชายเลน โดยเตรียมเปิดประมูลเดือน พ.ย. 55 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี

2. ถนนเชื่อมต่อด้านท่องเที่ยวทั่วประเทศ วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 6.8 พันล้านบาทคือโครงการถนนรอยัลโค้ด และถนนเลียบชายฝั่งทะเล 3. ถนนเชื่อมต่อด้านการเกษตรทั่วประเทศ วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท 

ด้านกรมทางหลวงมีแผนแม่บทปี 56-63 เน้นแก้ปัญหาจราจรเพื่อสนับสนุนด้านท่องเที่ยวและลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการคมนาคมจากแหล่งท่องเที่ยวกับสนามบินภูเก็ตที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน/ปี เช่น ขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรจากสนามบินภูเก็ต-ทางหลวงหมายเลข 402 วงเงิน 130 ล้านบาท (คืบหน้า 50%) คาดเสร็จปี 56, ทางแยกต่างระดับจุดตัดถนนเทพกษัตรีทางเข้าสนามบิน วงเงิน 50 ล้านบาท, อุโมงค์/สะพานบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร วงเงิน 600 ล้านบาท, อุโมงค์ลอดใต้ทางหลวงสันป่าตอง วงเงิน 810 ล้านบาท เป็นต้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 59 ซึ่งจะทำให้การจราจรสะดวกมากขึ้นสามารถเดินทางเข้าแหล่งท่องเที่ยวปลอดภัยไม่เกิน 45 นาที 

ด้านนักวิชาการในพื้นที่และประชาชนบางส่วนแสดงความเป็นห่วงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาลว่าอาจจะกระทบต่อจังหวัด และควรจะต้องมีแผนรองรับระยะยาวในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดขยะ น้ำเสีย และดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะภูเก็ตมีทร้พยากรจำกัด ทรัพยากรน้ำจะมีใช้ถึงปี 58 เท่านั้น  ส่วนอนาคตอันใกล้นอกจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากกว่า 15 ล้านคนต่อปีแล้ว ประชาชนในพื้นที่จะมีกว่า 2 ล้านคน ซึ่งการเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระดับโลกเป็นภาพที่แท้จริงของภูเก็ตหรือเป็นเพียงภาพทางการตลาดที่ไม่มีแผนรองรับ

ด้านอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า อุโมงค์กะทู้-ป่าตองจะช่วยแก้จราจรโดยตรงมีระยะทาง 3 กม. วงเงิน 6,082 ล้านบาา โดยเป็นอุโมงค์ 1.6 กม.  ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อ ม.ค. 54 ขณะนี้ กทพ.ประสานท้องถิ่นเทศบาลป่าตอง กระทู้ คาด พ.ย. 55 จะว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด ระยะเวลา 5 เดือน คาดเปิดใช้ปี 60 ส่วนบานเรือนประชาชนที่จะถูกเวนคืนเบื้องต้นประมาณ 20 หลังคาเรือน โดยจะชดเชยตามกติกาและ พ.ร.ฎ.เวนคืน ยืนยันว่าเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาจราจร
กำลังโหลดความคิดเห็น