"คมนาคม" เผยญี่ปุ่นสนใจลงทุน "รถไฟความเร็วสูง" หลังนายกฯ เดินทางไปเยี่ยมชม แนะเร่งจัดทำรายละเอียดโครงการ พร้อมเห็นด้วยที่จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ แย้มต้องการก่อสร้างเส้นทางในระยะสั้น "ชัชชาติ" ยอมรับ หลายประเทศรุมจีบ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตัวแทนกระทรวงคมนาคมจากประเทศไทย และผู้ประกอบการด้านรถไฟความเร็วสูง ของประเทศญี่ปุ่น เดินทางเข้าพบ โดยยอมรับว่า กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจเข้าร่วมดำเนินการโครงการดังกล่าว จึงขอทราบรายละเอียดและติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย หลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมรถไฟความเร็วสูงที่ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ทางตัวแทนญี่ปุ่นยังเห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่เปิดกว้างแนวทางการลงทุนประมูลแบบนานาชาติ โดยไม่เจาะจงเฉพาะประเทศจีน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่สนใจได้เข้าร่วมแข่งขันอย่างเต็มที่
“ญี่ปุ่นและจีนต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เมื่อเรามีความชัดเจนในการเปิดลงทุนแบบนานาชาติ จะทำให้ทุกชาติเกิดความสนใจ เช่นเยอรมนีก็สนใจ แต่คงจะไม่ได้มาลงทุนในด้านการก่อสร้าง แต่จะสนใจเรื่องการขายสินค้า คือราง ส่วนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้เสนอว่าต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในเส้นไหนเป็นพิเศษ แต่เห็นด้วยกับแนวทางการก่อสร้างในระยะสั้น และไทยมีแผนที่จะสร้างใน 4 เส้นทาง”
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันนั้น ทางไทยยังได้ขอคำปรึกษากับญี่ปุ่น 3 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ด้านเทคนิค คือ รถจะต้องวิ่งด้วยความเร็วเท่าไร รวมถึงการขนสินค้า สามารถวิ่งรวมกับการขนคนได้หรือไม่ 2.ด้านโครงสร้างรถไฟ 3.เรื่องการเงิน ซึ่งนโยบายของเรามีความชัดเจนว่าจะใช้เงินในประเทศ จะไม่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ แต่เราจะขอรูปแบบการบริหารจากญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นยืนยันว่าพร้อมที่จะให้คำปรึกษาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ป ระเทศไทยได้มีการหารือกับทางรัฐบาลจีน ซึ่งสนใจจะเข้าร่วมลงทุน และจีนเองก็ได้เดินทางเข้ามาสำรวจเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยฝ่ายจีนสนใจที่จะให้ความร่วมมือดำเนินการใน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นทางจีน เห็นว่าควรเน้นการขนส่งผู้โดยสาร โดยจะทำการศึกษาด้วยความเร็วที่ 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และฝ่ายจีนเสนอให้สร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร เป็นทางยกระดับร้อยละ 87 ของเส้นทางทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม ส่วนเส้นกรุงเทพฯ-หนองคาย จะเน้นขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมากกว่าซึ่งจีนต้องการจะใช้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านไทยเชื่อมต่อไปยังลาวและจีน