xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนก่อสร้างไฮสปีดเทรน “จารุพงศ์” เตรียมชง “ปู” เคาะตั้ง บ.รถไฟฯ จก.ดูแลครบวงจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เปิดแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เบื้องต้นกำหนด 4 เส้นทาง เตรียมเสนอนายกฯ เคาะตั้งบริษัท รถไฟความเร็วสูงแห่งชาติ จำกัด เพื่อเข้ามารับผิดชอบดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ จัดหาที่ดิน ประกวดราคา จัดหาระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนกำกับดูแลสัญญาเดินรถ ลั่นต้องเกิดขึ้นแน่ในยุคที่พรรค พท.บริหารประเทศ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม วานนี้ โดยระบุว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้ง บริษัท รถไฟความเร็วสูงแห่งชาติ จำกัด เพื่อรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงในระยะแรก เช่นในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบ จัดหาที่ดิน ประกวดราคา จัดหาระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนกำกับดูแลสัญญาเดินรถอย่างครบวงจร ซึ่งในเร็วๆ นี้เตรียมเสนอให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเตรียมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เบื้องต้นกำหนดไว้จำนวน 4 สายทาง โดยให้ปรับระยะทางการก่อสร้างให้สั้นลงเพื่อให้สามารถผลักดันโครงการที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงไว้ให้มีผลงานเกิดเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น และให้เป็นจริงมากที่สุดภายใน 4-5 ปีนี้ตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ

“ภายหลังจากที่เดินทางเยือนจีนและญี่ปุ่นร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเสนอที่จะเข้ามาพัฒนาและศึกษารายละเอียดโครงการในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงพร้อมกันทั้ง 4 เส้นทาง คาดว่าเริ่มก่อสร้างภายใน 1-2 ปีข้างหน้า”

สำหรับการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าใน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. เส้นทางสายเหนือจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 2. สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 3. สายใต้ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และ 4. สายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2557 และเสร็จภายในปี 2562 โดยเบื้องต้นยังไม่มีการสรุปว่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นจะเริ่มก่อสร้างในเส้นทางใดก่อน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เรื่องการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นไม่ใช่เป็นแค่นโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นอนาคตของประเทศไทย ซึ่งเบื้องต้นมองว่าเส้นทางไปสู่ภาคใต้เป็นเส้นทางที่มีประชาชนเดินทางมากที่สุด แต่ในการก่อสร้างต้องประกอบด้วยข้อมูลหลายอย่างที่จะต้องนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาการก่อสร้าง เช่น จำนวนประชากร กำลังทรัพย์ของประชาชนที่จะใช้ในการเดินทาง เป็นต้น

ส่วนการก่อสร้างในเส้นทางสายเหนือนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าเส้นทางสายอื่น เนื่องจากภูมิประเทศมีภูเขามาก และสำหรับเส้นทางสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นทางเหมาะต่อการก่อสร้างเนื่องจากเป็นทางตรงสะดวกต่อการก่อสร้าง ซึ่งจากการที่ดูในภาพรวม เส้นทางสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเป็นไปได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มั่นใจว่าใน 4 ปีจะต้องมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นให้ได้อย่างน้อย 1 เส้นทาง ซึ่งการพัฒนารถไฟความเร็วสูงนั้นจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้อย่างก้าวกระโดด
กำลังโหลดความคิดเห็น