xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมตั้งแท่นหารือจีน ถกร่วมมือรถไฟความเร็วสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”ซักซ้อมเตรียมข้อมูลรถไฟความเร็วสูงก่อนหารือร่วมรมช.พาณิชย์จีน 24 ก.พ.นี้
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมความพร้อมท่าทีความร่วมมือไทย-จีน วานนี้ (21 ก.พ.) ว่า ได้เชิญผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กฤษฎีกา กระทรวงต่างประเทศ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มาหารือเพื่อเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน โดยนายเฉิน เจี้ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะจะเข้าหารือกับ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 24 ก.พ. นี้
ทั้งนี้ คาดว่าทางจีนจะมีการติดตามความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูง หลังจากที่ไทยและจีนได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนไทย- จีน 4 ด้าน โดย1 ใน 4 เป็นเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และระบบรางอื่นๆ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีการหารือเพื่อให้ความชัดเจนและเร่งรัดในเรื่องที่ล่าช้าด้วย
ความร่วมมือเรื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีการกำหนดกรอบไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเจรจากันอย่างจริงจัง และอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ โดยผู้แทนกระทรวงต่างประเทศให้ความเห็นว่า ควรยึดกรอบใหญ่ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาไว้ และต้องมองที่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
“นโยบายต้องการให้เริ่มโครงการภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งนายเฉิน เจี้ยน รมช.พาณิชย์เป็นผู้ลงนามในเอ็มโอยู ไทย-จีน 4ด้าน ซึงนอกจากมาพบกับรมต.คมนาคมแล้ว จะหารือกับนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ของไทยด้วย ซึ่งหากจีนต้องการผลักดันรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็คาดว่า น่าจะมีการเดินหน้าในส่วนของความร่วมมือ คือการตั้งคณะทำงานร่วม 2
ฝ่ายเพื่อพิจารณาในรายละเอียดของโครงการ เช่น เส้นทาง ,รูปแบบการลงทุน ต่อไป”นายจำรูญกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการระบบรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัด 3 เส้นทางประกอบด้วย 1. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กิโลเมตร 2. กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร และ 3. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง  382 กิโลเมตร  ขณะที่รถไฟความเร็วสูงที่กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ศึกษาไว้มีจำนวน 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 3,133 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม
983,472 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร เงินลงทุน 229,809 ล้านบาท 2. เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร เงินลงทุน 201,449 ล้านบาท 3.เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ระยะทาง 570 กิโลเมตร เงินลงทุน 182,069 ล้านบาท 4.เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร เงินลงทุน 72,265 ล้านบาท และ 5. เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กิโลเมตร เงินลงทุน 297,880 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น